หากยังจำกันได้เมื่อช่วงดึกของวันที่ 18 มกราคม 2564 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้ไลฟ์สดทางเพจคณะก้าวหน้าในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทานฯ:ใครได้-ใครเสีย?” โดยพยายามโยงไปยังนายกฯและบริษัทสยามไบโอฯ เพื่อกระทบไปยังสถาบัน???
ทั้งนี้โดยบางช่วงที่นายธนาธร อ้างว่ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง, ทำไมประเทศไทยได้วัคซีนช้า, และทำไมรัฐบาลถึงจัดหาวัคซีนได้ไม่ครอบคลุมจำนวนประชากรที่เหมาะสม การที่คนไทยได้วัคซีนช้าและไม่ครอบคลุมจำนวนประชากร จะส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาประเทศในปี 2564 เป็นอย่างมาก หลายประเทศวันนี้เร่งมือฉีดวัคซีนให้กับประชากรแล้ว แต่การที่ประเทศไทยได้วัคซีนช้า ย่อมหมายถึงการเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ การเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน การเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าจากต่างประเทศเริ่มได้ล่าช้า และเพิ่มความเสี่ยงให้กับประชาชน ที่ยังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้
“โดยบริษัทเดียวที่ไทยฝากความหวังไว้ก็คือ AstraZeneca ซึ่งมีการจ้างบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทยก็คือ Siam Bioscience ไม่มีการเจรจากับบริษัทอื่นเพิ่ม จนเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา จึงมีการประกาศว่าได้มีการเจรจาซื้อวัคซีนเพิ่มกับ Sinovac ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก คือ 2 ล้านโดส เพียงพอสำหรับประชากร 1.5% เท่านั้น” นายธนาธร ระบุบางช่วง
ล่าสุดวันนี้ 9 พฤษภาคม 2564 นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้าวัคซีน ว่า “ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทย เริ่มต้นจาก โรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้เป็นสถานที่ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า
“จากนั้นในสัปดาห์ต่อมา วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ได้ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพตามเกณฑ์ข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์ อาทิ องค์ประกอบทางเคมีและความปลอดภัย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
และในวันนี้ ผมมีอีกหนึ่งเรื่องที่น่ายินดีมาแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า ตัวอย่างวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณภาพจากห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ของแอสตร้าเซนเนก้าทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้ว แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของเราที่จะส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชุดแรกให้แก่รัฐบาลไทยเร็ว ๆ นี้”
สำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าผ่านการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยทั้งในกระบวนการผลิตและการจัดส่ง โดยมีการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพวัคซีนในแต่ละรุ่นการผลิตรวมกันมากกว่า 60 ครั้ง นับตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตไปจนถึงการฉีดวัคซีน และมีการประกันคุณภาพอย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน แอสตร้าเซนเนก้าได้สร้างเครือข่ายการวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนที่ผลิตจากทุกแหล่งการผลิตของแอสตร้าเซนเนก้านั้นมีคุณภาพดีสม่ำเสมอตามมาตรฐานสากล
“แอสตร้าเซนเนก้ายังทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขในประเทศไทย เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของวัคซีนให้ตรงตามมาตรฐานและข้อกำหนดของประเทศไทย”
นอกจากนี้ นายเจมส์ ยังกล่าวอีกว่า เป้าหมายของแอสตร้าเซนเนก้าคือการส่งมอบวัคซีนที่มีมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยให้กับรัฐบาลไทยโดยเร็วที่สุด เรากำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิดเพื่อทยอยส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศไทย บริษัทฯตระหนักดีถึงความกังวลใจและคำถามต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับความปลอดภัยและความพร้อมในการจัดหาวัคซีน เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยและประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้สามารถต่อสู้กับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เลวร้ายนี้
“เรามีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามปณิธานของบริษัทในการนำความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ทำประโยชน์เพื่อสังคม โดยแอสตร้าเซนเนก้าจะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในการผลิตและกระจายวัคซีน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงในช่วงเวลาที่กำลังเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดนี้ โดยไม่หวังผลกำไร”
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงองค์การอนามัยโลก และการได้รับอนุมัติทะเบียนโดยองค์การอนามัยโลกนี้จะช่วยเร่งการเข้าถึงวัคซีนโดยผ่านกลไกการจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนของโครงการโคแวกซ์สำหรับ 142 ประเทศทั่วโลก
ผลการทดลองทางคลินิกในผู้เข้าร่วมการทดลอง 60,000 คนและข้อมูลการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าในประชากรหลายสิบล้านคนทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า ผู้รับวัคซีนสามารถทนต่อผลข้างเคียงของวัคซีนได้ดีและวัคซีนยังช่วยป้องกันอาการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ในทุกระดับความรุนแรง
หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพในสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป รวมไปถึงองค์การอนามัยโลกให้ข้อสรุปว่าประโยชน์ที่ได้รับจากวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้นมีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์”