ในประเทศไทย วันแรงงานแห่งชาติ ถือเป็นวันหยุดของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ที่ครอบคลุมคนทำงานสาขาอาชีพต่างๆ ซึ่งรัฐบาลประกาศให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น วันแรงงานแห่งชาติ ประจำประเทศไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งในคุณภาพ ความเป็นอยู่ตลอดจนสิทธิอันชอบธรรมที่ผู้ใช้แรงงานสมควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง
“ค่าแรงขั้นต่ำ” ของไทย ปัจจุบันดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น จนเป็นอุปสรรคที่ทำให้ “แรงงานไทย” เข้าถึงโอกาสทางการเงินอื่นๆ ได้น้อยกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่มีต้นทุนเรื่องรายได้ที่มากกว่าและเมื่อเกิดวิกฤตก็ได้รับผลกระทบอย่างเร็วและรุนแรงกว่ากลุ่มอาชีพอื่นฟ
ปัจจุบันรัฐกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท – ป.ตรีเงินเดือน 2 หมื่น อาชีวะ 1.8 หมื่น – เด็กจบใหม่เว้นภาษี 5 ปี – เสนอเว้นภาษีออนไลน์ 2 ปี และลดภาษีบุคคลธรรมดา 10% หรือจะเป็นนโยบายมารดาประชารัฐ เงินช่วยเหลือระหว่างตั้งครรภ์ 3,000 บาทต่อเดือน – เงินค่าคลอดบุตร จำนวน 1 หมื่นบาท – ค่าเลี้ยงดูบุตร จำนวน 2 พันบาทต่อเดือน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ขวบ
ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดใหญ่ มาตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เมื่อเศรษฐกิจ รายได้การส่งออก การท่องเที่ยว ติดลบอย่างหนัก ส่งผลต่อเนื่องถึงแรงงานที่เกี่ยวของกับอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นลูกโซ่ เรียกว่าถึงวันนี้แรงงานคนใดยังมีงานทำ มีรายได้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ ก็นับว่าโชคดีมากแล้ว
สำหรับมาตรการดูแลภาคแรงงานของรัฐ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำลับดูแลของกระทรวงแรงงานนั้น
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ยืนยัน ในส่วนที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งรับผิดชอบผู้ประกันตนจำนวน 16 ล้านคนทั่วประเทศเปิดเผย ในเรื่องผลกระทบต่อภาคแรงงานจากโควิด-19 ระบาดว่า ที่ผ่านมาทางกระทรวงแรงงานได้ทำงานอย่างเต็มที่ ยืนยันว่ายังไม่พบเรื่องน่าหนักใจ หรือเรื่องร้องเรียนอะไร กับกลุ่มผู้ประกันตน ที่กระทรวงแรงงานดูแลอยู่ ล่าสุดได้สั่งสำนักงานประกันสังคม เร่งช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 จากประกาศ กทม.ปิดสถานที่ หรือสถานประกอบการปิดเป็นการชั่วคราว รับสิทธิว่างงานเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน
ในวันนี้ 1 พฤษภาคม 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงสังกัดกระทรวงแรงงาน ได้รับข้อเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2564 จากนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และนายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นำเสนอต่อรัฐบาล มีจำนวน 12 ข้อ และข้อเสนอเร่งด่วนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 จำนวน 10 ข้อ
ข้อเรียกร้องที่เสนอต่อรัฐบาล จำนวน 12 ข้อ ได้แก่
1.รัฐต้องจัดสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติ
2.รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน
3.รัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
4.รัฐต้องหยุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ และให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ
5.รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายการจำกัดอัตรากำลังบุคลากรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และยกเลิกนโยบายการลดสิทธิประโยชน์ สวัสดิการของพนักงานและครอบครัว
6.รัฐต้องกำหนดให้ลูกจ้างภาครัฐในหน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นรับค่าจ้างจากงบประมาณแผ่นดิน และต้องบรรจุเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างประจำ
7.รัฐต้องปฏิรูปการประกันสังคม
8.รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างคนงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย หรือจ่ายไม่ครบที่กฎหมายกำหนด
9.รัฐต้องจัดตั้งหองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน
10.รัฐต้องพัฒนากลไกเข้าถึงสิทธิและการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างจริงจัง
11.รัฐต้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง เช่น การจ้างงานแบบชั่วคราว
12.ข้อเสนอเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ
ในส่วนของภาคเอกชนได้สะท้อนปัญหาภาคแรงงานไทยและเสนอแนวคิดในการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ โดย นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่าแรงงานไทยกว่าร้อยละ 98 แบกหนี้บานหนี้ครัวเรือนพุ่งกว่า 2 แสนบาท ผลกระทบจากโควิดระบาด
ภาคแรงงานต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการมากสุด คือ กระตุ้นใช้จ่ายและฟื้นเศรษฐกิจ ลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และลดปัญหาค่าครองชีพ ผ่านมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง โดยแรงงานเห็นด้วยที่จะฉีดวัคซีนโดยเร็ว เร่งหยุดการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุดและทบทวนอัตราจ้างแรงงานขั้นต่ำเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจยังไม่พบสัญญาณการเลิกจ้าง
สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลภาคแรงงาน มีทั้งการเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำ การช่วยเหลือแรงงาน การดูแลปัญหาการว่างงาน การดูแลหนี้สินของแรงงาน และปัญหาค่าครองชีพ