เปิดคำพิพากษา!! คดีหลอก “น้องธนาธร” ยัดเงินใต้โต๊ะสำนักงานทรัพย์สินฯ

31322

จากกรณีที่น้องชายของธนาธร นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ยัดเงินใต้โต๊ะให้กับบุคลากรคนหนึ่งของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ หวังจะฮุบสัมปทานที่ดินทำเลทอง

แต่กลับกลายเป็นว่า โดนเขาหลอกอีกที เนื่องจากบุคลากรคนนั้นไม่มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพย์สินที่ดิน ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

ล่าสุด ศาลอาญาได้พิพากษา คดีความดังกล่าว โดยมีโจทก์เป็น พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต ๔ โดยผลการพิพากษามีดังนี้

คดีหมายเลขดําที่ อท ๗๖ /๒๕๖๒ 

คดีหมายเลขแดงที่ อท ๒๒๘/๒๕๖๒

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง วันที่ ๒๗ เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

ความอาญา 

 ระหว่าง

 โจทก์

พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต ๔

จําเลย

นายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ นายสุรกิจ ตั้งวิทวนิช

เรื่อง ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ความผิดตามพระราชบัญญัติ

ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจําเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓, ๔๑,

๑๔๓, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5)

พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖)

พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔, ๑๒๓/๔ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๓ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔, ๑๗๕

จําเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ประกอบคําให้การรับสารภาพของจําเลยทั้งสองแล้ว

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) หรือสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๖๐ และพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งตาม มาตรา ๖ มาตรา ๗ และมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

กําหนดให้ สํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์หรือสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานในพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่จัดการดูแลรักษา จัดหาผลประโยชน์ และดําเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามที่จะทรงมอบหมาย การจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์และการดําเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

เพื่อการนี้พระมหากษัตริย์จะทรงมอบหมายให้สํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บุคคลใดหรือหน่วยงานใด เป็นผู้จัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สําหรับทรัพย์สินใดภายใต้เงื่อนไขอย่างใดก็ได้ ในสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า

“คณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ประกอบด้วย ประธานกรรมการและคณะกรรมการอื่นซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย และในจํานวนนี้จะได้ทรงแต่งตั้งกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์คนหนึ่งเป็นผู้อํานวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทําหน้าที่กรรมการ และเลขานุการสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) หรือสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งทําหน้าที่ดูแลและจัดหาผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ จึงเป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นหน่วยงานราชการ เพราะเป็นหน่วยงานที่ดูแลงานของพระมหากษัตริย์ ดังนั้น

พนักงานสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ตําแหน่งรองผู้อํานวยการสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือตําแหน่งอื่นใดที่ถูกแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

อนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ประเทศไทยถือว่าเป็นรัฐเดี่ยว ดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา ๑ “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้” และมาตรา ๒ “ประเทศไทยมีการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา ๓ “อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”

จากบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ โดยหน่วยงานของรัฐนั้นหมายถึงกิจการของรัฐทุกส่วนที่รวมกันขึ้นเป็นรัฐ ซึ่งมิได้หมายความรวมถึงคณะรัฐบาล หรือองค์กรการบริหารเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงสถาบันอื่นด้วย เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐด้วย ฉะนั้นสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งทําหน้าที่ดูแลจัดการผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์จึงถือได้ว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ

ดังนั้น กรรมการ อนุกรรมการ และลูกจ้างประจําหรือชั่วคราวของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานราชการและหน่วยงานของรัฐ จึงเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๓)

พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๓ และ“เจ้าพนักงานของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ ระหว่างกลางเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๐ เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด

จําเลยที่ ๑ ซึ่งดํารงตําแหน่ง เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ ระดับ บ.๔ แผนกโครงการธุรกิจ ๑ กองโครงการธุรกิจ ๑ ฝ่ายโครงการพิเศษ สํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ทําหน้าที่สนับสนุนงานหลักของฝ่ายโครงการพิเศษ และจําเลยที่ ๑ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนําพื้นที่ของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ไปจัดประโยชน์แต่อย่างใด และจําเลยที่ ๒ ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานร่วมกันกระทําความผิดต่กฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

๑. จําเลยทั้งสองร่วมกันทําเอกสารราชการของสํานักงานทรัพย์สิน

ส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ปลอมขึ้นทั้งฉบับ โดยการให้จําเลยที่ ๑ ทําปลอมขึ้นซึ่งหนังสือสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ ฝบอ.๒๐๐๐/๐๐๒๔ ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๐

