สื่อสหรัฐประโคมข่าวเชฟรอน กำลังล็อบบี้บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกาให้ปกป้องผลประโยชน์ทางพลังงานของพวกเขาในพม่าระหว่างไตรมาสแรก ในขณะที่รัฐบาลของปธน.โจ ไบเดน ต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันหนักให้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมเล่นงานคณะรัฐประหารจับตาอเมริกาแก้เกี้ยวหรือเอาจริง
สำหรับเชฟรอน บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน เป็นหนึ่งใบรรดาบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติข้ามชาติที่ทุ่มลงทุนมหาศาลในความมั่งคั่งทางทรัพยากรพลังงานของพม่า ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของคณะผู้ปกครองทหารและผู้มีอิทธิพลในรัฐบาลสหรัฐด้วย
สำนักข่าวรอยเตอร์ส-นิวยอร์กไทมส์ อ้างแหล่งข่าวระบุว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2021 เชฟรอนใช้เงินไปแล้วกว่า 2,170,000 ล้านดอลลาร์สำหรับล็อบบี้รัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งการล็อบนี้ดังกล่าวรวมไปถึงหารือกับบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเหล่าเจ้าหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการค้า และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในประเด็นปัญหาในหลายๆ ประเทศ ในนั้นรวมถึงพม่า
ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของการหารือ และเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลของไบเดนยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวการล็อบบี้ดังกล่าว
รายงานข่าวระบุว่า เชฟรอนเคยล็อบบี้ในประเด็นพลังงานพม่ามานานแล้วในช่วงหลายปีก่อนหน้าที่กองทัพจะก่อรัฐประหารยึดอำนาจด้วยซ้ำ
เชฟรอนลงทุนมากมายในพม่า ในนั้นรวมถึงถือหุ้น 28.3% ในบ่อก๊าซธรรมชาติยาดานา และ 28.3% ในท่อลำเลียงน้ำมันที่ลำเลียงก๊าซจากพม่ามายังประเทศไทย
โฆษกของเชฟรอนปฏิเสธแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายละเอียดของการล็อบบี้กดดันมาตรการคว่ำบาตร แต่บอกว่าการปิดบ่อก๊าซธรรมชาติยาดานาจะก่อผลกระทบในทางลบต่อศักยภาพด้านการผลิตในอนาคตของทางบริษัทอย่างมหาศาล
ที่ผ่านมา บริษัทแห่งนี้ได้เปิดเผยตัวเลขการจ่ายเงินแก่รัฐบาลพม่าผ่านโครงการความโปร่งใสในอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรธรรมชาติ (Extractive Industries Transparency Initiative)
โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ธนาคารโลกร่วมมือกับชาติต่างๆ พัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสิ่งที่เรียกว่า “คำสาปทรัพยากร (Resource Curse)” คือภาวะที่ประชากรของประเทศซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือแร่ธาตุอื่นๆ กลับต้องอยู่เลวกินเลวเสียยิ่งกว่าประเทศที่ไม่ค่อยมีทรัพยากร ซึ่งจากการสืบสวนพบว่ามักมีสาเหตุมาจากการคอร์รัปชันในภาคพลังงาน เพราะนักการเมืองจะสวาปามเอารายได้จากการขุดเจาะทรัพยากรไปแทบทั้งหมด จนเหลือไม่พอมาพัฒนาประเทศ
จากข้อมูลของโครงการความโปร่งใสในอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรธรรมชาติ พบว่าเชฟรอนจ่ายเงินราวๆ 50 ล้านดอลลาร์แก่พม่า ระหว่างปี 2014 ถึง 2018
ข่าวคราวความเคลื่อนไหวล็อบบี้ปกป้องผลประโยชน์ทางพลังงานของเชฟรอน มีขึ้นในขณะที่บรรดากลุ่มสิทธิมนุษยชนทั้งหลายเรียกร้องเหล่าบริษัทข้ามชาติ ในนั้นรวมถึงเชฟรอน โททาล วู้ดไซด์ ปิโตรเลียม และอื่นๆ ให้ตัดความสัมพันธ์กับพม่า หลังจากกองทัพยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 จนถึงตอนนี้มีการประท้วง เกิดความรุนแรงและกวาดจับแกนนำ ส่งผลมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 750 คน
ขณะเดียวกัน ผู้สืบสวนด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้นานาชาติร่วมมือกันคว่ำบาตร MOGE บริษัทน้ำมันและก๊าซแห่งรัฐพม่า ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในบ่อก๊าซธรรมชาติยาดานาและสินทรัพย์อื่นๆ ของประเทศ เพื่อสกัดเส้นทางรายได้ของคณะรัฐประหาร ซึ่งอาจบีบให้บริษัทต่างๆ อย่างเช่น เชฟรอฟ ต้องถอนตัวจากการเป็นหุ้นส่วนในที่สุด
การปล่อยข่าวโดยสื่อหลักตะวันตก เป็นข้อน่าสังเกตุว่าหรือเชฟร่อนร่อแร่ใกล้ถูกเทหรือไม่ เพราะปีที่ผ่านมาสถานการณ์บริษัทยอบแยบหนักสุ่มเสี่ยงใกล้ล้มละลาย คงต้องจับตาดูต่อไปว่า กระแสการคัดค้านบริษัทพลังงานของสหรัฐ จะเป็นเกมแก้เกี้ยวหรือเอาจริง อย่างไรเสียเชื่อว่า การกดดันให้เชฟลอนถอนลงทุนน้ำมันไม่สะเทือนพม่า เพราะมีบริษัทด้านพลังงานก๊าซและน้ำมัน ทั้งของจีนและรัสเซียเงี่ยหูฟังอยู่