จีนบริจาคซิโนแวคไทยอีก 5 แสนโดส รวมช่วยล้านโดส! รบ.ให้ทุน6หน่วยงาน2.8พันล้านผลิตวัคซีนเองในปท.

1968

จากที่วันนี้ 5 มิถุนายน 2564  สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก “Chinese Bangkok  ถึงการบริจาควัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัท ซิโนแวค ให้ประเทศไทยเพิ่มอีก

ทั้งนี้วัคซีนของซิโนแวค ล็อตที่ 2 ซึ่งรัฐบาลจีนบริจาคให้แก่รัฐบาลไทยจำนวน 500,000 โดส ได้ถูกส่งมาถึงประเทศไทยแล้ว  ทำให้ปัจจุบันรัฐบาลจีนได้บริจาควัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 1 ล้านโดส  สำหรับวัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนที่มีจำนวนมากที่สุดทั้งในประเทศจีนและไทย โดยตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2563-30 พ.ค.2564 ประเทศจีนได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19ไปแล้วทั้งหมด 639 ล้านโดส โดยวัคซีนจำนวน 316 ล้านโดส เป็นวัคซีนซิโนแวค  อีกทั้งขณะนี้ จีนได้ส่งออกและบริจาควัคซีนซิโนแวคให้แก่ไทยแล้วจำนวนทั้งสิ้น 6.5 ล้านโดส

ขณะที่ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุนให้คนไทย มีศักยภาพในการคิดค้นและผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้เอง จึงได้จัดสรรงบประมาณกว่า 2,806 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ และสำหรับเป็นทุนหนุนในการเพิ่มศักยภาพประเทศของไทย พร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันและการระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

โดยรัฐบาลได้อุดหนุนงบประมาณวงเงิน 1,810.68 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 และงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 995.03 ล้านบาท รวมแล้วเป็นเงินกว่า 2,805.71 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนในการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ ตั้งแต่การพัฒนาวัคซีนต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำ การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีน รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการผลิตวัคซีน

สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้รับการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว เป็นทุนสนับสนุนการวิจัยให้แก่หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ดังนี้

1)บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด (650 ล้านบาท) เพื่อการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด DNA

2)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (200 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ต้นแบบที่พร้อมทดสอบทางคลินิกและการเตรียมพร้อมผลิตวัคซีนต้นแบบสำหรับการระบาดของเชื้อที่มีการกลายพันธุ์

3)บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด (160 ล้านบาท) เพื่อการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตในประเทศโดยใช้พืชเป็นแหล่งผลิตในมนุษย์

4)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (562 ล้านบาท)  เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นสถานที่ผลิตวัคซีนโควิด-19 ตามความต้องการของประเทศ โดยใช้โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ และพัฒนาห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง ด้านการวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติของยาชีววัตถุและวัคซีนรองรับการผลิตวัคซีนโควิด-19 ขึ้นใช้เองในประเทศ

5)องค์การเภสัชกรรม (156.8 ล้านบาท) เพื่อเตรียมความพร้อมการแบ่งบรรจุวัคซีนโควิด-19 ภายในประเทศ

6)บริษัท องค์การเภสัชกรรม – เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด (81.88 ล้านบาท) เพื่อขยายศักยภาพการผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรมรองรับการผลิตวัคซีนสำหรับประชาชนไทยด้วย