“บีบีซี” ถือเป็นสำนักข่าวที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และตลอดกว่าศตวรรษที่ผ่านมาเคยได้รับการยอมรับในความเป็น “สื่อมวลชนมืออาชีพ” แม้จะเป็นที่รู้กันว่าสำนักข่าวแห่งนี้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอังกฤษ โดยเฉพาะด้านการต่างประเทศ ระยะหลังกลับแสดงตัวตนชัดเจน ในการรายงานเฉพาะเรื่องราวที่ตอบสนองต่อ นโยบายล่าอาณานิคมยุคใหม่ของมหาอำนาจตะวันตก พูดความจริงเพียงครึ่งเดียว บิดเบือนหรือไม่ก็ย้อมสีความผิดถูกให้เป็นไปตามมุมมองของตะวันตกฝ่ายเดียว ไม่ว่าในเมืองไทยหรือพม่า ดูผิวเผินเหมือนการทำหน้าที่สื่อโดยทั่วไป แต่ที่จริงมีวาระซ่อนเร้น
พฤติกรรมของสำนักข่าวบีบีซีไม่ใช่สื่อ แต่คือหน่วยงานปฏิบัติการข่าวของมหาอำนาจตะวันตก สหรัฐ-อังกฤษ แค่เปลี่ยนจากกระดาษเป็นดิจิทัลเท่านั้น ใช้โซเชียลมีเดีย ใช้เทคโนโลยีสื่อสารยุคใหม่ไปบรรลุเป้าหมายครอบงำความคิด จุดกระแสสถานการณ์ตามวาระเจ้านายใหญ่
การจับกุมผู้สื่อข่าวบีบีซี และสำนักอื่นๆในท้องถิ่นก็เป็นปฏิบัติการกวาดล้างฝ่ายต่อต้านของทางการเมียนมาซึ่งแน่นอนย่อมมีข้อมูลจากหน่วยความมั่นคงที่จับได้ไล่ทัน ขณะที่ประเทศไทยเองกรณีนักข่าวต่างชาติเข้าไปชักภาพสร้างเรื่องราวให้กับแกนนำสามกีบถึงในศาลก็เห็นอยู่ชัดเจนว่า มีวาระเตรียมการขยายผลอย่างเป็นระบบ เพียงแต่ถูกจับได้จึงขาดน้ำหนักความน่าเชื่อถือไป
วันนี้สถานการณ์ของเมียนมานับวันตึงเครียดหนักขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
ทางเลือกในการปฏิบ้ติการของรัฐบาลเฉพาะกาลเมียนมา ในการควบคุมสื่อเป็นไปอย่างฉับพลันทำให้อีกฝ่ายตั้งรับไม่ทันเมื่อวันศุกร์ที่ 19 มี.ค.2564ที่ผ่านมา สำนักข่าวบีบีซียืนยันว่านักข่าวชาวเมียนมาของบีบีซีภาษาพม่า “หายตัว”ติดต่อไม่ได้ หลังจากโดนกลุ่มชายในชุดพลเรือนพาตัวไป พร้อมกับนักข่าวเมียนมาของอีกสำนักข่าวหนึ่ง ขณะทำข่าวด้านนอกศาลในกรุงเนปิดอว์ช่วงเที่ยง
เรื่องนี้สำนักข่าวเอเอฟพีอ้างคำแถลงของบีบีซีที่เผยแพร่ทางทวิตเตอร์ว่า อ่อง ตูรา นักข่าวชาวเมียนมาของบีบีซีภาคภาษาพม่า “หายตัว” ไปไร้ร่องรอย หลังจากโดนกลุ่มชายที่ระบุตัวไม่ได้ พาตัวไปพร้อมกับนักข่าวชาวเมียนมาอีกคนที่ทำงานให้กับสื่อท้องถิ่น บีบีซีมีความกังวลอย่างยิ่ง และเรียกร้องเจ้าหน้าที่ทางการเมียนมาช่วยตามหาเขาและให้ยืนยันว่าเขาปลอดภัย
สำนักข่าวอิสระ มิสซิมา ของเมียนมา กล่าวเช่นกันว่านักข่าวของตนคนหนึ่งชื่อ ตาน เตียะ ออง โดน “จับกุม” ที่เนปยีดอเมื่อวันศุกร์ เขากำลังรายงานข่าวอยู่ด้วยกันกับนักข่าวของบีบีซีขณะถูกนำตัวไป
รายงานบีบีซีกล่าวว่า นับแต่ทหารยึดอำนาจ มีนักข่าวช่างภาพโดนจับกุมไปแล้ว 40 คน โดย 16 คนยังโดนคุมขังไว้ นอกจากนี้กองทัพยังยกเลิกใบอนุญาตของบริษัทผลิตสื่อ 5 แห่ง รวมถึงมิสซิมา และบุกตรวจค้นสำนักข่าวหลายแห่งในเวลาใกล้เคียงกันและก่อนหน้านี้
นักข่าวที่โดนควบคุมตัวรายหนึ่งคือเตน ซอ เป็นนักข่าวช่างภาพของสำนักข่าวเอพี โดนข้อหา “ก่อความหวาดกลัวโดยเผยแพร่ข่าวเท็จ และยุยงปลุกปั่นเจ้าพนักงานรัฐบาลและประชาชนทั้งทางตรงหรือทางอ้อม”
สัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลเฉพาะกาลเมียนมาเพิ่มมาตรการกดดันสื่อมวลชนอิสระหนักยิ่งขึ้น ด้วยการส่งทหาร ตำรวจบุกสำนักงาน Myanmar Now กลางนครย่างกุ้ง ยึดคอมพิวเตอร์ และเซิร์ฟเวอร์ แต่ไม่สามารถจับกุมสมาชิกกองบรรณาธิการ เนื่องจาก Myanmar Now ยุติการทำงานที่สำนักงานแห่งนี้ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม เพราะคาดการณ์ว่า กองทัพเมียนมาจะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลพลเรือน
