จากที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ต้องหาหลบหนีคดีตามความผิดมาตรา 112 ออกมาปล่อยข่าวลือเท็จ จนแนวร่วมออกมาขานรับเชื่อไป ยังปรากฏถึงแนวร่วมที่มีความคิดในทางลบกับสถาบันอีกด้วย โดยโยงไปถึงโรงงานผลิตวัคซีนที่สำคัญ
ทั้งนี้พบว่าเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 ช่วงเวลา 23.27 น. นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เคยเป็นนายทุนและผู้ร่วมก่อตั้ง ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก Thanapol Eawsakul ระบุว่า
“เห็นข่าวไฟไหม้เกิดขึ้นบ่อย ถ้าเกิดว่า โรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่จะผลิตวัคซีนโควิด-19 สูตรแอสตร้าเซนเนก้า ที่บางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เกิดไฟไหม้ขึ้นมา แล้วรัฐบาลไทยมี แผน 2 แผน 3 ไหมครับ”
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ในฐานะหลานของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร มอบหมายให้ นายสมผล ตระกูลรุ่ง ทนายความ ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อดำเนินคดีต่อ นายณัฐพล ใจจริง ผู้แต่งหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ และ หนังสือขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี จำเลยที่ 1 ,นางกุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จำเลยที่ 2, นายชัยธวัช ตุลาธน จำเลยที่ 3, น.ส.อัญชลี มณีโรจน์ หุ้นส่วนสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ห้างหุ้นส่วนจำกัดสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จำเลยที่ 4, นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จำเลยที่ 5 ในฐานความผิดละเมิดไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท
โดยจากกรณีที่ นายณัฐพล เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500)” และต่อมาได้จัดทำเป็นหนังสือชื่อ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” มีข้อความบางตอนที่โจทก์อ้างว่า บิดเบือนทำให้ได้รับความเสียหาย ทำลายชื่อเสียงของต้นราชสกุลรังสิต
ขณะเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมทนายความ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามกฎหมายอาญา ม.112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และหมิ่นประมาทฯ กรณีไลฟ์เฟซบุ๊กบรรยายหัวข้อ “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย” บนเพจคณะก้าวหน้าและเพจเฟซบุ๊กของนายธนาธร โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลที่มีความล่าช้า รวมถึงการผลิตวัคซีนของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์
สำหรับ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด มาจากพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงพระราชทานพระราชดำรัสเรื่องสุขภาพของประชาชน ด้วยทรงเห็นว่า ‘คน’ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาประเทศ สร้างความพอมี พอกิน และทรงให้ความสำคัญในการฟื้นฟูปัญหาสุขภาพของประชาชน เพื่อการพัฒนาประโยชน์สุขให้เกิดกับส่วนรวมและประเทศชาติ
บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2552 โดยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถือหุ้น 100% ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 บริษัทหลักคือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และบริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด
โดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จะดำเนินการวิจัย พัฒนา และผลิตยา เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ มีการวิจัยพัฒนาและผลิตครบวงจร ตั้งแต่ตัวยาสำคัญและสารออกฤทธิ์ จนถึง ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 หลังบริษัทวัคซีน AstraZeneca สำนักงานใหญ่ได้ยืนยันว่า วัคซีนของบริษัทที่ผลิตโดยบริษัทสยาม ไบโอไซเอนส์ ได้รับการรับรองจากห้องปฏิบัติการในยุโรปและสหรัฐฯ แล้ว
โดย เจมส์ ทีก ประธานบริษัท AstraZeneca (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในวันนี้ ผมมีหนึ่งเรื่องที่น่ายินดีมาแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า ตัวอย่างวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของ AstraZeneca ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณภาพจากห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ของ AstraZeneca ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้ว แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของเราที่จะส่งมอบวัคซีนป้องกัน COVID-19 ชุดแรกให้แก่รัฐบาลไทยเร็วๆนี้”