ยังคงเป็นกระแสที่ถูกวิจารณ์ในขณะนี้ กับกรณีปรากฏภาพของ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำคณะราษฎร ขณะที่กำลังอยู่ในศาล โดยแสดงท่าทีไม่พอใจ ด้วยการลุกขึ้นพูดถึงศาล บอกว่าตนเองนั้นมีความอึดอัดอยู่ในใจ แต่ศาลไม่อนุญาตให้พูดในที่เปิดเผย กระทั่งมีเจ้าหน้าที่เข้ามาควบคุมตัวเพื่อให้เกิดความสงบ แต่ทว่ากลับเกิดความวุ่นวายขึ้น เพนกวินจึงประกาศความอึดอัดใจว่าเหตุใดศาลไม่ให้ประกันตัว
ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้น กลายเป็นเรื่องที่หลายคนตั้งข้อสังเกตเมื่อมีการเผยแพร่ภาพดังกล่าว โดยต่างวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเพนกวินว่า น่าจะมีการเตรียมการมาแล้ว โดยจุดประสงค์เพื่อทำลายศาล เพื่อเป็นการสร้างภาพให้เกิดความเข้าใจว่าศาลไม่มีความยุติธรรม นอกจากนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR), แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และเจ้าหน้าที่สถานทูตต่าง ๆ กว่า 14 ประเทศ สลับการเข้าร่วมฟังการพิจารณา ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายคนตั้งข้อสังเกตอีกว่า ใครเป็นผู้อนุญาตให้เข้าไปและใครเป็นคนเชิญบุคคลกลุ่มนี้เข้าห้องพิจารณาคดีในครั้งนี้ด้วย??? และยังมีภาพที่ นายแอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มารแชล (Andrew MacGregor Marshall) เอามาแชร์ต่อในโซเชียลฯ ด้วย
โดยจากประเด็นนี้เอง ทำให้นึกไปถึงแนวคิดของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในหนังสือ “Portrait ธนาธร” ที่ได้แสดงความเห็นเรื่องศาล ซึ่งค่อนข้างสอดรับกับนายพริษฐ์ ซึ่งระบุว่า การได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดในการลงสนามการเมืองครั้งนี้
ธนาธร กล่าวว่า “ยังกระดากปากนิดหน่อยที่ต้องพูดว่าอยากเป็นนายกรัฐมนตรี แต่มันก็โอเค ว่ากันตามบท และต้องย้ำว่าสิ่งที่เราอยากเห็นคือการเปลี่ยนแปลงประเทศ อันนี้ชัดเจน ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด เป้าหมายสูงสุดคือการเปลี่ยนแปลงประเทศ”
“ตำแหน่งที่ลิมิตสูงสุด…มีอำนาจมากพอที่จะไปต่อรอง…ทุกคนรู้ว่าสิ่งที่เราพูดไม่เป็นความจริง พูดง่ายๆ มันเป็นความจริงแค่ครึ่งเดียว เราถึงโดนฝ่ายก้าวหน้าด่า ถามว่าเรารู้มั้ย…มันก็รู้กันหมดแหละ ปัญหาคือใครจะทำยังไง เราคิดว่าวิธีการของเราคือต้องมีอำนาจ และต่อรอง”
คำถามว่าเป้าหมายสูงสุดของเขาคืออะไร ตำแหน่งที่มีลิมิตสูงสุดคืออะไร และใครที่เขาต้องการมีอำนาจมากพอที่จะไปต่อรองด้วย
“นี่ต่างหากคือเป้าหมาย ถ้าจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ เอาทหารออกจากการเมืองไม่ได้หรอก จัดการเรื่องนี้ไม่ได้ จัดการเรื่องศาลไม่ได้หรอก…ถามว่ารู้มั้ย รู้ แต่มันพูดไม่ได้ ยังมีข้อจำกัด”
“ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ใช่เป้าหมาย เป้าหมายคือเปลี่ยนแปลง”
ขณะที่ทางด้าน นายปิยบุตร แสงกนกกุล ก็ยังเคยพูดเรื่องดังกล่าว โดยนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ได้นำคลิปวิดีโอที่ระบุว่านายปิยบุตร กล่าวบรรยายที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ เริ่มตั้งแต่กรณีที่นายปิยบุตรไปพูดที่มหาวิทยาลัยลอนดอน เรื่อง “Thailand in a Deeper State of Crisis?” เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2559 กล่าวหาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ว่ามีอำนาจอิทธิพลเหนือผู้พิพากษา ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะพระราชดำรัสที่ตรัสต่อศาลในวันที่ 24 เม.ย. 2549 นั้น ในหลวง รัชกาลที่ 9 ไม่ได้สั่งการอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ต่อศาล และพระองค์ไม่เคยดำเนินการตามใจชอบนอกเหนือที่รัฐธรรมนูญกำหนด รวมถึงทรงย้ำว่าไม่เคยใช้อำนาจของพระองค์ ตามที่นายปิยบุตรบิดเบือน