เรื่องนี้ MRTV สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลกลางเมียนมา รายงานว่า รัฐบาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการสื่อมวลชน 5 แห่ง คือ DVB ,Mizzima, Khit Thit Media, Myanmar Now และ 7 Day News
สื่อมวลชนทั้ง 5 สำนักเป็นสื่ออิสระ รายงานข่าวการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและการ ปฏิบัติการกวาดจับฝ่ายต่อต้านของตำรวจ ทหารเมียนมา
สถานการณ์รุนแรงในเมียนมายังคงตึงเครียด สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่ามีคนเสียชีวิตอีกอย่างน้อย 8 คน ในเมืองอองบาน รัฐชาน และทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตนับแต่กองกำลังความมั่นคงใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 200 คนแล้ว
นครย่างกุ้งยังคงเป็นหนึ่งในจุดปะทะรุนแรงที่ทำให้รัฐบาลกลาง ประกาศกฎอัยการศึกใน 6 เขตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เอเอฟพีรายงานอ้างสื่อท้องถิ่นในวันศุกร์ว่า ผู้คนจำนวนมากพากันอพยพออกจากย่างกุ้งกลับบ้านในชนบท ทำให้ทางหลวงสายหลักเส้นออกจากย่างกุ้งทางทิศเหนือการจราจรติดขัด ชาวบ้านคนหนึ่งที่อยู่ใกล้กับเขตที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงยิงผู้ประท้วงตายหลายคนในสัปดาห์นี้บอกกับเอเอฟพีว่ารู้สึกไม่ปลอดภัยและบางคืนก็นอนไม่หลับ กลัวมากว่าเรื่องเลวร้ายจะเกิดตามมาเพราะที่ที่เธออยู่นั้นตึงเครียดมาก เจ้าหน้าที่จับกุมคนตามท้องถนน
ในด้านต่างประเทศล่าสุด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เรียกร้องจัดประชุมระดับสูงในประเด็นสถานการณ์ในเมียนมาแล้ว
เว็บไซต์ Straitstimes รายงานเมื่อ 21 มี.ค.2564 โดยอ้างแถลงการณ์ของ ตัน ศรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน นรม.มาเลเซีย เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในเมียนมา เมื่อ 19 มี.ค.64 ว่า การใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนที่ไม่มีอาวุธเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ มาเลเซียเรียกร้องให้ผู้นำกองทัพเมียนมาเปลี่ยนแนวทาง และเลือกหนทางสู่การแก้ไขปัญหาอย่างสันติผ่านการพูดคุยอย่างเปิดเผย จริงใจ และตรงไปตรงมา ซึ่งจะเป็นการเพิ่มบทบาทของอาเซียนในการช่วยเมียนมาหาทางออกจากวิกฤตในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม มาเลเซียและประชาคมอาเซียนไม่สามารถเห็นประเทศเพื่อนบ้านเมียนมาไม่มั่นคงด้วยการกระทำของคนบางกลุ่มที่พยายามจะส่งเสริมผลประโยชน์ของตนเองได้ ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าว เป็นการสนับสนุนประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซียที่เรียกร้อง ให้มีการฟื้นฟูประชาธิปไตยและยุติความรุนแรงในเมียนมา รวมทั้งเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนจัดการประชุมระดับสูงเพื่อหารือประเด็นในเมียนมา โดยจะเสนอต่อบรูไน ในฐานะประธานอาเซียนโดยเร็ว
ในส่วนของประเทศไทยได้เตรียมการรับผู้อพยพมาระยะหนึ่งแล้ว ดูแล้วไม่พ้นที่ประเทศไทยต้องมีบทบาทด้านมนุษยธรรมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
เอเอฟพีอ้างคำกล่าวของนายพงศ์รัตน์ ภิรมรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ด้วยว่า ทางการไทยกำลังเตรียมที่พักพิงไว้รองรับ หากมีผู้อพยพหนีความไม่สงบข้ามมาจากฝั่งเมียนมา โดยทางจังหวัดสามารถรองรับผู้อพยพข้ามแดนได้ระหว่าง 30,000-50,000 คน แต่เขายืนยันว่า ถึงขณะนี้ยังไม่มีชาวเมียนมาข้ามแดนมาแต่อย่างใด