เปิดความจริง ทำไมจุฬาฯร่วมชุมนุมกปปส. ตอกหน้าก๊วนเนติวิทย์ คนรุ่นใหม่ไม่ศึกษาข้อมูล-มั่วจับแพะชนแกะ

2859

จากกรณีการออกแถลงการณ์ขอโทษเข้าร่วมกปปส. ขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) มีมติให้ออกแถลงการณ์ขอโทษกรณีที่อบจ. เคยเข้าร่วมการชุมนุม

ทั้งนี้เป็นการชุมนุมของกลุ่ม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 ถึงการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยจากการรายงาน ผลของการลงมติแบบไม่เปิดเผยชื่อปรากฏว่า มติผ่านที่ประชุมไปด้วยคะแนน 1 เสียงเท่านั้น โดยมีผู้ลงเสียงอนุมัติจำนวน 9 เสียง ในขณะที่ไม่อนุมัติจำนวน 8 เสียง และงดออกเสียงจำนวน 4 เสียง

โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่าอบจ. “ขอแสดงความสำนึกผิดและขออภัยต่อประเทศชาติและประชาชนอันเป็นที่รักยิ่ง” จากการเข้าร่วมการชุมนุมกปปส. ซึ่งเป็นการชุมนุมที่ “เซาะกร่อนบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพของคนไทยจนถึงแก่น” และนำ “ความอัปยศอดสูมาสู่เกียรติประวัติของสถาบันการศึกษาอันเก่าแก่แห่งนี้อย่างพ้นประมาณ” และยังกล่าวต่ออีกว่าต่อจากนี้อบจ. จะทำหน้าที่สนับสนุนประชาธิปไตยต่อไปด้วย

ต่อมา นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคและ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวว่า อย่าใช้เหตุผลของคนในปัจจุบัน ตัดสินการกระทำของคนในอดีต

-ผมอ่านข่าวองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ ขอโทษที่เคยสนับสนุนการชุมนุมของ กปปส. เมื่อปี 2556 โดยให้เหตุผลว่า การกระทำของ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ เมื่อปี 2556 ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศแก่สถาบัน

-หากย้อนกลับไป เมื่อปี 2556 กล่าวได้ว่าสถาบันการศึกษา”เกือบทุกแห่ง”ในประเทศสนับสนุนการชุมนุมของกปปส. เหตุใดสถาบันการศึกษาเมื่อ 8 ปีที่แล้ว สนับสนุนการชุมนุมของกปปส. คงต้องถามองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯในสมัยนั้นว่า เกิดอะไรขึ้น

-ผมคิดว่า นักศึกษาที่ออกแถลงการณ์ขอโทษการกระทำของรุ่นพี่ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ตอนนั้น น่าจะกำลังเรียนมัธยมต้น หรือ อย่างดีก็น่าจะมัธยมปลาย จะจำได้หรือเปล่าว่า เมื่อปี 2556-2557 เกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย ปัญหาของประเทศไทย คือ คนรุ่นใหม่ไม่ศึกษาและไม่จดจำอดีต

เมื่อ 2-3 วันมานี้ก็ทำนองเดียวกัน คือ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ออกมาโพสต์ข้อความว่า “พฤษภาทมิฬ คือการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลเผด็จการของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หรือ พ่อของ “แดง” อดีตผบ.ทบ. เจ้าน้ำตา ปัจจุบันได้รับหน้าที่เป็นถึงองคมนตรี” กล่าวคือ สับสนไปหมด จับแพะ ชนแกะ ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไปไกลถึงขนาดจำผิดว่า พลเอกสุจินดา เป็นพ่อของพลเอกอภิรัชต์ ไปโน่น

-ปี 2556-2557 มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ เกิดขึ้น 2 เรื่อง ที่นำไปสู่การชุมนุมของกปปส. คือ การที่รัฐบาลชุดนั้นจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม  ที่เรียกว่าฉบับสุดซอย โดยนิรโทษกรรมความผิดทุกชนิดรวมทั้งการทุจริตของนักการเมืองด้วยและ รัฐบาลสมัยนั้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สว.กลับมาดำรงตำแหน่งได้ 2 สมัย

-ผมเกี่ยวข้องโดยตรง กับทั้ง 2 เหตุการณ์นั้น คือ เป็นกรรมการปรองดองและสมานฉันท์ของสภาผู้แทนราษฎรที่คัดค้านการนิรโทษกรรมคดีทุจริต และเป็นพยานต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย

-ผมว่า การชุมนุมคัดค้านการนิรโทษกรรมการทุจริตของนักการเมือง ไม่ว่า จะเป็นการชุมนุม ในปี 2556 หรือ ปี 2564 ก็เป็นการชุมนุมที่ควรสนับสนุนทั้งสิ้น

-ส่วนการชุมนุมที่เลยเถิดไปจนมีการยึดอำนาจนั้น เป็นคนละตอนกัน ขาดออกจากกันแล้ว ช่วงที่มีการยึดอำนาจ เมื่อ 22 พค.2557 ผมก็อยู่ในเหตุการณ์และผมก็ถูกควบคุมตัวไปขังด้วย ทั้งๆ ที่ผมไปร่วมประชุมเพื่อคลี่คลายสถานการณ์แท้ๆ แต่เอาเถอะ ถือว่า เป็นการถูกขังเพื่อชาติก็แล้วกัน

-ที่เขียนเล่ามาให้อ่านทั้งหมดนี่ เพราะเห็นว่า องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ เมื่อปี 2556 ได้เขียนประวัติศาสตร์ด้วยมือ แต่ครั้นปี 2564 ประวัติศาสตร์ได้ถูกลบด้วยเท้า จึงเป็นเรื่องการใช้เหตุผลของคนในยุคปัจจุบัน ตัดสินการกระทำของคนในอดีต อย่างนี้ แหละประวัติศาสตร์เมืองไทยจึงซ้ำรอยเดิมเสมอ เพราะคนรุ่นใหม่ไม่สนใจและไม่จดจำอดีต

นั่นเองเมื่อข้อความของนายนิพิฎฐ์ เผยแพร่ออกไปก็ทำให้มีคนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ทั้งเห็นด้วย และท้วงติง ทำให้เจ้าของโพสต์คือ นายนิพิฎฐ์ ต้องเข้ามาตอบคอมเมนต์เอง เช่น

“เห็นต่างครับ แน่นอนครับ มติครั้งนี้เป็นของคนรุ่นนี้ โหวตกันแบบประชาธิปไตย เป็นการแสดงออกของนิสิตกำลังศึกษาอยู่ ถามตอนนั้น เทียบตอนนี้ คนละคำตอบอยู่แล้ว กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงมันมีได้ทุกที่ครับ อยู่ที่ว่าปรับตัวได้แค่ไหน”

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นั่นสิ! แล้วเราไปตัดสินนิสิตนักศึกษารุ่นนั้น ว่า เขาทำผิดหรือครับ?

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ คนละตรรกกะกันครับ คงคุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว / คนไทย(ส่วนหนึ่ง) ตรรกะเพี้ยน บ้านเมืองเลยมีปัญหา

การชุมนุมทตามสิทธิเสรีภาพไม่มีปัญหา แต่การชุมนุมที่ผิดกฎหมายต้องมีคนรับผิดชอบ จะได้เป็นบรรทัดฐานต่อไป

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เรื่องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานแล้วนี่ครับ?