นายถาวร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่ร่วมสมคบคิด ซึ่งเห็นได้จากคำพูดของนายธนาธรในหนังสือ “Portrait ธนาธร” ที่ถูกตีพิมพ์เมื่อเดือน พ.ย.2561 ระบุว่า “…วิธีการของเราคือต้องมีอำนาจและต่อรอง (กับ) ×××× นี่ต่างหากคือเป้าหมาย ถ้าจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ เอาทหารออกจากการเมืองไม่ได้หรอก จัดการเรื่องนี้ไม่ได้ จัดการเรื่องศาลไม่ได้หรอก” และนายธนาธรได้ไปพูดในงานวิชาการหลายแห่ง ซึ่งมีเนื้อหาตอกย้ำการปฏิรูปสถาบันฯ รวมถึงการที่นายธนาธรและนายปิยบุตรจัดตั้งพรรคการเมืองมาดำเนินการต่าง ๆ ที่พุ่งเป้าเรื่องสถาบันฯ ด้วย
ไม่เพียงเท่านั้นยังพบว่าวานนี้ (17 มี.ค. 2564) ที่หน้าศาลอาญา นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ ไบร์ท เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี พร้อมคนประมาณ 4-5 คน จัดกิจกรรมส่องไฟฉายเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร 8 คน ที่ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นสถาบันฯ และถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี
โดยนายชินวัตรได้อ่านคำแถลงที่นายพริษฐ์ แถลงต่อศาลขออดข้าวประท้วงจนกว่าจะได้สิทธิประกันตัว พร้อมกล่าวถึงการจัดกิจกรรมในวันนี้ว่า มาเป็นตัวแทนของเพื่อน ๆ ที่ถูกขังอยู่ในคุก ซึ่งการทำกิจกรรมนี้ ไม่ได้เน้นที่จำนวนคน แต่เน้นความจริง และต้องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าสิ่งที่เพื่อนเราถูกกระทำ มันชอบธรรมหรือไม่ ทั้งที่พวกเขายังไม่ถูกตัดสินว่าถูกหรือผิดแต่ถูกนำไปขังคุก และนำไปขังในแดนนรก ซึ่งคนคุกเข้าใจกันดีว่าต้องเป็นคดีฆ่า จี้ ปล้น ที่มีโทษประหาร ถึงจะถูกขังอยู่แดนนั้น วันนี้จึงมาส่องไฟฉายหาความยุติธรรมที่ศาลอาญา และจะมาใหม่อีกครั้งในวันที่ 19 มี.ค.
ขณะที่ทางด้าน นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังได้เปิดเผยว่า ศาลนัดพร้อมเพื่อตรวจหลักฐานคดีที่พนักงานอัยการคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล กับพวกรวม 18 คน มีการรวมสำนวนกับแกนนำที่ถูกฟ้องไปแล้วก่อนหน้านี้ 4 คน รวมจำเลยที่จะต้องมาศาลวันนี้ 22 คน
เรื่องนี้กลายเป็นที่จับตามองอย่างมากว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นจะสื่อสารอะไรถึงม็อบสามนิ้ว เนื่องจากพบว่าวันที่ 17 มี.ค. 2564 มีป้ายผุดขึ้นหลายจุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยการนำป้ายไปติดตั้งตามสะพานลอยหน้ากรมทหารราบที่1 ซึ่งป้ายดังกล่าวมีข้อความระบุว่า “กี่ศพแล้วที่ต้องตายในคุก” รวมถึงมีป้ายหน้าศาลฎีกา ซึ่งมีข้อความระบุว่า “วันเฉลิม ชูชีพ สยาม สุรชัย กฤษณะ” และมีป้ายผุดขึ้นหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยข้อความระบุว่า “ศาลไทยไม่มีความยุติธรรม” นอกจากนี้ยังมีการนัดรวมตัวหน้าศาลอาญา รัชดา
และเป็นที่น่าสังเกตว่าการกระทำดังกล่าวของนายพริษฐ์ เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขขอประกันตัวหรือไม่ อีกทั้งยังใช้กรณีดังกล่าวเพื่อเป็นการปลุกปั่น ยั่วยุให้ม็อบสามนิ้วใช้เคลื่อนไหวในขณะนี้ หลังจากที่ผ่านมามวลชนคนเข้าร่วมชุมนุมลดน้อยถอยลงไปอย่างมาก มีแค่หลักร้อยเท่านั้น จึงใช้โอกาสนี้หรือไม่??