เรื่อง การพัฒนาที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) เรียน นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด ซึ่งเป็นหนังสือในแบบพิมพ์ของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีตราครุฑอันเป็นตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานราชการ ตามระบบงานสารบรรณ ตั้งแท่นลงนามเป็นชื่อ นายสุรพล เล็กเลิศผล ตําแหน่ง นักบริหารงานอสังหา

แต่จําเลยที่ ๑ เป็นผู้ลงนามในหนังสือฉบับดังกล่าว โดยปลอมลายมือชื่อนายสุรพล เล็กเลิศผล มีข้อความสรุปได้สาระสําคัญว่า บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด ได้ผ่านการพิจารณา คุณสมบัติของผู้ลงทุนในเบื้องต้นแล้ว สํานักงานทรัพย์สินฯ จึงใคร่ขอให้ท่านยื่นแผนการพัฒนาพื้นที่ และการลงทุนของท่านภายใน ๙๐ วัน ตามเอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข ๑ อีกทั้ง หนังสือฉบับดังกล่าวมิได้ออกโดยฝ่ายบริหารงานอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลจัดประโยชน์อสังหาริมทรัพย์ของสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ รวมถึงพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม)

เนื่องจาก เลขหนังสือที่ฝ่ายบริหารงานอสังหาริมทรัพย์ออกนั้น จะต้องขึ้นต้นด้วย ผ่อท. ๑๐๐๐ ในการออกหนังสือ จะต้องใส่ข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ และชื่อเว็บไซต์ของหน่วยงานไว้ที่ด้านซ้ายล่างของหนังสือ แต่ในสําเนาหนังสือฉบับดังกล่าวไม่ปรากฏหมายเลขโทรศัพท์ และชื่อเว็บไซต์ของหน่วยงาน อีกทั้ง ตําแหน่ง นักบริหารงานอสังหา ไม่มีอยู่ในสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

โดยชื่อตําแหน่งที่ถูกต้อง คือนักบริหารอสังหาริมทรัพย์ แล้วให้จําเลยที่ ๒ นําไปแสดงต่อ นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อให้นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ที่แจ้ง ให้บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด ทราบว่าบริษัทฯ ได้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ ของผู้ลงทุนในเบื้องต้นแล้ว และขอให้ยื่นแผนการพัฒนาพื้นที่และการลงทุนภายใน ๙๐ วัน

ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่สํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด นายสุรพล เล็กเลิศผล ผู้อื่นและประชาชน

๒. ระหว่างกลางเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ ๑๖

พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จําเลยทั้งสองร่วมกันทําเอกสารราชการของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ปลอมขึ้นทั้งฉบับ โดยการให้จําเลยที่ ๑ ทําปลอมขึ้นซึ่งหนังสือสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ ฝบอ.๒๐๐๐/๐๐๒ ลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เรื่อง การพัฒนาที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย

(ชิดลม) เรียน นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรียลแอสเสทดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด ซึ่งเป็นหนังสือในแบบพิมพ์ของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีตราครุฑ อันเป็นตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานราชการ ตามระเบียบงานสารบรรณ

มีข้อความสรุปได้สาระสําคัญว่า สํานักงานทรัพย์สินฯ ขอเรียนเชิญเจ้าหน้าที่ของบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับแผนการพัฒนาที่ดิน บริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ลงลายมือชื่อโดยจําเลยที่ ๑ ตําแหน่ง นักบริหารงานอสังหา ตามเอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข ๒ โดยจําเลยที่ ๑ ไม่มีอํานาจและมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายบริหารงานอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด

อีกทั้งหนังสือฉบับดังกล่าวมิได้ออกโดยฝ่ายบริหารงานอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลจัดประโยชน์อสังหาริมทรัพย์ของสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ รวมถึงพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) เนื่องจากเลขหนังสือที่ฝ่ายบริหารงานอสังหาริมทรัพย์ออกนั้นจะต้องขึ้นต้นด้วย ฝอท.๑๐๐๐ และหมายเลขโทรศัพท์ที่ปรากฏด้านซ้ายล่างของหนังสือดังกล่าวไม่ใช่หมายเลขโทรศัพท์ของฝ่ายบริหารงานอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานฝ่ายโครงการพิเศษ ที่จําเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่อยู่และตําแหน่ง นักบริหารงานอสังหา ไม่มีอยู่ในสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

