กองทัพเรืออินโดนีเซียประกาศเพิ่มเรือดำน้ำเป็น 12 ลำ?!?ไว้รับมือจีนรุกล้ำเขตพิพาททะเลจีนใต้บ่อย แบะท่าเพิ่มสัมพันธ์สหรัฐ

1413

จาการ์ตา เน้นย้ำ กองทัพเรืออินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะขยายกองเรือดำน้ำของตนให้มากขึ้นสามเท่าในปัจจุบันจนถึง 12 ลำ แหล่งข่าวด้านการป้องกันประเทศกล่าว ภายหลังจากเรือดำน้ำหนึ่งลำสูญหาย ส่งผลลูกเรือเสียชีวิตทั้งหมด 53 คน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น เพื่อตอบสนองต่อการกดดันของจีนในน่านน้ำเขตพิพาททะเลจีนใต้ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และจะเพิ่มกองเรือตรวจการด้วย

สำนักข่าวนิเกอิรายงานเมื่อ 30 พ.ค.2564 อ้างการเปิดเผยของ นายปราโบโว ซูเบียนโต รมว.กห.อินโดนีเซีย ว่า อินโดนีเซียจะเพิ่มการลงทุนด้านยุทโธปกรณ์ทางทหารเพื่อปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยแน่นอน เพราะอินโดนีเซียมีพื้นที่น่านน้ำที่อยู่ภายใต้เขตเศรษฐกิจจำเพาะอยู่ในอันดับที่สามของโลก แต่ขนาดของกองเรือดำน้ำของอินโดนีเซียนั้นเล็กเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในอันดับที่6 และมีอยู่เรือดำน้ำ 20 ลำ

อินโดนีเซีย ประกอบด้วยหมู่เกาะต่าง ๆ ถึง 17,000 เกาะ จึงต้องการเพิ่มกำลังทางเรือไว้เพื่อปกป้องน่านน้ำของตนเอง และเพื่อตอบสนองต่อการกดดันของจีนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในน่านน้ำของอินโดนีเซีย ซึ่งเรือดำน้ำรุ่นเก่าที่มีอยู่นั้น ไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติภารกิจดังกล่าวได้

รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ระบุว่า ทางกองทัพจะเพิ่มการลงทุนด้านยุทโธปกรณ์ทางทหารหลังเกิดอุบัติเหตุเมื่อเร็วๆนี้  สำหรับเรือดำน้ำ อินโดนีเซียกำลังดำเนินการตามข้อตกลงการผลิตร่วมกับเกาหลีใต้ ในขณะที่ฝรั่งเศส รัสเซีย และตุรกีได้เสนอขายเรือดำน้ำและระบบสนับสนุน โดยญี่ปุ่นระบุว่าสนใจขายเรือดำน้ำให้จาการ์ตาเช่นกัน

เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2564 เรือดำน้ำ เคอาร์ไอ นังกาลา-402 (KRI Nanggala-402) ได้หายไปอย่างกะทันหันขณะเตรียมการฝึกตอร์ปิโดนอกชายฝั่งบาหลี เรือลำนี้สร้างขึ้นในปี 1977 ในเยอรมนี และอินโดนีเซียได้ซื้อมาในปี 1981 กองทัพระบุว่า เรือดำน้ำลำนี้น่าจะโดนคลื่นยักษ์ใต้ทะเลซัดจนไม่สามารถควบคุมได้

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความตื่นตัวเกี่ยวกับสถานะของกองเรือดำน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่เส้นประ 9 เส้นของจีนตัดกับพื้นที่ EEZ ของอินโดนีเซียรอบๆ หมู่เกาะนาทูนา เรือประมงจีนยังปักหลักทำงานที่นั่นและปักกิ่งยังได้ ประกาศให้เรือยามชายฝั่งของตนใช้อาวุธตอบโต้เรือต่างชาติได้ ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา

หากจำนวนเรือดำน้ำสามารถเพิ่มขึ้นถึงระดับเป้าหมาย พวกเขาสามารถดำเนินการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ในพื้นที่ที่ยากสำหรับเรือลาดตระเวนที่จะไปถึงได้ 

ไครัล ฟาฮ์มี(Khairul Fahmi) จากสถาบันความมั่นคงและการศึกษายุทธศาสตร์ของอินโดนีเซียกล่าวว่า การปรากฏตัวของเรือต่างประเทศรอบเกาะนาทูน่า (Natunas) จะลดลงเมื่อเรามีเรือดำน้ำเพื่อการลาดตระเวนมากพอ

อินโดนีเซียได้ทำงานร่วมกับเกาหลีใต้ใน การพัฒนาเรือดำน้ำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และกำลังดำเนินการความร่วมมือทางเทคนิคกับแดร์วูฯ (Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering) ในบรรดาเรือย่อยสี่ลำที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน สองลำถูกสร้างขึ้นในเกาหลีใต้ และอีกหนึ่งลำถูกผลิตขึ้นในประเทศอินโดนีเซียโดยใช้เทคโนโลยีจากเกาหลีใต้ เรือดำน้ำเคราะห์ร้ายที่จมลง ได้รับการปรับปรุงใหม่อย่างสมบูรณ์ในเกาหลีใต้เมื่อปี 2555

เมื่ออินโดนีเซียสั่งนำเข้าชุดยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศ อินโดนีเซียจะขอให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความสามารถด้านเทคนิคของตนเองและเพื่อรักษางานแก่ชาวอินโดนีเซีย  ทางเกาหลีใต้ได้เสนอเงื่อนไขที่ดีพร้อมกับราคา แต่ฝ่ายอินโดนีเซียยังท้วงตงด้านสมรรถภาพและ การใช้พลังงานขับเคลื่อน

ในสายตาของกองทัพ เรือดำน้ำจากประเทศญี่ปุ่นดูจะล้ำสมัยกว่า เงียบกว่ามาก และมีเวลาปฏิบัติการใต้น้ำมากขึ้น แต่ราคาจะสูงขึ้นและเงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยีจะอ่อนไหวมากขึ้น

ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า การเสนอจัดซื้อเรือดำน้ำเพิ่มขึ้นท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติการระบาดโควิดในอินโดนีเซียจะได้รับการตอบรับจาก รัฐสภาหรือรัฐบาลอินโดนีเซียหรือไม่? ข้ออ้างในการเพิ่มงบประมาณในการซื้อเรือดำน้ำ และการเพิ่มความสัมพันธุ์ที่ใกล้ชิดกับ สหรัฐเพื่อคานอิทธิพลจีนในย่านทะเลจีนใต้ สะท้อนภาพ ความเปราะบางในความสัมพันธุ์ด้านความมั่นคงทางทหารในย่านนี้อย่างชัดเจน  เปิดโอกาสให้สหรัฐฯได้เข้ามาแทรกแซงได้อย่างชอบธรรมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้!??