แกนนำพรรคซูจีรับลูกแผนล่าเมืองขึ้นสหรัฐ?!?ชูR2P ชักศึกเข้าบ้าน ร้องUN ส่งกำลังนานาชาติยึดพม่า-เดือดร้อนไทย?!

2102

ภาพผู้ประท้วงพม่าเรียกร้อง การคุ้มกันจากกองกำลังนานาชาติมีให้เห็นด้วยป้าย R2P มันเกิดขึ้นได้เพราะอะไร?

มารู้จักคำนี้กันก่อนว่า คำนี้ย่อมาจาก Responsibility to Protect (R2P หรือ RtoP) ซึ่งเป็นข้อตกลงนานาชาติที่ประกาศร่วมกันครั้ง ตั้งแต่ในงานประชุมสุดยอดโลก World Summit เมื่อปี 2005 เป็นข้อผูกพันของประเทศทั่วโลกในอันที่จะร่วมกันหาทางแก้ปัญหาที่คุกคามสังคมโลก 4 เรื่องใหญ่ คือ การสังหารหมู่ (Genocide อาชญากรรมสงคราม (War Crime) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Ethnic Cleansing) และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime against Humanity)

มาตรการของR2P มีตั้งแต่การไกล่เกลี่ย, กลไกการเตือน, คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและขั้นสูงสุดคือการใช้กำลังผ่าน “กองกำลังนานาชาติ” ซึ่งเป็นอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเท่านั้น มาตรการ R2P นี้มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่าง และสหรัฐก็เคยได้ใช้ในกรณีความวุ่นวายและเหตุรุนแรงที่ลิเบีย, ซีเรีย, ซูดานและเคนยาเป็นตัวอย่างมาแล้ว  

เหตุการณ์ส่อเค้าลางชัดที่สหประชาชาติ

นายจ่อ โม ทุน เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ กล่าวสุนทรพจน์เรียกร้องประชาคมโลกให้ช่วยฟื้นประชาธิปไตยในเมียนมา และชูสามนิ้วต่อต้านรัฐบาลกลางที่กองทัพสนับสนุน ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2564 และ ดร.ซา ซา ซึ่งมีเชื้อชาติคะฉิ่น ตำแหน่ง Chief Minister of Kachin State เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เข้าแทรกแซงเมียนมาด้วยหลักความรับผิดชอบเพื่อปกป้อง (R2P) จากนั้นได้มีการหารือกับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธต่างๆ เพื่อให้ร่วมมือกันโค่นอำนาจรัฐบาลกลาง จุดเริ่มต้นของการสร้างความชอบธรรมเข้าแทรกแซงเมียนมาด้วยมาตรการ R2P

เมื่อทางการพม่ากล่าวโทษแกนนำต่อต้านข้อหากบฏ โทษหนักถึงประหารฝ่ายต่อต้านประกาศให้ ผู้นำยึดอำนาจเป็นกลุ่มก่อการร้ายและถอดถอนรายชื่อกลุ่มชาติพันธุ์จากกลุ่มก่อการร้าย ด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ต่อมากลับประกาศเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงเผากฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

มาดูการเคลื่อนไหวต่อเนื่องที่น่าสังเกตุว่า ไม่ได้เป็นไปเอง ไม่ใช่บังเอิญแต่เป็นการเตรียมแผนอย่างเป็นระบบหรือไม่?

รัฐบาลกลางพม่าตั้งข้อหากบฏต่อแผ่นดิน แก่ มาน วิน ข่าย ถั่น อดีตประธานสภาสูง และหนึ่งในแกนนำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLDของซูจี ในความผิดฐานยอมรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ หรือ CRPH:Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw ซึ่งเป็นรัฐบาลคู่ขนานที่ต่อต้านรัฐบาลชุดปัจจุบัน ถือเป็นฐานความผิดก่อการกบฎ

มาน วิน ข่าย ถั่นและพวก ยังคงหลบซ่อนตัวพร้อมกับโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กประกาศเดินหน้าต่อต้านรัฐบาล และเรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐและกองกำลังความมั่นคงให้เข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้าน ขณะที่เขาถือเป็นบุคคลที่ 3 ที่ถูกตั้งข้อหากบฏต่อแผ่นดิน ก่อนหน้านี้คือ อู จ่อ โม ทุน ผู้แทนถาวรเมียนมาประจำสหประชาชาติ (UN) และ ดร.ซา ซา หรือ ซาไล หม่อง ไทน่ แซน ผู้แทนของ CRPH ประจำสหประชาชาติ ภายใต้กฎหมายอาญามาตรา 122 (1) ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต โดยรัฐบาลมียนมายื่นฟ้องดำเนินคดีต่อศาลแขวงในเมืองเมียวดี จากความผิดฐานกล่าวสุนทรพจน์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลคู่ขนาน ซึ่งถือเป็นศัตรูของประเทศ และเรียกร้องให้ล้มล้างสภาบริหารแห่งรัฐ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่คุมอำนาจบริหารกองทัพและรัฐบาลกลาง

การชุมนุมประท้วงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีศูนย์กลางการเคลื่อนไหวอยู่ที่ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เมียวดี เป็นหลัก ผู้ประท้วงชูป้ายรณรงค์เป็นระยะ เริ่มจากเรียกร้องให้ปล่อยตัวอองซาน ซูจีและพวก มาสู่การชูประเด็นสนับสนุน R2P ซึ่งพยามยามสื่อความหมายว่า กลุ่มผู้ประท้วงและประชาชนพม่าเห็นด้วยกับการที่สหประชาชาติจะใช้ข้ออ้าง R2P ยาตราทัพกองกำลังนานาชาติเข้ามาจัดการกองทัพพม่าใช่หรือไม่?

