ออมสิน-ธกส.-อาคารสงเคราะห์ลุยช่วยลูกหนี้กระอักพิษโควิด!?!งัด3มาตรการอุ้ม ขณะหอการค้าจับมือแบงก์พาณิชย์ออก “แซนด์บ็อกซ์” อุ้มเอสเอ็มอี

1816

ในช่วงเวลายากลำบากของการระบาดโควิดช-19 ระลอกใหม่ เกิดเรื่องสลดใจกับคนไทยทั้ง การถูกยึดทรัพย์ทอดตลาด การจนทางหาเงินใช้หนี้และถูกกดดันต้องฆ่าตัวตาย ทั้งหมดล้วนเกิดจากการต้องเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งจากหนี้ในระบบ และหนี้นอกระบบ เมื่อการทำมาหากินได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโรคร้าย ก็ซ้ำเติมให้ปัญหาหนักหนาสาหัสมากกว่าที่เป็นอยู่แต่เดิม ขณะที่รัฐบาลเตรียมออกมาตรการเยียวยาประชาชนให้เร็วที่สุด  ล่าสุดในส่วนของเจ้าหนี้ทั้งหลาย 3 ธนาคารของรัฐ ทั้งออมสิน-ธอส.-ธ.ก.ส.พร้อมใจช่วยเหลือลูกหนี้กระอักพิษโควิด-19 ต่างงัดทุกมาตรการแบ่งเบาภาระผ่อนชำระหนี้ พักหนี้ ทั้งเปิดสินเชื่อใหม่เสริมสภาพคล่อง ส่วนภาคเอกชนออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพื่อช่วยให้คนไทยก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

มาดูมาตรการที่แบงก์รัฐช่วยลูกหนี้ได้แก่

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่ผ่านมา จนถึงระลอกใหม่เมื่อเดือน เม.ย. ธนาคารได้ติดตามตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ของลูกหนี้สินเชื่อต่างๆอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือเยียวยาลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ โดยขณะนี้มีลูกหนี้จำนวนหนึ่งเริ่มผิดนัดชำระหนี้แล้ว จากลูกค้าทั้งหมดราว 500,000 บัญชี ซึ่งธนาคารจะเดินหน้าช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เพื่อประคับประคองไม่ให้ลูกหนี้ต้องเสียประวัติกลายเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) และจะเป็นปัญหาในการขอสินเชื่อ หรือทำธุรกรรมทางการเงินอื่นในอนาคต โดยหากลูกหนี้รายใดมีปัญหาผ่อนชำระหนี้ สามารถติดต่อธนาคารได้ เพื่อหาแนวทางแก้ไขหนี้ร่วมกัน

สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้จะให้สิทธิเฉพาะสินเชื่อบางประเภท ได้แก่ สินเชื่อเคหะ สินเชื่อไทรทอง สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา สินเชื่อสวัสดิการ และสินเชื่อธนาคารประชาชน โดยลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน และสถานะบัญชียังไม่เป็นเอ็นพีแอล สามารถเลือกเมนูบนแอปพลิเคชัน MyMo เพื่อเข้าร่วมมาตรการได้อัตโนมัติ โดยธนาคารจะพิจารณาแผนชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายตามความเหมาะสม และสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้เป็นรายบุคคล ขณะนี้มีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 100,000 ราย โดยลูกหนี้ สามารถเข้าร่วมโครงการผ่อนหนี้กับออมสินได้ตั้งแต่วันนี้-30 มิ.ย.64

 

ขณะที่นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส. ได้ออกมาตรการตามความเหมาะสมของลูกค้าและตามกำลังชำระหนี้ ซึ่ง ณ วันที่ 31 มี.ค.64 มีสินเชื่อคงค้าง 1,346,818 ล้านบาท คิดเป็น 1.59 ล้านบัญชี สำหรับมาตรการที่ ธอส.ช่วยเหลือลูกค้า เช่น มาตรการลดเงินงวดผ่อนชำระ ซึ่งจะตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ยให้เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระปัจจุบัน, มาตรการพักชำระเงินต้นและชำระเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน เป็นเวลา 1 ปี เป็นต้น ซึ่งลูกค้าแต่ละรายจะได้รับการช่วยเหลือตามยอดเงินกู้

ส่วนมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่ ที่เริ่มเมื่อเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งถือว่ารุนแรงนั้น ธอส.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และช่วยให้ลูกค้ายังผ่อนชำระต่อได้ตามความสามารถชำระหนี้

ด้านนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้ามาโดยตลอด ทั้งพักชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ผ่อนชำระได้ตามกำลังของลูกหนี้ โดยล่าสุด ธ.ก.ส.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทางการเกษตร หรือสินเชื่อฟื้นฟู มีวงเงินรวม 5,000 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองสหกรณ์ภาคการเกษตร และสหกรณ์นอกภาคการเกษตรที่ประกอบธุรกิจพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และบริการ เป็นต้น ยื่นกู้เพิ่มเติมได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อธุรกิจ แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท ส่วนกรณีลูกค้าใหม่ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อธุรกิจกับสถาบันการเงินทุกแห่ง กู้ได้ไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปีในช่วง 2 ปีแรกและปีต่อไป 4.875% ต่อปี กำหนดระยะเวลาชำระคืนภายใน 5 ปี

