รัฐบาลยืนยันการกู้เงินอีก 5 แสนล้านบาทมีกรอบการใช้เงินชัดเจนโปร่งใส รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย และไม่ทำให้หนี้ต่อจีดีพีเกินกรอบ 60% โดยปีนี้อยู่ที่ 58.56% ขณะที่ การใช้จ่ายจากวงเงินดังกล่าวจะช่วยให้จีดีพีปี 64-65 เพิ่มขึ้น 1.5%
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึง การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทว่า การกู้เงินดังกล่าวจะสนับสนุนให้จีดีพีในปี 2564-2565 เพิ่มขึ้นอีกราว 1.5%จากที่รัฐบาลคาดการณ์ว่า ในปี 2564 จีดีพีจะขยายตัว 1.5-2.5% และ การทยอยกู้เงินดังกล่าว จะทำให้หนี้ต่อจีดีพีในปีงบประมาณนี้อยู่ที่ระดับ 58.56%
ทั้งนี้ การออกพ.ร.ก.กู้เงินดังกล่าวนั้น เป็นเงินกู้เพื่อดูแลสถารณ์โควิด-19 ฉบับที่สอง เป็นกฎหมายเฉพาะตามมาตรา 53 ในพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 ที่กำหนดว่า การออกกฎหมายที่นอกเหนือจากพ.ร.บ.หนี้สาธารณะให้ออกกฎหมายเฉพาะมีเงื่อนไขว่า เป็นเรื่องของกฎหมายเฉพาะ เป็นเรื่องความจำเป็นเร่งด่วน เป็นความต่อเนื่อง แก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ และไม่สามารถตั้งงบประมาณประจำปีได้ทัน
ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า พรก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นั้น การใช้จ่ายต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ภายใต้แผนงานหรือโครงการตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนด ซึ่งประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่
(1) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข การวิจัยและพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ
(2) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 300,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ช่วยผู้ประกอบอาชีพและผู้ประกอบการ สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง
(3) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 170,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงาน/โครงการ เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุนและการบริโภค ทั้งนี้ ในกรณีจำเป็น คณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติปรับกรอบวงเงินภายใต้แผนงานหรือโครงการภายใน 3 วัตถุประสงค์นี้ได้ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลได้มีการกำหนดอย่างชัดเจนในพรก.ฉบับนี้ว่า เงินกู้ 5 แสนล้านบาทนี้ จะนำไปใช้เพื่อการอื่นนอกจาก 3 แผนงานดังที่กล่าวมาแล้วไม่ได้อย่างเด็ดขาด จึงขอให้ประชาชนได้มีความมั่นใจ ถึงเจตนาของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้อย่างแท้จริง
สำหรับ พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการแล้ว จำนวน 287 โครงการ รวมวงเงินทั้งสิ้น 817,223 ล้านบาท และได้มีการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 680,099 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 83.22 ของ วงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2563 มีอัตราตัวเลขที่หดตัวในปริมาณที่ดีกว่าที่หลายหน่วยงานอย่างเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือที่ IMF ได้คาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ วงเงินกู้ส่วนที่ยังเหลืออยู่รัฐบาลได้เตรียมการที่จะออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งได้รับการอนุมัติในหลักการจากครม.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่น โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3,โครงการ ”ยิ่งใช้ยิ่งได้” และโครงการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะเสนอรายละเอียดของโครงการเพื่อให้ครม.พิจารณาในระยะต่อไป
นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า “สถานการณ์การระบาดของเชื้อ COVID-19 ในระลอกนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและมีการติดเชื้อเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเตรียมงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเตรียมการรองรับผลกระทบจากการระบาดระลอกนี้ และมีความจำเป็นที่ต้องออกพรก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทนี้
ทั้งนี้ กรอบวงเงินกู้ 500,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก นี้เป็นกรอบวงเงินที่เหมาะสมที่จะดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุข ช่วยเหลือเยียวยา ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของของ COVID-19 ระลอกนี้ได้อย่างต่อเนื่องกับ พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2564–2565 สามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้น