ชำแหละชัด เหตุผล ฝ่ายค้านดิ้นพล่าน กลัว “รัฐธรรมนูญปราบโกง” เพราะคนขยะรัฐสภา อยู่ยาก?

1868

จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยรัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรกให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สองเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น

ต่อมาทางด้านพรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ต่อกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อน ว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

พร้อมบอกจุดยืนของพรรคว่า ไม่ว่าผลการออกเสียงประชามติจะเป็นอย่างไรนั้น สมาชิกรัฐสภาทุกคนย่อมยอมรับผลของกระบวนการประชามติที่เกิดขึ้น พรรคก้าวไกลหวังว่าสมาชิกรัฐสภาทุกท่านจะร่วมกันลงมติเห็นชอบต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพื่อส่งต่ออำนาจไปให้ประชาชนได้ลงประชามติเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่งต่ออนาคตให้ประชาชนได้กำหนดด้วยมือของพวกเขาเอง

และท้ายที่สุดนี้ พรรคก้าวไกลขอแสดงจุดยืนว่า เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นการแสดงถึงเจตจำนงของประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ซึ่งอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญนั้นเป็นอำนาจขั้นปฐมภูมิที่ไม่อาจถูกทัดทานด้วยเงื่อนไขใด ๆ หรือโดยองค์กรใด ๆ ที่มีศักดิ์ต่ำกว่าได้ หากการลงมติในวาระที่สามถูกคว่ำลงโดยเจตนาของสมาชิกรัฐสภาที่ไม่ต้องการให้ใช้กระบวนการทางรัฐสภาในการหาทางออกให้ประเทศ คณะรัฐมนตรีจะต้องผลักดันให้มีการจัดทำประชามติโดยเร็วที่สุด โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อถามประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญว่า

ประชาชนประสงค์จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่ โดยที่การจัดทำรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในครั้งนี้จะต้องไม่ถูกจำกัดมิให้จัดทำในเนื้อหาสาระใด ๆ ทั้งสิ้น หากไม่ดำเนินการเช่นนี้แล้วย่อมจะไม่เหลือทางออกให้กับประเทศผ่านกระบวนการการใช้อำนาจในวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญอีกเลย และหากรัฐสภาและสถาบันการเมืองในระบบทั้งหมด ยังคงประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการแสดงเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนอยู่เช่นนี้ อีกไม่นานประชาชนย่อมต้องเรียกร้องหาทางออกด้วยวิถีทางอื่นที่พ้นไปจากโซ่ตรวนของข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

สำหรับรัฐธรรมมนูญฉบับปี 2560 หรือ รธน.ปราบโกง นั้น เรียกได้ว่ามีจุดโหดที่ทำให้บรรดานักการเมือง ส.ส. ต้องคำนึงถึงการปฏิบัติตัวอย่างมาก แต่ก็มีข้อเสียรวมอยู่ด้วย ดังนั้นเราจะมาชำแหละเรื่องราวของรธน.ฉบับนี้อย่างละเอียด ว่าทำไมพรรคฝ่ายค้านถึงต้องดิ้นรนยื่นเรื่องอยากแก้ไขรธน.ฉบับนี้

กลายเป็นวาระสำคัญทางการเมืองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งกระบวนการในปี 2564 ถ้าจะเรียงตามขั้นตอนก็น่าจะเมื่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาผ่านวาระ 3 ก็ต้องมีการทำประชามติว่ารับรองวาระสามตามที่ผ่านการแก้ไขหรือไม่ จากนั้นก็มีกระบวนการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างใหม่…

การตั้ง ส.ส.ร. มีแนวโน้มจะเป็นไปตามร่างแก้ไขของรัฐบาลคือ มีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ 50 คน ตัวแทนจากการเลือกตั้ง 150 คน เข้ามายกร่าง เมื่อยกร่างเสร็จทำประชาพิจารณ์ ซึ่งคงจะมีความพยายามให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2564 รัฐธรรมนูญฉบับเรือแป๊ะก็คงจะมีอายุการใช้งานได้แค่ราว 4 ปี ซึ่งบางคนที่อ่านรัฐธรรมนูญ ( หรืออยู่ฝ่ายรัฐบาล ) เขาก็อาจมองว่า น่าเสียดายที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีกลไกในการปราบโกงดี น่าจะคงไว้

อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับ ส.ส.ร. ว่าจะคงสิ่งที่เป็น “กลไกปราบโกง” ที่ว่าไว้หรือไม่ ซึ่งก็มีคนพูดทำนองว่า มันไม่เห็นจะทำอะไรได้เท่าไร ขนาดเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรีที่คุณก็รู้ว่าใครเคยมีปัญหาต้องคดีอาญากรณีแป้งมันก็ยังทำงานต่อไปได้ แล้วที่มีประมวลจริยธรรม ก็ไม่เห็นจะจัดการส.ส.บางพวก ให้อยู่ในร่องในรอยได้ แถมยังเพิ่มคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแบบไม่ทันโลก

