‘ราชกิจจานุเบกษา’ ประกาศปลดล็อกพืชกระท่อม!?! พ้นยาเสพติดให้โทษ เปิดทางต่อยอดพืชเศรษฐกิจตัวใหม่!

2120

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เพื่อให้สอดคล้องบริบทของสังคมไทยตามวิถีชาวบ้าน

วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 (ยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2564 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

แต่การจะปลูกใหม่ต้องรอร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. …. ก่อน ซึ่งถือว่าตอนนี้พืชกระท่อมเกือบจะหลุดจากยาเสพติดโดยสมบูรณ์แล้ว

ที่ผ่านมา พืชกระท่อม ถูกตราว่าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษปี พ.ศ. 2522 แต่ในหลายประเทศนั้น ไม่จัดว่าพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ประกอบกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 961 และพิธีสารแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1972 ที่ไม่ได้กำหนดว่า พืชกระท่อม คือยาเสพติดให้โทษ

ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชาวบ้าน ที่มีพืชกระท่อมเป็นพืชพื้นเมือง และตามวิถีที่คนมักนิยมกินกระท่อม จึงจำเป็นต้องยกเลิกให้พืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และสามารถบังคับใช้ได้ เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับตั้งแต่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

คุณสมบัติในทางการแพทย์ พืชกระท่อมเป็นยาที่มีสรรพคุณเพียบ กระท่อม เป็นพืชที่มีการใช้เป็นยามาอย่างยาวนานแต่โบราณ ใช้ใบกระท่อมเพื่อรักษาการติดเชื้อในลำไส้ บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดไข้ บรรเทาอาการไอและท้องร่วง โดยใช้ใบสดหรือใบแห้งนำมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็นน้ำชา ในอดีตเป็นที่รู้กันว่ากระท่อมถูกจับให้เป็นยาเสพติด กลายเป็นพืชต้องห้ามตามกฎหมายเป็นครั้งแรกเมื่อ 76 ปีก่อน ซึ่งเหตุผลที่แท้จริงของการออก พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2486 เนื่องจากฝิ่นที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดผลิตฝิ่นสุก ฝิ่นดิบ มีราคาแพง ทำให้คนหันมาสูบกระท่อมแทนฝิ่น ภาครัฐก็เลยใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการกับกระท่อม ซึ่งเป็นพืชยาชนิดนี้เพื่อให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีฝิ่นได้ตามเป้าหมายนั่นเอง

ต่อมา กระท่อมจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามความหมายในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 7 ได้แก่ กัญชา และพืชกระท่อม

กัญชาเหมือนจะมีผู้คนมาสนับสนุนการพัฒนาในด้านการแพทย์กันพอสมควร แม้ว่ายังมีข้อกังวลข้อถกเถียงถึงผลข้างเคียงจากกัญชา แต่ก็ถือว่ากัญชาได้เข้าสู่กระบวนการศึกษาและพัฒนาเพื่อการแพทย์เต็มตัวแล้ว แต่กระท่อม ซึ่งถือว่าเป็นพืชประจำถิ่นในภาคใต้ของไทยยังมีแรงสนับสนุนให้เป็นพืชยาเพื่อการแพทย์ไม่มากนัก

การใช้ของต่างประเทศพบว่า ใช้เป็นยารักษาอาการเรื้อรังต่างๆ เช่น ช่วยลดความดันโลหิต บรรเทาเบาหวาน แก้ไอ แก้ระบบย่อยอาหารไม่ปกติ เช่น ท้องเสีย บิดมีตัว ปวดท้องและกำจัดพยาธิในเด็ก และใช้เป็นการกระตุ้นร่างกายให้ทำงานหนักได้ และมีรายงานจากต่างประเทศกล่าวถึงการเริ่มศึกษาใบกระท่อมช่วยอาการซึมเศร้า โรควิตกกังวลและอื่นๆ อีกหลายโรคด้วย และข่าวว่าเพื่อนบ้านเราทั้งเวียดนามและเมียนมา กำลังปลูกกระท่อมกันมากมาย

หวังว่าการปลดล็อคครั้งนี้จะก้าวไปสู่อนาคตของพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของคนไทยเมื่อภาครัฐ-เอกชนให้ความสนใจ พัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่ากันอย่างจริงจัง!!

 

ก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลได้ประกาศปลดล็อกปลูกกัญชาได้ โดยรวมตัวอย่างน้อย 7 คนเป็นวิสาหกิจชุมชนสามารถปลูกได้บ้านละ 6 ต้น เน้นการสร้างอาชีพ ปลูกกัญชาส่งผลผลิตทำยา ห้ามนำมาเสพ

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2564 การออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 ที่ปลดล็อกให้ทุกส่วนของกัญชาและกัญชงไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้น ช่อดอก ใบที่ติดกับช่อดอก และเมล็ดกัญชา ส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาและกัญชงได้แล้ว โดยรวมตัวกัน 7 คนขึ้นไปเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ทำสัญญาร่วมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานสาธารณสุข สร้างรายได้ทันทีไม่ต้องรอ ซึ่งเห็นเป็นรูปธรรมแล้วผ่าน “โนนมาลัยโมเดล” อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ที่วิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชาครัวเรือนละ 6 ต้น นำผลผลิตส่งโรงพยาบาลทำยา และชิ้นส่วนต่าง ๆ นำมาทำอาหาร เครื่องสำอาง และแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อสร้างรายได้

หรือวิสาหกิจชุมชนเพชรลานนา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ที่ตัดช่อดอกให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกทำน้ำมันกัญชารักษาผู้ป่วย และแปรรูปส่วนอื่น ๆ เช่น ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น ราก มาเป็นผลิตภัณฑ์ นำมาปรุงอาหาร สร้างรายได้อย่างมาก ส่วนกัญชงที่ปลูกง่ายกว่า สามารถปลูกคู่กันได้ โดยขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งให้ความร่วมมือสนับสนุนอย่างเต็มที่