กองทัพจีนส่งเครื่องบินติดหัวรบนิวเคลียร์ชุดใหญ่ผ่านน่านฟ้าไต้หวัน ด้วยอากาศยานทางทหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน จำนวน 28 ลำ บินผ่านเขตแสดงตนทางทหารของไต้หวัน เมื่อต้นสัปดาห์นี้ พร้อมประกาศจะไม่อดทนต่อการแทรกแซงของกองกำลังต่างชาติอีกต่อไป จำเป็นต้องตอบโต้อย่างแข็งกร้าวต่อพฤติกรรมสบคบคิดเหล่านั้น
จากคำประกาศกร้าวของรัฐบาลปักกิ่งเมื่อวันพุธที่ 16 มิ.ย.2564 ตามเวลาท้องถิ่น หลังไต้หวันโวยวายถูกฝูงบินรบจีนใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมา บินข้ามช่องแคบไต้หวันเข้าโซนป้องกันภัยทางอากาศ ADIZ
ฝูงบินแห่งกองทัพอากาศจีน จำนวน 28 ลำ ในนั้นรวมถึงเครื่องบินรบทิ้งระเบิดศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์และเครื่องบินขับไล่ บินข้ามช่องแคบไต้หวันเข้าโซนป้องกันภัยทางอากาศ ADIZ ของไต้หวันเมื่อวันอังคาร (15 มิ.ย.) จากคำกล่าวอ้างของรัฐบาลไทเป
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มจี 7 ออกถ้อยแถลงร่วมในวันอาทิตย์ (13 มิ.ย.) ตำหนิจีนในประเด็นต่างๆ นานา และเน้นย้ำความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพข้ามช่องแคบไต้หวัน ถ้อยแถลงที่ถูกจีนประณามว่าเป็น “การใส่ร้ายป้ายสี” และต่อมา ที่ประชุมนาโต้ได้ออกแถลงการณ์ตอกย้ำประเด็นเดียวกัน
ระหว่างการแถลงข่าว หม่า เสี่ยวกวง โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันของจีน ถูกผู้สื่อข่าวถามว่าความเคลื่อนไหวทางทหารดังกล่าวเกี่ยวข้องกับถ้อยแถลงของจี 7 หรือไม่ ซึ่งเขาตอบว่ารัฐบาลไต้หวันควรถูกกล่าวโทษสำหรับสถานการณ์ความตึงเครียด และปักกิ่งเชื่อว่ารัฐบาลของเกาะแห่งนี้กำลังร่วมมือกับต่างชาติในการหาทางแยกตัวเป็นเอกราชอย่างเป็นทางการ
โฆษกกล่าวว่า “เราจะไม่มีวันอดทนต่อความพยายามแสวงหาเอกราช หรือการแทรกแซงมุ่งร้ายในประเด็นไต้หวันโดยกองกำลังต่างชาติ ดังนั้นเราจำเป็นต้องตอบโต้อย่างแข็งกร้าวต่อพฤติกรรมสบคบคิดเหล่านี้”
ไต้หวัน ซึ่งปกครองตามระบอบประชาธิปไตย คร่ำครวญมานานหลายเดือนเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกองทัพอากาศจีนที่ปฏิบัติภารกิจเฉียดใกล้เกาะไต้หวันซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของโซนป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน ใกล้กับหมู่เกาะปราตัส ที่ควบคุมโดยไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม คราวนี้ฝูงบินรบของจีนไม่ได้แค่บินเฉียดใกล้พื้นที่หนึ่งใกล้กับหมู่เกาะปราตัสเท่านั้น แต่เครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินขับไล่บางส่วนยังบินรอบบริเวณทางใต้ของไต้หวัน ใกล้ปลายแหลมสุดทางใต้ของเกาะอีกด้วย จากคำกล่าวอ้างของกระทรวงกลาโหมไต้หวัน
เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่กองทัพเรือสหรัฐฯ เปิดเผยว่ากองเรือบรรทุกเครื่องบินกองหนึ่งได้ล่องเข้าสู่พื้นที่พิพาททะเลจีนใต้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับแผนงานด้านความมั่นคงของไต้หวันเปิดเผยกับรอยเตอร์ บรรดาเจ้าหน้าที่เชื่อว่าจีนกำลังส่งสารถึงสหรัฐฯ ในขณะะที่กองเรือดังกล่าวล่องผ่านช่องแคบบาชิ ซึ่งกั้นระหว่างไต้หวันกับฟิลิปปินส์ และมุ่งหน้าสู่ทะเลจีนใต้
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ไต้หวันจำเป็นต้องให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง จากข้อเท็จจริงที่ว่ากองทัพจีนทำการซ้อมรบในเขตป้องกันภัยทางอากาศ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของไต้หวัน
การส่งฝูงเครื่องบินครั้งใหญ่ที่สุดนี้ พบว่าลบสถิติที่เคยทำมาในวันที่ 12 เม.ย.2564 ที่ปักกิ่งส่งเครื่องบิน จำนวน 25 ลำ เข้ามาในโซนป้องกันภัยทางอากาศ ADIZ ของไต้หวัน
ไต้หวันอ้างกรรมสิทธิเหนือหมู่เกาะปราตาส ซึ่งอยู่ในทะเลจีนใต้ และในอดีตที่ผ่านมา จีนไม่เคยยอมรับข้ออ้างเกี่ยวกับอธิปไตยของไต้หวันเหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ แต่เรือและเครื่องบินของจีนก็มักอยู่นอกเขตหวงห้ามของไต้หวัน ซึ่งมีอาณาเขต 6 กิโลเมตรจากชายฝั่ง ต่างจากวันนี้ หลังไต้หวันแสดงท่าทีชัดแจ้งต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากแผ่นดินใหญ่ และสหรัฐพันธมิตรประกาศให้การหนุนหลัง ยิ่งทำให้ไต้หวันกร้าง และแน่นอนจีนย่อมกร้าวตอบโต้เช่นกัน
ด้วยความตั้งใจอวดว่าตะวันตกสนับสนุน หลังจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 มิ.ย.2564 แถลงการณ์ร่วมผู้นำจี7 ตำหนิจีนเรื่องสิทธิมนุษยชนในซินเจียง เรียกร้องให้ฮ่องกงรักษาความเป็นอิสระอย่างมากเอาไว้ และเน้นย้ำความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน นายซาเวียร์ จาง โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวัน แถลงว่า นี่เป็นครั้งแรกที่แถลงการณ์ร่วมผู้นำจี7 ย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งจี7 ที่แถลงการณ์มีเนื้อหาเป็นมิตรต่อไต้หวัน
ขณะที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐออกแถลงการณ์ว่า เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมข่มขู่คุกคามดังกล่าวของจีน รัฐบาลวอชิงตันจะเดินหน้ายกระดับ “ความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการด้านความมั่นคง” เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ว่าไต้หวันจะมีศักยภาพเพียงพอด้านการป้องกันตนเอง และวิจารณ์ว่า กิจกรรมทางทหารของจีนใกล้กับไต้หวัน เป็นการบ่อนทำลายความมั่นคง และเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการเข้าใจผิด