ไม่ทันโลกคืออะไร? เริ่มกันที่ข้อแรกก่อน คือ กระบวนการปราบโกงในรัฐธรรมนูญนี้เริ่มตั้งแต่การคัดกรองคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใน ม.98  เพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส.เพิ่มมากขึ้น เช่น ไม่เคยต้องคำพิพากษาฐานทุจริต ต้องไม่เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม อีกทั้งต้องไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน เป็นต้น และไปเพิ่มคุณสมบัติรัฐมนตรีใน ม.160

ม.160 บัญญัติให้คนเป็นรัฐมนตรี ต้องมี “ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”

รวมไปถึงการเข้าสู่อำนาจของนักการเมืองที่ติดดาบเพิ่มให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยให้สามารถลงโทษผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ทำผิดได้ 2 ช่วง คือ ก่อนประกาศผลเลือกตั้ง กกต.มีอำนาจแจกใบแดงชั่วคราวตาม ม.244 (4) และ 245 โดยหากกกต.มีหลักฐานอันเชื่อได้ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งมีส่วนรู้เห็นต่อการทุจริต ให้ กกต.ระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี

แต่ส่วนหลังประกาศผลเลือกตั้ง ถ้าพบว่าส.ส.ทุจริต ให้เป็นหน้าที่ของศาลฎีกาตามมาตรา 226 โดยเพิ่มการเพิกถอนสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งได้ถึง 10 ปี ส่วนเรื่องการถอดถอนนักการเมืองที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 82 นั้น ถ้า ส.ส.มีลักษณะต้องห้าม ให้ ส.ส.หรือ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกที่มีอยู่ของแต่ละสภา ร้องต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้

ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ คือกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ใช้บ้านพักหลวงหลังเกษียณอายุราชการ แต่ก็รอดด้วยระเบียบของกองทัพ นอกจากนี้ยังสามารถถอดถอนในเรื่องของการ “ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” หรือการฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของผู้ที่มาครอบงำพรรคตน ครอบงำพรรคการเมือง

มีเรื่องการใช้เงินงบประมาณ ตามมาตรา 144 ห้าม ส.ส., ส.ว.หรือกรรมาธิการ เสนอแปรญัตติหรือกระทำการใด ๆ ที่มีผลให้ตัวเองมีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่าย ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม  ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และ 50 ก็บัญญัติว่ามีโทษ แต่ของปี 60 ให้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยให้นักการเมืองคนดังกล่าวพ้นสภาพ และถอดถอนสิทธิเลือกตั้ง และหากพบว่า ครม.มีส่วนรู้เห็น ก็ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยให้ ครม.พ้นไปทั้งคณะได้

ในส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ยื่นเรื่องถอดถอนนักการเมืองที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงได้ โดยให้เสนอต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยตาม ม.235 (1) และยังมีอำนาจเดิมในการถอดถอนนักการเมืองที่มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ ทุจริต จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ที่สำคัญคือเรื่องการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงนี้เรายังไม่เห็นอะไรออกมาเป็นตัวแบบอย่าง

ทั้งนี้เมื่อครั้งที่คสช.ยึดอำนาจ ก็มีข้ออ้างในการตั้งข้อรังเกียจประชานิยมที่จะใช้เงินงบประมาณแผ่นดินโดยสุรุ่ยสุร่าย ก็มีการออกกฎหมายลูกให้มีการกำหนดเรื่องการเสนอโครงการเพื่อหาเสียงต้องมีที่มาของรายได้และรักษาวินัยการเงินการคลัง ในรัฐธรรมนูญ ม.62 ก็บัญญัติให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด ให้องค์กรอิสระเป็นผู้กำกับเรื่องวินัยการเงินการคลังของรัฐตาม ม.245 ประกอบกับ  ม.240 ให้ผู้ตรวจเงินแผ่นดินให้คำปรึกษา

และยังเสนอให้ผู้ตรวจเงินแผ่นดินเสนอการตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และอาจเกิดความเสียหายต่อวินัยการเงินการคลังอย่างร้ายแรง  ถ้าเห็นว่า มีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายสามารถหารือกับ กกต.และ ป.ป.ช. เพื่อมีหนังสือแจ้งไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และ ครม. เพื่อทราบและเปิดเผยต่อประชาชนเพื่อระงับยับยั้งการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นได้

นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญยังระบุให้ ส.ว.มีหน้าที่ติดตามการที่ครม.ต้องปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป ซึ่งถ้าไม่มีการปฏิบัติก็สามารถเอาผิดได้

และข้อดีในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่ค่อยจะมีใครพูดถึง เพราะมองแต่ข้อเสียไปเสียหมด ถ้าเรามองจุดเล็ก ๆในข้อดี จะพบว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ วางหลักการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ดี เด็ดขาด เช่น

1. การดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์กรอิสระ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญหรือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

2. การวางหลักการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ โดยเฉพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่วางหลักการควบคุม 2 ระยะ คือ ระยะแรกเมื่อร่างเสร็จส่งให้องค์กรที่เกี่ยวข้องพิจารณาว่ามีปัญหาอะไร ระยะที่ 2 ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ เป็นต้น