เกือบ 20 ปีตั้งแต่สหรัฐฯบุกโค่นอดีตปธน.ซัดดัม ฮุสเซน ประธานาธิบดี อิรักเพิ่งมาโวยวายหาโจรปล้นชาติ เรียกร้องให้ รัฐสภาผ่านกฎหมาย “ทวงเงินทุนทุจริต” เพื่อตามทวงเงินรายได้มหาศาลจำนวนกว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ(ประมาณ 4.7 ล้านล้านบาท) ที่ถูกปล้นไปจากเงินรายได้การจำหน่ายน้ำมัน นับตั้งแต่เมื่อปี 2003 ทำเพื่อแก้เกี้ยวที่ถูกประชาชนประท้วงรายวันหรือไม่? บทเรียนที่เปิดบ้านให้มหาอำนาจสหรัฐแทรกแซง จนบัดนี้แผ่นดินยังลุกเป็นไฟ
เมื่อเร็วๆนี้ ประธานาธิบดี บาร์ฮัม ซาเลห์(Barham Salih) แห่งอิรักออกแถลงการณ์กล่าวว่า มีเงินรายได้จากน้ำมันถูกปล้นไปจากอิรักประมาณ 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่สหรัฐฯ นำกองกำลังพันธมิตรบุกโค่นรัฐบาล ซัดดัม ฮุสเซน เมื่อปี 2003
“รายได้เกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ที่เราได้จากการขายน้ำมันตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา มีอยู่ประมาณ 150,000 ล้านดอลลาร์ที่ถูกปล้นไปจากอิรัก” ซาเลห์ แถลงผ่านสื่อโทรทัศน์
ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ ซาเลห์ ได้เสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการทวงคืนเงินทุนทุจริต (Corrupt Funds Recovery Act) ต่อรัฐสภา
“ร่างกฎหมายฉบับนี้จะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ประชาชาติอิรัก ทวงคืนเงินรายได้ที่ถูกปล้นไปจากการทำสัญญาทุจริต และนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” ซาเลห์ กล่าว
ผู้นำอิรักเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาร่วมกันอภิปรายและผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเสนอให้มีการติดตามทวงคืนเงินที่ถูกขโมยโดยอาศัยความร่วมมือกับรัฐบาลต่างชาติและองค์กรระหว่างประเทศ
เขาเชื่อว่าวงเงินที่ถูกขโมยไปมากพอที่จะฟื้นสถานะทางการคลังของอิรักให้ดีขึ้นได้ และร่างกฎหมายใหม่ “จะช่วยแก้ไขปัญหาการทุจริตฉ้อโกงที่ลิดรอนโอกาสประชาชนในการเข้าถึงความร่ำรวยของประเทศมานานหลายปี”
ซาเลห์ เอ่ยเสริมว่า “วันนี้ผมขอย้ำข้อเรียกร้องของอิรักที่เราได้กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติไปแล้วว่า ขอให้มีการตั้งกลุ่มพันธมิตรนานาชาติเพื่อต่อต้านการคอรัปชัน ในลักษณะเดียวกับพันธมิตรต่อต้าน ISIS (กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส)” “ลัทธิก่อการร้ายจะถูกกำจัดหมดไปได้ก็ต่อเมื่อเราปิดกั้นแหล่งเงินทุนของพวกเขาที่มาจากการทุจริตคอรัปชัน”
อิรักยังคงล้มเหลวในการฟื้นคืนเสถียรภาพ หลังตกอยู่ท่ามกลางสงครามและมาตรการคว่ำบาตรมาหลายสิบปี โดยตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมามีชาวอิรักหลายร้อยคนที่ต้องเสียชีวิตจากการเดินขบวนต่อต้านพฤติกรรมทุจริตของรัฐบาล ตลอดจนปัญหาการว่างงาน และบริการขั้นพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้าและน้ำสะอาดที่ยังไม่เพียงพอ
(ประธานาธิบดี บาร์ฮัม ซาเลห์)
ความไม่ชอบมาพากลของการลงนามระหว่างรัฐบาลกับบริษัทเอกชนต่างประเทศ พวกตะวันตกเข้ามากอบโกยทรัพยากรธรรมชาติโดยจ่ายเงินให้กับรัฐบาลเพียงนิดเดียว ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้อะไร ผู้นำรัฐบาลและทหารเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่รับผลประโยชน์จากพวกต่างชาติ
สหรัฐฯ ภายใต้การนำของปธน. โจ ไบเดนประกาศจะถอนทหารอเมริกันทั้งหมดออกจากอิรัก หลังจากที่กองกำลังความมั่นคงท้องถิ่นมีศักยภาพสูงขึ้น อีกทั้งภัยคุกคามจากกลุ่มไอเอสก็ลดลงมากตามคำกล่าวอ้างของสหรัฐฯ
ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีทหารประจำการอยู่ในอิรักราว 2,500 นาย โดยเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังเฉพาะกิจร่วมผสม–ปฏิบัติการแก้ปัญหาจากต้นกำเนิด (Operation Inherent Resolve) ที่มุ่งขจัดกลุ่มนักรบที่ยังหลงเหลืออยู่ของ “รัฐคอลีฟะห์” ที่ไอเอสเคยสถาปนาขึ้นบนพื้นที่กว้างขวางของอิรักและซีเรียเมื่อปี 2014