แต่แผนการนี้ล้มเหลวเพราะจีนและรัสเซีย สมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติคัดค้าน แม้แต่อินเดียและเวียดนามซึ่งไม่ใช่สมาชิกถาวร แต่มีสิทธิออกเสียงก็คัดค้านไม่เห็นด้วย เพราะถ้าลงมติเมื่อใดหมายความว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้เห็นกองทัพนานาชาติเข้ามาเป็นทางผ่านเพื่อบุกพม่าอย่างแน่นอน

ล่าสุดวันที่ 31 มี.ค.2564 มูลนิธิผู้นำระดับโลก (Global Leadership Foundation) ซึ่งเป็นกลุ่มของอดีตผู้นำหรือรัฐมนตรีอาวุโส 45 คน ซึ่งรวมถึงรัดด์อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์, เฮเลน คลาร์กและแกเร็ธ อีแวนส์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียได้เขียนจดหมายถึงอันโตนิโอกูเตอร์เรสเลขาธิการสหประชาชาติเพื่อโต้แย้งว่าโลกต้องมี “ ความรับผิดชอบในการปกป้อง” ชาวเมียนมา ซึ่งปักกิ่งโต้แย้งว่ามาตรการคว่ำบาตรหรือแรงกดดันจากนานาชาติมีแต่จะทำให้สถานการณ์ในเมียนมาเลวร้ายลง

น่าสังเกตไหมว่า คนไทยและทั่วโลกได้รับข่าวสารจากสื่อตะวันตกอย่างเป็นระบบทั้งสื่อหลักและโซเชียลมิเดียในการเคลื่อนไหวของของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกลางพม่า เสมือนหนึ่งว่าประชาชนพม่าทั้งมวลล้วนเห็นด้วยกับการที่อำนาจภายนอกเข้ามาแทรกแซง โดยไม่คิดว่าจะเกิดผลตามมากับประเทศชาติอย่างไร? การเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมไม่มีในรายงานข่าวสำนักใด จะมีหลุดมาให้เห็นก็หายไปอย่างรวดเร็ว ที่เหลือก็เป็นบทบาทสหรัฐและพันธมิตรที่เคลื่อนไหวประณามกดดันคว่ำบาตรพม่าอย่างต่อเนื่อง มีแต่จีน-รัสเซีย-กลุ่มอาเซียนมีท่าทีต่อปัญหาในพม่าอย่างระมัดระวัง เพราะอาจเจตนาของสหรัฐและตะวันตกออกว่าต้องการอะไร ภายใต้ข้ออ้างห่วงใยประชาชนพม่า

ความพยายามในการผลักดันแก้ปัญหาความขัดแย้งในพม่าด้วย R2P ยังไม่บรรลุผล การโหมกระพือว่า พม่าเป็นรัฐล้มเหลว ยังไม่สำเร็จเต็มร้อย จุดมุ่งหมายเพื่อให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติประณามและยกระดับกดดันขั้นสูงต่อพม่า ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสยกทัพกองกำลังนานาชาติสู่พม่ายังไม่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ประมาทไม่ได้

วันนี้ยังไม่สำเร็จ แต่การเคลื่อนไหวรุดหน้ามาก ท่ามกลางการปราบปรามกบฎในสายตาของกองทัพพม่าต่อ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ประกาศเป็นศัตรูกับรัฐบาลกลางพม่า ส่งผลการลี้ภัยเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดมีจำนวนกว่า 4,000 คน กระแสเสียงจากสื่อหลัก มหาอำนาจตะวันตกเรื่องค่ายอพยพ เรื่องกองกำลังสหประชาชาติ เพื่อระงับความรุนแรงและการเสียเลือดเนื้อดังขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับประเทศไทย การวางบทบาทด้านมนุษยธรรมไม่อาจปฏิเสธและเป็นสิ่งที่รัฐบาลเตรียมการไว้แล้ว แต่บทบาทการจัดสมดุลย์อำนาจระหว่างสหรัฐและจีน ก็ยังต้องระมัดระวังไม่ให้ก้าวเข้าสู่กับดักการแทรกแซงของชาติตะวันตกต่อพม่า โดยอาศัยดินแดนไทยเป็นทางผ่าน จะก้าวผ่านได้ราบรื่นเคียงข้างไปกับสมาชิกอาเซียนอย่างไร ต้องติดตามอย่าได้คลาดสายตา!