จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ ประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นที่ คณะวิจริตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังนักศึกษากลุ่มหนึ่งถูกเก็บผลงานศิลปะเสียดสีการเมืองลงถุงดำ จนเป็นเหตุให้อาจารย์คนหนึ่งออกมาตอบโต้อย่างรุนแรง
โดยในโลกโซเชียลฯ มีการพูดถึงดราม่าคณบดีและผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าไปรื้อเก็บงานศิลปะจัดวางของนักศึกษากลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาทาง คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยระบุว่า จากการตรวจสอบวัสดุอุปกรณ์งานศิลปะดังกล่าว พบวัสดุบางรายการที่หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย (ธงชาติ ไทยที่ถูกดัดแปลงและมีข้อความที่ไม่เหมาะสม) และไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใด และไม่มีผู้ใดรับเป็นเจ้าของ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อนักศึกษาและคณาจารย์ของคณะฯโดยรวม จึงได้เก็บรวบรวมวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมด เพื่อรอให้มารับคืนต่อไป
ทั้งนี้หนึ่งในวัสดุงานศิลปะที่ถูกเก็บไปคือ ธงชาติดัดแปลง และมีข้อความเรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผืนเดียวกันที่ปรากฎในม็อบที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 ที่สนามหญ้าหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยทราย อินทิรา เจริญปุระ ท่อน้ำเลี้ยงม็อบเอง ก็ได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมดังกล่าว
โดย นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการประวัติศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความถึงธงผืนดังกล่าว โดยระบุว่า
“เรียกร้องประชาธิปไตยหรือล้มเจ้า เอาให้แน่?
ธงชาติ คือสัญลักษณ์ของความเป็นชาติไทย สีน้ำเงินบนธงชาติ คือสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์
หากจะอ้างว่า ตนเองและพรรคพวกต้องการเรียกร้องประชาธิปไตย ทำไมต้องทำลายสัญลักษณ์อันหมายถึงชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์
หรือนี่คือการแสดงทางสัญลักษณ์ที่ต้องการประกาศว่าให้รับรู้ว่า เป้าหมายที่แท้จริงไม่ใช่การเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ต้องการทำลายชาติและโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์
ในพระราชนิพนธ์ “เครื่องหมายแห่งไตรรงค์” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ภายใต้พระนามแฝง “วรรณะสมิต” ตีพิมพ์ในนิตยสารดุสิตสมิต ฉบับพิเศษ สำหรับเป็นที่ระลึกในงานเฉลิมพระชนมพรรษา เล่มที่ 1 พ.ศ. 2461 หน้า 42 ได้นิยามความหมายของธงไตรรงค์ไว้ว่า
• สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ
• สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระรัตนตรัยและธรรมะอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา
• สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2479 รัฐบาลไทยจึงเริ่มจัดระเบียบการใช้ธงชาติขึ้นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก
ซึ่งต่อมา ก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับต่าง ๆ อีกหลายฉบับ โดยกำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ ต้องใช้ธงชาติสำหรับชักขึ้นและลงตามที่ราชการกำหนด รวมทั้ง ต้องประดับธงชาติไว้ ณ สถานที่อันสมควรเป็นการถาวรและสม่ำเสมอ
การเคารพธงชาติในปัจจุบันได้ยึดถือหลักการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศ ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 กล่าวคือ…
เมื่อมีการชักธงชาติขึ้นและลง ให้แสดงความเคารพโดยการยืนตรง หันไปทางเสาธง อาคาร หรือสถานที่ที่มีการชักธงชาติขึ้นและลง จนกว่าจะเสร็จการ
ในกรณีที่ได้ยินเพลงชาติหรือสัญญาณการชักธงชาติ จะเห็นหรือไม่เห็นการชักธงชาติก็ตาม ให้แสดงความเคารพโดยหยุดนิ่งในอาการสำรวม จนกว่าการชักธงชาติหรือเสียงเพลงชาติ หรือสัญญาณการชักธงชาติจะสิ้นสุดลง
• การกระทำอันไม่สมควรต่อธงชาติและบทกำหนดโทษ
ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 การกระทำต่อธงชาติโดยไม่ให้ความเคารพ มีดังนี้
การกระทำอันเป็นการเหยียดหยามต่อธงชาติ ได้แก่ การกระทำต่อธงชาติรูปจำลองของธงชาติ หรือแถบสีธงชาติ ด้วยเจตนาเหยียดหยามประเทศชาติ เช่น ฉีกทำลาย ถ่มน้ำลายรด ใช้เท้าเหยียบ วางเป็นผ้าเช็ดเท้า ซึ่งเป็นการแสดงความดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามชาติไทย
การกระทำที่ไม่สมควรต่อธงชาติ รูปจำลองของธงชาติ หรือแถบสีธงชาติ เช่น
การประดิษฐ์รูป ตัวอักษร ตัวเลข หรือเครื่องหมายอื่นในผืนธงรูปจำลองของธง หรือแถบสีของธง
การใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีของธงอันมีลักษณะตามข้อ (1)
การใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีของธงไว้ ณ สถานที่หรือวิธีอันไม่สมควร
การประดิษฐ์ธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงไว้ ณ ที่หรือสิ่งใด ๆ โดยไม่สมควร
แสดงหรือใช้สิ่งใด ๆ ที่มีรูปธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงอันมีลักษณะตามข้อ (4)
การกระทำการต่อธงชาติโดยไม่ให้ความเคารพมีความผิด ต้องระวางโทษตามกฎหมายดังนี้
กระทำการใด ๆ ต่อธงชาติหรือเครื่องหมายอื่นใด อันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 118)
กระทำการใด ๆ ต่อธงชาติ รูปจำลองของธงชาติ หรือแถบสีของธงชาติ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีข้อ 19.2 ข้างต้น (ข้อความดังกล่าวลอกมาจากพระราชบัญญัติธงอีกทีหนึ่ง) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 มาตรา 53)
ผู้ใดกระทำการกระทำใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการเหยียดหยามต่อธง รูปจำลองของธงชาติ หรือแถบสีของธงชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 มาตรา 54)”