โดยชื่อตําแหน่งที่ถูกต้อง คือ นักบริหารอสังหาริมทรัพย์ แล้วให้จําเลยที่ ๒ นําไปแสดงต่อนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อให้นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ หลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่แท้จริงของสํานักงาน ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ที่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด เข้าร่วมประชุมที่เกี่ยวกับแผนการพัฒนาที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย

(ชิดลม) ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่สํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด ผู้อื่นและประชาชน

๓. ระหว่างกลางเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ เวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ เวลาใดไม่ปรากฏชัด ต่อเนื่องกัน จําเลยทั้งสองร่วมกันนําข้อมูลของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ไปแจ้งต่อนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด ว่า ที่ดินของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บริเวณที่เป็นที่ตั้งขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) กําลังจะหมดสัญญาเช่าและจะเปิดให้ผู้สนใจมาลงทุนพัฒนาที่ดินดังกล่าว

โดยจะมีการทําสัญญาเช่ากับสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ระยะยาวเมื่อนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ เชื่อว่าสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีที่ดินแปลงดังกล่าวให้เช่าจริงจึงให้จําเลยที่ ๒ ดําเนินการติดต่อประสานงานและอํานวยความสะดวกเพื่อให้ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด ได้สิทธิการเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวโดยมีค่าตอบแทน จํานวน ๕๐๐,000,000 บาท (ห้าร้อยล้านบาทถ้วน) จากนั้น จําเลยทั้งสองได้ร่วมกันในลักษณะ แบ่งหน้าที่กันทํา

โดยจําเลยที่ ๑ ได้แนะนําให้นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยื่นหนังสือแสดงความจํานง ขอเช่าที่ดินต่อสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ตามช่องทางปกติ แล้วจําเลยทั้งสองร่วมกันเรียกรับเงินงวดแรกจํานวน ๕,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) จากนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ และร่วมกันใช้เอกสารราชการที่จําเลยทั้งสองร่วมกันทําปลอมขึ้นดังกล่าวตามข้อ ๑ และ ๒ อ้างต่อ นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อให้นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ที่สํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) จัดทําแจ้งว่าบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ลงทุนเบื้องต้นและเชิญให้เจ้าหน้าที่ของบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด เข้าร่วม ประชุมเกี่ยวกับแผนพัฒนาที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย

(ชิดลม) เมื่อนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้รับหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงได้จ่ายเงินงวดที่สอง จำนวน ๕,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) และงวดที่สามอีกจํานวน ๑๐,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน) รวม ๓ งวด จํานวนเงินรวมทั้งสิ้น ๒๐,000,000 บาท (ยี่สิบล้านบาทถ้วน) ให้แก่จําเลยทั้งสองรับไว้สําหรับตนเองเพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จําเลยทั้งสองจะร่วมกันไป ดําเนินการติดต่อประสานงานและนําเงินส่วนหนึ่งไปมอบให้รองผู้อํานวยการสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าพนักงานของรัฐ ตามกฎหมายโดยวิธีอันทุจริตและผิดกฎหมายเพื่อจูงใจรองผู้อํานวยการสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้กระทําการในหน้าที่ด้วยการจัดสรรที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม)

ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด ได้สิทธิการเช่าที่ดินระยะยาว โดยไม่ต้องผ่านการประมูลแข่งขันตามขั้นตอนปกติของการขอเช่าที่ดินของสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อันเป็นคุณแก่บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด และทําให้สํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เสียประโยชน์ที่จะได้รับเงินจากการประมูลที่สูงที่สุด ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่สํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ผู้อื่นและประชาชน

อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒๓/๔ ซึ่งเป็น กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทําความผิดและมีบทกําหนดโทษที่มีระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ ออกใช้บังคับและให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒

เนื่องจาก พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๗๕ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทําความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทําความผิด ตามฟ้องเป็นความผิดอยู่แต่มีกําหนดโทษเท่ากัน จึงเห็นสมควรลงโทษจําเลยทั้งสอง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒๓/๔ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทําความผิด

พิพากษาว่า จําเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓, ๑๔๓,๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒๓/๔ การกระทําของจําเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๑ ฐานร่วมกันปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม รวมสองกระทง ลงโทษจําเลยทั้งสองฐานร่วมกัน ใช้เอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ จําคุกกระทงละ ๒ ปี ฐานร่วมกันเป็นตัวกลางในการเรียกรับสินบนเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๓ จําคุกคนละ ๒ ปี รวมจําคุกคนละ 5 ปี จําเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ กระทงละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษจําคุกจําเลยทั้งสองคนละ ๓ ปี