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ หรือพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท ซึ่งการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ ลูกค้ามีสิทธิ์ซื้อคืนได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี โดยทั้ง 2 มาตรการ สามารถยื่นเรื่องขอรับการช่วยเหลือได้ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 9 เม.ย.2566

สำหรับภาคธุรกิจ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.ซอฟต์โลน) ยังเป็นโครงการที่ธุรกิจหวังพึ่งพาได้ เพราะย้อนดูตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนตั้งแต่ปี 2563 วงเงินกว่า 5 แสนล้านบาท พบว่าสิ้นสุดโครงการวันที่ 15 มีนาคม 2564 มียอดอนุมัติสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก.นี้เพียง 1.33 แสนล้านบาท จำนวน 7.67 หมื่นรายเฉลี่ยได้รับเงิน 1.73 ล้านบาท/รายเท่านั้น สะท้อนความยากลำบากของผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

เมื่อต่อโครงการรอบ 2 รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูถึงปัญหาจึงทบทวนเงื่อนไขตอบโจทย์ปัญหาที่ได้รับมา ในแผนวงเงิน 3.5 แสนล้านบาทแบ่งออกเป็น 2 มาตรการ คือ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งก็ยังมีทั้งเสียงตอบรับและเสียงบ่นเข้าถึงสินเชื่อยังยาก โดยเฉพาะหลักฐานการเดินบัญชีและสถานะทางเครดิตบูโร ผู้ประกอบการหลายรายประสพปัญหา โดยเฉพาะรายเล็กมักไม่มีเงินเดินบัญชี และติดเครดิตบูโรหลังโควิด-19 ระบาดจึงไม่ได้รับอนุมัติ

ทางด้านหอการค้าไทย ได้พยายามหนุนโอกาสให้เอสเอ็มอีกู้ซอฟต์โลนได้มากขึ้น โดยใช้ “ใบสั่งซื้อสินค้า” เป็นหลักค้ำประกันในการยื่นขอสินเชื่อกับธนาคาร  ซึ่งผลตอบรับออกมาดีเกินคาด หลังหอการค้าเข้าเจรจาและนำเสนอแนวคิดกับสมาคมธนาคารไทย จนได้ข้อสรุป และเตรียมนำร่องปล่อยกู้กับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกโดยเรียกโครงการนี้ว่า “แซนด์บ็อกซ์ค้าปลีก”

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย ในฐานะรองประธานหอการค้าไทย ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ในโครงการแซนด์บ็อกซ์ค้าปลีก ว่า สมาคมค้าปลีกมีสมาชิกที่เป็นผู้ค้ารายใหญ่ เช่น ซีพี ออลล์ เดอะมอลล์ กรุ๊ป เซ็นทรัล กรุ๊ป เป็นต้น จัดทำรายชื่อสมาชิกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีค้าปลีกที่เป็นคู่ค้า ส่งให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณา ซึ่งสมาชิกในสมาคมที่เป็นคู่ค้าทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ประกอบการคู่ค้าเป็นอย่างไร โดยผู้ที่จะผ่านเกณฑ์ต้องมีประวัติที่ดี จากทุกภาคส่วนทำงานคู่กัน เมื่อรู้ว่าประวัติดีและความต้องการตรงกันก็จับคู่และธนาคารปล่อยสินเชื่อ ตามปกติแล้วการขอสินเชื่อต้องดูเรื่องเครดิตบูโร แต่ในมาตรการนี้ธนาคารไม่ต้องดูประวัติอื่นแล้ว ไม่มีการดูย้อนหลังประวัติเรื่องอื่น เพียงดูข้อมูลการค้าขายว่าเป็นอย่างไร มีการสั่งซื้อสินค้ากันอยู่จริง ส่วนนี้ช่วยได้มากว่ายังทำธุรกิจอยู่ ก็จะได้รับการพิจารณาเร็วขึ้น

ต้องติดตามกันต่อไปว่า มาตรการต่างๆที่เร่งออกมาจากภาครัฐและเอกชน จะบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเรื่องหนี้สินของคนเล็กคนน้อยและเศรษฐกิจฐานรากได้จริงหรือไม่ แม้จะเป็นการผ่อนหนักเป็นเบาในระยะสั้นก็ยังดีกว่าเมินเฉย สำหรับการแก้ปัญหารากฐานในระยะยาว ต้องอาศัยพลังความร่วมมือและความกล้าของผู้บริหารประเทศว่าจะแก้ปัญหาหนี้สินทุกระดับแบบไหน ให้ยั่งยืน!!