“นิพิฏฐ์” ติง “คนรุ่นใหม่” หากศึกษาประวัติศาสตร์ไทยอย่างลึกซึ้ง จะรู้ว่าต้องใช้ชีวิตของพระมหากษัตริย์เป็นเดิมพัน เพื่อสืบทอดดูแลรักษาแผ่นดิน จนมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “ความผิดพลาดของคนในยุคปัจจุบัน(ถ้าหากจะมี) ก็คือ ใช้เกณฑ์ของคนในยุคปัจจุบัน ตัดสินใจการกระทำของคนในอดีต เนื่องจากอาจไม่สนใจ หรือ ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เมื่อคนยุคโบราณตัดสินใจมารวมตัวกันเป็นสังคม เริ่มต้นก็ไม่มีใครเป็นผู้นำหรอก ต่างคนต่างใช้สิทธิตามธรรมชาติ(natural rights)ของตนเอง แต่เมื่อมีจำนวนมากขึ้นก็เริ่มทะเลาะกัน และใช้กำลังตัดสินกัน ในที่สุดก็ตกลงยกสิทธิในการทำร้ายและสิทธิในการฆ่า ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติ ให้เป็นสิทธิของบุคคลผู้ถืออำนาจสูงสุด เรียกว่าอำนาจแห่ง “รัฏฐาธิปัตย์ “ โดยหวังว่า ผู้ถืออำนาจนั้นจะใช้สิทธิอย่างเป็นธรรมในการปกป้องตน
ผู้ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์แทนมนุษย์ในสังคม เริ่มแรกก็มิได้มาจากการเลือกตั้งหรอก เริ่มจากมอบให้บุคคลที่แข็งแรง และมีกำลังมากที่สุดเป็นผู้ใช้อำนาจนั้น หากเกิดสงครามระหว่างเผ่าของมนุษย์ ผู้ที่แข็งแรงที่สุดก็จะเป็นผู้นำในการเข้าทำสงครามเพื่อปกป้องเผ่าพันธุ์ของตนเอง หากพ่ายแพ้ผู้นำก็ต้องสังเวยชีวิตในสงคราม
หลังจากใช้ผู้นำที่แข็งแรงที่สุด ก็ต้องเปลี่ยนผู้นำบ่อย เพื่อให้อำนาจของผู้นำยั่งยืน มนุษย์ในสังคมนั้นก็มอบอำนาจให้ผู้นำขึ้นเป็น “กษัตริย์” การมอบอำนาจให้ “ผู้นำ” เป็น”กษัตริย์” นั้น บางประเทศบางสังคมก็ไม่ง่าย เพราะผู้นำก็ไม่ยอมขึ้นเป็นกษัตริย์ เพราะการเป็นกษัตริย์มีหน้าที่ตามมาเยอะมากกว่าการเป็นผู้นำตามธรรมดา เรื่องเหล่านี้หากเราสนใจความเป็นมาของมนุษย์ ก็ไปศึกษาดูได้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
กล่าวโดยสรุป ชนเผ่าของมนุษย์ เริ่มการปกป้องรักษาเผ่าพันธุ์ด้วยการมอบอำนาจให้ “ผู้นำ” ต่อมาก็มอบให้ผู้นำเป็น “กษัตริย์” เป็นอย่างนี้เหมือนกันทุกเผ่าและทุกประเทศ
เมื่อเกิดสงคราม ชนเผ่าหรือประเทศนั้นจะแพ้หรือชนะ ดูที่ “ความตาย” ของผู้นำ หรือ กษัตริย์ หากผู้นำหรือกษัตริย์ตายหรือตกเป็นเชลยสงครามของชนเผ่านั้นก็พ่ายแพ้
ประวัติศาสตร์นี้ หลีกหนีไม่พ้นแม้ชนเผ่าของไทย สยามหรือไทย ในอดีตจะพ่ายแพ้สงครามกับเพื่อนบ้านหรือไม่ ดูที่ความตายของกษัตริย์ในสงคราม ประเทศเราก็ใช้ชีวิตของกษัตริย์เป็นเดิมพันในการสืบต่อประเทศมาจนถึงปัจจุบัน หากคนไทยยุคปัจจุบัน สนใจ และศึกษา กำเนิดแห่งชาติของตน ก็น่าจะดี.