ดัชนีเชื่อมั่นไทยเด้งรับมาตรการรัฐ!?! ผู้บริโภคเชื่อมั่น 47.5% ขณะภาคธุรกิจยืนเหนือ 50% ธปท.ชี้อีก 3 เดือนยังแรง

1587

อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและราคาพืชผลการเกษตรปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องส่งผลให้ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 2 เดือนติดกัน ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานผลชี้วัดความเชื่อมั่นผู้บริโภค สูงเกิน 50% ครั้งแรกในรอบ 2 ปี เป็นข่าวดีที่ยืนยันว่า รัฐบาลมาถูกทาง ในการดูแลประชาชนด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจจากมาตรการที่ช่วยถึงมือประชาชนโดยตรงอย่างคนละครึ่ง เราชนะ ม.33เรารักกัน เป็นต้น แม้มีสถานการณ์การระบาดโควิดคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้น ก็สามารถบริหารจัดการทางสาธารณสุขเป็นกรณีไป เพราะมีบทเรียนรับมือเชื้อโรคมาพอสมควร ถ้าร่วมมือกันดูแลตัวเอง การ์ดไม่ตกสามารถฟันฝ่าต่อไปได้แน่

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่น ผู้บริโภคโดยรวมในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ทุกภาค และทุกอาชีพ โดยเฉพาะในอนาคต ปรับขึ้นมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง เนื่องด้วยประชาชนเชื่อมั่นในมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจและราคาพืชผลการเกษตรดีขึ้นจากมาตรการเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และประชาชนมีความคาดหวัง ในแง่ดีต่อวัคซีน Covid-19

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมีนาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ ระดับ 47.5 เทียบกับระดับ 45.5 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 38.1 มาอยู่ที่ระดับ 40.2 และ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต พบว่า ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 50.4 มาอยู่ที่ระดับ 52.3

เมื่อจำแนกรายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากระดับ 46.1 มาอยู่ที่ระดับ 49.6 และภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 47.0 มาอยู่ที่ระดับ 48.5

เมื่อจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 45.8 มาอยู่ที่ระดับ 49.3 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ส่วนกลุ่มเกษตรกรปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 46.8 มาอยู่ที่ระดับ 47.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคา สินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และกลุ่มพนักงานของรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 51.4 มาอยู่ที่ระดับ 52.5 ซึ่งปรับตัวมาอยู่ในระดับเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส Covid-19 น้อยที่สุด

รมว.จุรินทร์ฯกล่าวว่า“ แนวโน้มความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มมั่นใจ ที่จะจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ซึ่งหากไม่มีสถานการณ์ปัญหาร้ายแรงอื่นเพิ่มเติม จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ เศรษฐกิจไทยค่อยๆฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องขึ้นเป็นลำดับ”

อีกด้านหนึ่งคือธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีข่าวดีมาบอก!

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (REPORT ON BUSINESS SENTIMENTINDEX) เดือนมีนาคม 2564 ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นจาก 45.6 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ 50.1 ซึ่งมากกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ตามการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบโดยเฉพาะด้านคำสั่งซื้อและการผลิต ความเชื่อมั่นในภาคการผลิตปรับดีขึ้นในเกือบทุกธุรกิจ ยกเว้นกลุ่มผลิตเหล็กที่ความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อลดลงมาก อีกทั้งความเชื่อมั่นด้านต้นทุนลดลงต่อเนื่องมาอยู่ในระดับต่ำคาดว่าเป็นผลจากราคาเหล็กที่สูงขึ้น

สำหรับภาคที่มิใช่การผลิต ในด้านบริการดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนว่า ภาวะธุรกิจยังคงไม่ดีนักโดยเฉพาะความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการของธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารที่ยังอยู่ในระดับต่ำมากแต่หากเทียบเดือนก่อน พบว่าปรับตัวดีขึ้นเป็นกลุ่มโลจิสติกส์ ค้าปลีก แม้กระทั่งโรงแรมและร้านอาหารกระเตื้องขึ้น เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการเราชนะและเรารักกัน เป็นต้น

สำหรับภาคที่มิใช่การผลิตโดยรวม ความเชื่อมั่นฯขึ้นมาอยู่สูงกว่าระดับ 50 ได้เป็นครั้งแรกหลังเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ จากความเชื่อมั่นของธุรกิจส่วนใหญ่ที่ดีขี้น ยกเว้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ดัชนีฯ ปรับลดลงและอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องสะท้อนถึงความกังวลว่าธุรกิจจะยังไม่ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับปัจจุบัน

ดัชนีความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 54.1 ตามดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นของเกือบทุกธุรกิจในภาคการผลิต ยกเว้นการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่ลดลง ตามความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศที่ลดลงมากจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดทำให้บางประเทศกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง