ทักษิณหน้าหงาย!! “บุญเกื้อ” สวนกลับ ตั้งโรงจำนำดัดจริต ทำรับไม่ได้ แต่ตั้งกองทุนหมู่บ้านเป็นหนี้ทุกครัวเรือน ยังกล้าเคลมเป็นผลงานชั้นดี!?

2325

หลังจากที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมาตอบโต้ กล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พาดพิงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

โดยระบุว่าหากดูโหงวเฮ้งเป็นจะไม่สนับสนุนให้เป็นผบ.ทบ. ว่า โหงวเฮ้งของพล.อ.ประวิตร ดี เป็นคนใจดี มีแต่ให้ ไม่เห็นมีทุจริต แต่ถ้ามองกลับไปที่นายทักษิณ ครั้งหนึ่งพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เคยเสียใจ และตรอมใจมาถึงตอนนี้ ที่เคยชักชวนนายทักษิณมาเป็นรัฐมนตรีถึงขั้นพูดว่าไม่คิดว่าคนชื่อทักษิณจะมีความโลภได้ถึงขนาดนี้

ล่าสุดก็มีประเด็นให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์รายวัน เพราะทางด้านนายบุญเกื้อ ปุสสเทโว ทีมโฆษกพรรคไทยภักดี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ตั้งโรงรับจำนำ ทำเป็นดัดจริตรับไม่ได้ แต่โทนี่ตั้งกองทุนหมู่บ้านให้ชาวบ้านกู้ เป็นหนี้ทุกครัวเรือน ก็ยังใช้หนี้กันไม่จบสิ้น ดอกท่วมต้น รีดเลือดกับปู กลับถือว่าเป็นผลงาน

ทั้งนี้โพสต์ดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา นายทักษิณ ชินวัตร หรือ โทนี่ วู้ดซัม อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมพูดคุยกับ CARE ClubHouse x CARE Talk ในหัวข้อ “โทนี่ขอถามจริง ๆ เมื่อไหร่จะหายวุ่น ทำไมทำเรื่องง่าย ให้เป็นเรื่องยาก” โดยพูดถึงแนวคิดขยายโรงรับจำนำ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ผมสะอื้นเลย ที่อื่นเขาลดโรงรับจำนำจนจะไม่เหลือแล้ว ดอกเบี้ยก็แพง สองเป็นที่ที่จำนำของคนจน วันนี้ต้องหาทางให้คนจนมีรายได้ เรื่องการจ้างงานเอย ช่องทางทำมาหากิน ต้องรีบทำก่อน ไม่ใช่ขยายโรงรับจำนำ ขยายช่องทางทำมาหากินดีกว่าช่องทางหมดตัว

“การเอาเงินไปแจก เอาไปปิดแผลเก่า ไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะมันไม่มีโอกาสที่จะไปลงทุนอะไรเลย ภาวะของเศรษฐกิจในประเทศไม่เอื้ออำนวย ท่องเที่ยวไม่มา ปิดหมด มีเงินเท่าไหร่ก็คือเจ๊ง วันนี้คนอยู่ได้คือสายป่านยาว หรือ ธุรกิจตรงกับที่อยู่ได้ช่วงโควิด ค้าออนไลน์อะไรแบบนี้อยู่ได้ คนอยู่บ้านซื้อ คนมีกำลังซื้อ มีเงินออม ยังซื้อได้อยู่”

 

นอกจากนี้นายบุญเกื้อ ยังอธิบายต่ออีกว่า “ผมพูดในฐานะอดีตนายกอบต. ที่เคยคิดจะตั้งโรงรับจำนำเพื่อช่วยประชาชนแก้ปัญหาเฉพาะหน้ายามฉุกเฉิน และสามารถนำรายได้มาพัฒนาท้องถิ่นได้อีกด้วย

..และพูดในฐานะปัจจุบันผมเป็นประธานกองทุนหมู่บ้าน ม.9 ต.ท่ามะกา อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี…ผมรู้ปัญหาดีครับ..กองทุนหมู่บ้าน โตเอา ๆ จากเงินทุนแค่ 1 ล้านบาท ปัจจุบันเติบโตขึ้นด้วยดอกเบี้ยจากชาวบ้านคนจน ๆ กลายเป็นจำนวนหลายล้านบาท โดยกองทุนหมู่บ้านไม่มีหน้าที่ต้องนำผลกำไรมาพัฒนาหมู่บ้านแต่อย่างใดทั้งสิ้น”

สำหรับ “กองทุนหมู่บ้าน” ที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลทักษิณ เมื่อย้อนกลับไปดูเม็ดเงินที่กระจายไปทั่วประเทศครั้งแรกปี 2544 รัฐบาลใช้วิธีกู้เงินจากธนาคารออมสินประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าอัดฉีดโดยตรงไปยังหมู่บ้านและชุมชนต่างๆ ทั้งหมด 75,547 กองทุน

ระเบียบการกู้เงินช่วงแรกนั้น มีเพียงให้เลือก “คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน” ประมาณ 9-15 คน ทำหน้าที่ออกระเบียบข้อบังคับ รับสมัครสมาชิก จัดทำทะเบียนกองทุนและและเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร จากนั้นชาวบ้านเสนอโครงการให้กรรมการเห็นชอบ และรอรับเงินจัดสรร 1 ล้านบาทผ่านธนาคารออมสินได้ทันที รัฐบาลกำหนดปรัชญากองทุนหมู่บ้านฯ ไว้ว่า

1.เสริมสร้างสำนึกชุมชนและท้องถิ่น

2.ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคตหมู่บ้านด้วยภูมิปัญญาตนเอง

3.ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในชุมชน

4.เชื่อมโยงการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชน ราชการ เอกชน และประชาสังคม 5 .กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและพัฒนาประชาธิปไตยพื้นฐาน แต่ดูเหมือนจะมีหมู่บ้านไม่กี่แห่งที่สามารถทำได้ตามปรัชญา หรือแนวคิดที่ตั้งเป้าไว้ แต่ทุกรัฐบาลก็ยังเสริมเม็ดเงินเข้าไปอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า เงินก้อนนี้ สุดท้ายแล้วกลายเป็นเงินทุน หรือทำให้ชาวบ้านมีหนี้ก้อนใหม่เพิ่มขึ้นมากันแน่