พล.อ.ประยุทธ์ รับลูก 3 สถาบันภาคเอกชน ไฟเขียวให้แบงค์ชาติ-คลัง ปลดล็อก SMEs ปล่อยสินเชื่อลูกหนี้ติดเครดิตบูโรได้
วันที่ 23 มิถุนายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมหารือนโยบายช่วยเหลือ SMEs โดยได้เชิญสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยและสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ร่วมหารือถึงนโยบายและมาตรการช่วยเหลือ SMEs ลดภาระต้นทุน เพิ่มสภาพคล่อง และเสริมรายได้เพิ่ม เพื่อให้ SMEs สามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตินี้โควิด-19 และไปต่อได้
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ผ่านมาท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
-ในด้านการเพิ่มรายได้และลดต้นทุน เช่น ด้วยการเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐและกระตุ้นการการบริโภคภายในประเทศผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการเราชนะ คนละครึ่ง ม33 เรารักกัน รวมทั้งเพิ่มวงเงินให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
-การจัดให้มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ผ่าน พ.ร.ก. Soft Loan โครงการค้ำประกันเงินกู้และสินเชื่อสำหรับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว
-รวมทั้งการออกมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้
-การลด/เร่งคืนภาษี ให้กับผู้ประกอบการส่งออก และขยายระยะเวลาการยื่นภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
-นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการให้บริการ Digital Factoring และกระบวนการสนับสนุน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย
-การออกกฎกระทรวงการคลังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างจาก SMEs -การออกประกาศคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กำหนดแนวปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรม เกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้ำ (Credit Term) กรณี SMEs เป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการ
นายกรัฐมนตรียังได้ขอให้สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหารือร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเพื่อเพิ่มบทบาทในการสนับสนุน SME ที่สอดรับกับความต้องการของ SME โดยแท้จริงอีกด้วย รวมทั้งสั่งการให้เร่งประชาสัมพันธ์และขยายผลมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ในด้านการเพิ่มศักยภาพ และสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยจะให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแนวทางที่ได้มีการหารือทันที เพราะ SMEs จำนวนมากกำลังประสบปัญหาอยู่ในทุกวันนี้
นายอนุชากล่าวว่า หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ตอบรับแนวทางนโยบายการเปิดประเทศ 120 วัน พร้อมสนับสนุนการฉีดวัคซีนตามแผนเปิดประเทศ และจะใช้ “ภูเก็ตโมเดล” เป็นต้นแบบ ในการจัดทำมาตรการให้สามารถเปิดพื้นที่เศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดที่มีศักยภาพพร้อมเตรียมธุรกิจที่อยูในซัพพลายเชนของการท่องเที่ยว รองรับการเปิดประเทศด้านการท่องเที่ยว อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าของขวัญของที่ระลึก สินค้าในซัพพลายเชนของโรงแรม
ขณะเดียวกัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ให้ความมั่นใจว่าจะดูแลและป้องกันสุขภาวะในสถานประกอบการ เพื่อป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบการและแรงงานด้วย
โอกาสนี้ หอการค้าไทยได้นำเสนอมาตรการระยะสั้นและวางรากฐานช่วย SMEs ไทย ได้แก่
