จากที่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ศาลอาญาอ่านคำสั่งคดีที่ ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา ตั้งเรื่องขอให้ไต่สวน นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความกลุ่มราษฎร และเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน เคยได้รับรางวัลกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ประจำปี 2555
ทั้งนี้นายรัษฎา เป็นผู้ถูกกล่าวหา ข้อหาละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) และมาตรา 33 กรณีประพฤติตนไม่เรียบร้อยในห้องพิจารณาคดีแกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร รวม 22 ราย เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2564
ศาลพิเคราะห์คำกล่าวหาของ ผอ.ประจำสำนักอำนวยการศาลอาญา ซึ่งกล่าวหาว่า ในวันเกิดเหตุวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา นายรัษฎา ผู้ถูกกล่าวหา ขอคัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณา คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.287/2564 ระหว่างพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 โจทก์ กับ นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวาลักษณ์ กับพวกรวม 22 คน เป็นจำเลย แต่เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ไม่ให้คัดถ่าย
ต่อมาเมื่อพนักงานอัยการผู้ช่วย พูดว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เป็นทนายแล้ว นายรัษฎา ผู้ถูกกล่าวหาจึงพูดตะคอกใส่พนักงานอัยการผู้ช่วย แล้วใช้มือทั้งสองข้างผลักบริเวณอกอย่างแรง เมื่อศาลไต่สวนโดยเรียกพนักงานอัยการผู้ช่วยมาสอบถามก็แถลงยืนยันต่อศาลว่า วันเกิดเหตุนายรัษฎา ผู้ถูกกล่าวหาใช้มือผลักอกของตนจริง นอกจากนี้ ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลอาญา แถลงต่อศาลในการไต่สวนว่า หลังจากเกิดเหตุได้รับทราบรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวขณะอยู่ในห้องพิจารณา
นอกจากนี้ ศาลยังได้เรียกเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์มาไต่สวน โดยสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็แถลงยืนยันว่า ผู้ถูกกล่าวหาโต้เถียงกับตนและพนักงานอัยการผู้ช่วย ขณะที่นายรัษฎา ผู้ถูกกล่าวหาได้แถลงยอมรับต่อศาลว่า ตนเองใช้มือผลักอกพนักงานอัยการผู้ช่วยขณะอยู่ในห้องพิจารณาคดีจริง ตามที่ ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลอาญากล่าวหา ประกอบกับเมื่อศาลเปิดดูภาพเคลื่อนไหวและเสียง ที่บันทึกจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ติดตั้งภายในห้องพิจารณาที่เกิดเหตุ บันทึกภาพไว้ได้ ทุกคนต่างยืนยันว่าเป็นข้อมูลภาพเคลื่อนไหวและข้อมูลเสียงในวันเกิดเหตุ
จากคำยืนยันของพนักงานบุคคลทั้งหมดดังกล่าว รวมทั้งคำยอมรับของนายรัษฎา ผู้ถูกกล่าวหา และจากพยานหลักฐานแผ่นดีวีดี ภาพเคลื่อนไหวและเสียง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาใช้กำลังโดยใช้มือผลักอกของพนักงานอัยการผู้ช่วยในวันเกิดเหตุจริง การที่ผู้ถูกกล่าวหาก่อเหตุกระทำการดังกล่าวถือว่าเป็นการใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่น ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายกับกายหรือจิตใจ ภายในห้องพิจารณาคดี ซึ่งอยู่ในบริเวณศาลนี้
ซึ่งเป็นการผิดต่อกฎหมายและเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในบริเวณศาล ซึ่งเป็นสถานที่ที่บุคคลทั่วไปทุกคนที่เข้ามาในบริเวณศาลย่อมมีความมั่นใจในความปลอดภัยว่าจะไม่ถูกล่วงละเมิดโดยการก่อเหตุใดๆ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) และมาตรา 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
อย่างไรก็ตาม นายรัษฎา ผู้ถูกกล่าวหา ได้ยอมรับแต่โดยดี ทั้งยังแสดงความสำนึกผิดด้วยการกล่าวแสดงความเสียใจ และขออภัยต่อพนักงานอัยการผู้ช่วยและเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ของศาล อันแสดงให้เห็นถึงความสำนึกในสิ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำลงไป จึงให้ลงโทษปรับผู้ถูกกล่าวหาเป็นเงิน 500 บาท และตักเตือนผู้ถูกกล่าวหาว่าห้ามมิให้ประพฤติตนหรือแสดงกิริยาใดๆ ที่ไม่สมควรในบริเวณศาล อันถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอีก
หากความปรากฏต่อศาลว่าผู้ถูกกล่าวหาก่อเหตุในลักษณะดังกล่าวอีก ศาลจะหยิบยกอ้างถึงคดีนี้แจ้งไปยังสภาทนายความ เพื่อพิจารณาตั้งคณะกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับการประพฤติผิดมรรยาททนายความ และเพื่อลงโทษฐานผิดมรรยาททนายความต่อไป ทั้งนี้ พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 52, 64 และ 65
ล่าสุดวันนี้ 26 พฤษภาคม 2564 นายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กถึงเหตุการณ์ และคดีความที่เกิดขึ้นว่า
“เป็นกำลังใจให้ท่านอัยการผู้ช่วย #ท่านกฤษณะ บุญญานุสรณ์ ที่โดนทนายความท่านที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปกปักรักษาสิทธิมนุษยชนจนได้รับรางวัลใหญ่ฯ ผลักอก พูดจาตะคอกข่มขู่ และท้าทายให้ไปเจอกันนอกศาล ฯลฯ
ขอชมเชยท่านกฤษณะฯ ที่มีความอดทน อดกลั้น ไม่โต้ตอบ สมกับเป็นสุภาพบุรุษพนักงานอัยการของแผ่นดิน
ป.ล. คดีนี้ ศาลฯ ได้สั่งปรับทนายฯ 500 บาท ฐานละเมิดอำนาจศาลตามกฏหมาย รอดูครับว่า ผู้บริหารสำนักงานอัยการสูงสุด, ประธาน ก.อ. และ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์จะว่าอย่างไรต่อไป”