ด่วน!!! อัยการสั่งไม่ฟ้องธนาธร คดีถือหุ้นสื่อ ชี้ไม่เจตนา ปกปิดไม่แจ้ง

11955

จากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พ้นสถานะความเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี กรณีถือครองหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ประกอบธุรกิจสื่อ ในวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562

ทั้งนี้หลังจากนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้ดำเนินการสอบสวนว่านายธนาธร กระทำผิดตามมาตรา 151 แห่ง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ หรือไม่ ก่อนจะส่งสำนวนไปยังพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อสืบสวนต่อ

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 นายธนาธร ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง โดยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนยืนยันว่า มีพยานหลักฐานชี้แจงชัดเจน และสามารถหักล้างข้อกล่าวหาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

สำหรับโทษตามมาตรา 151 แห่ง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ ดังกล่าว หากพบว่ามีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่น -2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

กระทั่งวันที่ 15 มกราคม 2564  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมา ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง นำตัวนายธนาธร พร้อมสำนวนเห็นควรสั่งฟ้องคดี มาส่งต่อพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ในข้อหารู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายธนาธรหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ขณะลงสมัครรับเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ดำเนินคดีอาญา

โดยนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวด้วยว่า เกี่ยวกับการส่งสำนวนในวันดังกล่าวว่า ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ และพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ได้นัดฟังคำสั่งคดีต่อไปในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.00 น.

อย่างไรก็ตามล่าสุด มีรายงานว่า พนักงานอัยการฯ ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องนายธนาธร โดยวินิจฉัยแล้วเห็นว่าไม่มีเจตนา ที่จะไม่แจ้ง หรือ ปกปิด การถือครองหุ้นสื่อ

กระนั้นหากย้อนไปดูคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย เรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎรของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากกรณีถือครองหุ้นสื่อ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9 : 0 รับพิจารณาคุณสมบัติ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีถือหุ้นสื่อ พร้อมมีมติ 8 : 1 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว

คดีนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)”

ต่อมาในวันที่ 4 กันยายน 2562 ธนาธร ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้เลิกคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ของเขา แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้ยกคำร้องไป และในวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้ไต่สวนพยานทั้ง 10 ปากซึ่งเป็นพยานของฝ่ายผู้ถูกร้องทั้งหมด

โดยศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดี ซึ่งคดีนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาสืบสวนและไต่สวนนาน 8 เดือน โดยศาลรัฐธรรมนูญมอบหมายให้ นายปัญญา อุดชาชน และ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย ในการอ่านคำวินิจฉัยสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง กกต. ยื่นคำร้องโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ กรณีนี้ผู้ถูกร้องอ้างว่ากกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการยื่นคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว

ประเด็นที่สอง กรณีผู้ถูกร้องอ้างว่า วี-ลัคมีเดียไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์นั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 กรณีที่ผู้ถูกร้องอ้างว่าได้ยกเลิกกิจการไป แต่ไม่ได้มีการแจ้งยกเลิก จึงอาจกลับมาประกอบการเมื่อใดก็ได้ บริษัท วี-ลัค จึงยังมีสถานะเป็นบริษัทอยู่แม้ในวันที่รับสมัคร สส.บัญชีรายชื่อ

ในส่วนที่ผู้ถูกร้องอ้างว่าได้มีการโอนหุ้นบริษัทวี-ลัคให้ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ แล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 ปรากฏตามตราสารการโอนหุ้นและมีการจ่ายค่าตอบแทนการโอนหุ้น ศาลเห็นว่าทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้น จดทะเบียนแจ้งต่อนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น (อบจ.5) ในระยะเวลาไม่นานเป็นปกติทุกครั้ง แต่การโอนหุ้นของผู้ถูกร้อง กลับไม่ปรากฏการจดแจ้งทะเบียนโดยเร็ว ทั้งที่เป็นหลักฐานสำคัญหากผู้ถูกร้องต้องการเข้าสู่การทำงานการเมือง ซึ่งผิดปกติ ส่วนกรณีอ้างว่าเนื่องจากบริษัทเลิกจ้างพนักงานไปแล้ว ไม่มีเจ้าหน้าที่บัญชี ทั้งที่การยื่นเอกสารสามารถทำได้โดยการยื่นแบบอิเล็กทรอนิกส์

ประเด็นที่สาม การจ่ายเช็คในวันที่ 8 มกราคม 2562 ซึ่งมักจะมีการเรียกเก็บเงินตามเช็คผิดปกติ เงินตั้งแต่ 2 ล้านขึ้นไปหลังจากที่ลงตามเช็ค แต่การขึ้นเช็คในกรณีนี้กลับใช้เวลาถึง 128 วัน ถ้อยคำดังกล่าวขัดแย้งกับหนังสือผู้ถูกร้องที่ชี้แจงต่อเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งที่สามารถนำเช็คไปขึ้นตามปกติ คำชี้แจงของผู้ถูกร้องไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ การโอนกลับไปมา จึงขัดกับวิสัยนักลงทุน

ส่วนกรณีนายธนาธร เดินทางกลับจากการหาเสียงในจังหวัดบุรีรัมย์ กลับมาโอนหุ้นที่บ้านเมื่อตอนเย็นวันที่ 8 มกราคม 2562 แม้จะฟังได้ว่ามาในวันดังกล่าวจริง ไม่ได้หมายความว่ามีการโอนเงินในวันดังกล่าวจริง ต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานอื่นๆ

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำวินิจฉัยให้ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ 23 พฤษภาคม 2562 ตามมาตรา 82 วรรค 2 และให้ถือว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 จนกระทั่งมาถึงวันที่ 19 มีนาคม 2564 พนักงานอัยการฯได้มีคำสั่งไม่ฟ้องนายธนาธร โดยเห็นว่าไม่มีเจตนา