-การปล่อยสินเชื่อให้ SMEs ผ่านผู้ประกอบการค้าปลีก
–ปลดล็อคลูกหนี้ที่ติดเครดิตบูโร/NPL เข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้รัฐผ่อนคลายกฎระเบียบให้สถาบันทางการเงินมีอิสระในการใช้ดุลยพินิจมากขึ้น
ด้านสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเสนอมาตรการเร่งด่วน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า ได้เสนอให้รัฐบาลดูแลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของเอสเอ็มอีที่เพิ่มขึ้นมากหลังจากที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 โดยเสนอให้มีการตั้งกองทุนฟื้นฟูเอ็นพีแอลเพื่อการพัฒนาเอสเอ็มอีขึ้นมา ซึ่งรัฐบาลได้ตอบรับที่จะให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ ปัจจุบันสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีไปแล้ว 3.5 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เอ็นพีแอลไปแล้ว 240,000 ล้านบาท ขณะที่หนี้ของผู้ประกอบการที่ใกล้จะเป็นระดับเอ็นพีแอลหรือหนี้เสียอยู่ที่ประมาณ 440,000 ล้านบาท หากไม่มีกลไกที่เข้ามาดูแลหนี้ส่วนนี้ก็จะกลายเป็นเอ็นพีแอลที่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะหากรวมทั้ง 2 ส่วนนี้จะเท่ากับ 680,000 ล้านบาท เท่ากับ 20% ของสินเชื่อเอสเอ็มอี จะกระทบกับสถาบันการเงินด้วย จึงเป็นเรื่องที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยและให้ทุกฝ่ายแก้ปัญหาไปด้วยกัน ข้อเสนอต่อรัฐบาลได้แก่
-ให้เอสเอ็มอีได้เข้าถึงแหล่งทุนและลดการว่างงาน โดยการพักต้น-พักดอก-เติมทุน
-มาตรการสร้างงานสร้างเศรษฐกิจชาติ (Thailand e-Job Platform) เฟรนไซส์ไทย สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจไทย
–เสนอตั้งกองทุนฟื้นฟู NPLs เพื่อการพัฒนา mSMEs ไทย
ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เสนอ 8 แนวทาง 3 ด้านสำคัญ คือ
-ด้านการเงิน เช่นมาตรการสินเชื่อ Supply Chain Factoring หรือโครงการจำนำสต็อกสินค้า ขยายผลมาตรการจาก พรก. Soft Loan เป็นต้น
-ด้านการตลาด สนับสนุนสินค้า SME ที่ขึ้นทะเบียน Thai SME-GP ของสสว. และด้านการลดค่าใช้จ่าย เช่น มาตรการ คนละครึ่ง-ภาคSME โครงการ Co-payment ค่าแรงงาน
นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับฟังความคิดเห็นจาก 3 สถาบัน ซึ่งวันนี้หลักคือ การเสริมสภาพคล่องของเอสเอ็มอี และการแก้ไขหลักเกณฑ์ NPL การขอให้ธนาคารพาณิชย์ลดหลักเกณฑ์ได้หรือไม่ เพราะหากเป็นกลไกเดิมกู้ไม่ผ่าน ถ้าไม่แก้กลไก NPL เพราะสถานการณ์ไม่ปกติ และบริษัทใหญ่เข้าไปช่วยบริษัทเล็กเพิ่มขึ้น โดยจะประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ
นายสุพันธุ์กล่าวว่า “นายกรัฐมนตรีได้วางกรอบ 120 วันเปิดประเทศแล้ว ดังนั้น อย่างน้อยภายใน 120 วันต้องมีมาตรการช่วยเหลือออกมาเพื่อให้มีสภาพคล่องในการทำธุรกิจรับกับการเปิดประเทศ”
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าเสนอให้พิจารณาเรื่องเครดิตบูโร และ NPL ต้องผ่อนกฎเกณฑ์ ไม่ให้เป็นข้อจำกัดของสถาบันการเงินในการปล่อยเงินกู้ให้กับเอสเอ็มอี ซึ่งรัฐบาลสนับสนุน และจะมีการนัดหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ในเรื่องนี้ต่อไป
“ธนาคารพาณิชย์เข้มแข็งมาก ต้องปล่อยให้พิจารณาเอง อยากจะปล่อย แต่ถูกควบคุมโดยแบงก์ชาติ อย่างเครดิตบูโรตั้งแต่ต้มยำกุ้ง เพราะสถานบันการเงินอ่อนแอ แต่ตอนนี้เข้มแข็ง ก็น่าจะสามารถพิจารณาสินเชื่อได้ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องมีข้อจำกัด ซึ่งรัฐบาลเห็นด้วย ทั้งนี้อยู่ที่ดุลพินิจของแบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ต้องแก้กฎหมาย”