พม่าจลาจลปล้น-เผาโรงงานจีน?!?กลุ่มต่อต้านชูธงปฏิวัติ จับมือกลุ่มชาติพันธ์ุประกาศตั้ง “สหพันธรัฐประชาธิปไตย”

2999

สัญญาณสงครามเดือดระอุแน่แล้วที่เมียนมา เมื่อคืนนี้กองทัพประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ 2 เขตของนครย่างกุ้งแล้วตอนกลางดึกที่ผ่านมา หลังจากเกิดจลาจล การปะทะกันระหว่างทหารและกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างดุเดือด เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 21 คนในย่างกุ้ง ที่มัณฑะเลย์และพะโคอีก 39 คน รวมแล้วเสียชีวิตณ วันนี้ 140 คนแล้ว ขณะมีการปล้นและเผาโรงงานทอผ้าจีน 2 แห่ง ทำสถานทูตจีนต้องเร่งขอความคุ้มครองจากตำรวจด่วน

(ทางการเมียนมาประกาศกฏอัยการศึก:14 มี.ค.2564)

ทหารได้ใช้ปฎิบัติการกวาดล้างผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง รวมทั้งใช้กระสุนจริง หลังจากผู้ชุมนุมได้จุดไฟเผา และปล้นสะดมโรงงานทอผ้า 2 แห่งและโรงแรมของจีนนับสิบแห่ง ทำให้มีคนงานชาวจีนได้รับบาดเจ็บ และติดอยู่ด้านในหลายคน เนื่องจากผู้ชุมนุมเชื่อว่าจีนให้การสนับสนุนกองทัพเมียนมา สถานทูตจีนได้เรียกร้องให้กองทัพเร่งระงับเหตุรุนแรงและลงโทษผู้ก่อเหตุ 

การประกาศกฎอัยการศึกจะให้อำนาจรัฐบาลท้องถิ่นย่างกุ้งในการควบคุมสถานการณ์และรักษาความสงบได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีรายงานการปะทะที่เมืองมัณฑะเลย์และพะโค รวมมีผู้เสียชีวิตเฉพาะเมื่อวานนี้อย่างน้อย 39 คน มีทหารรวมอยู่ด้วยเนื่องจากถูกผู้ชุมนุมยิงก้อนหินเข้าใส่ นับเป็นเหตุนองเลือดที่สุดอีกวันหนึ่งของเมียนมา คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นอีก 

กรณีผู้ประท้วงจุดไฟเผาโรงงานจีนในย่างกุ้ง 2 แห่งเป็นหนึ่งในยุทธวิธียกระดับความรุนแรงของสงครามปฏิวัติ ที่วันนี้คืบคลานมาอย่างรวดเร็วในเมียนมา

โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของจีน 2 แห่ง ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา โดนจุดไฟเผาแล้ว  ขณะที่มีการประท้วงในตอนเย็นของวันอาทิตย์ที่ 14 มี.ค.2564 มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 5 ราย โดยโรงงาน 1 แห่ง มีเจ้าของเป็นคนจีน ขณะที่อีก 1 แห่งเป็นกิจการร่วมค้าระหว่างจีนและเมียนมา

สำนักข่าวซีจีทีเอ็นรายงานว่า มีกลุ่มคนมากกว่า 20 คนเข้าจุดไฟเผาโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า 2 แห่ง ที่เมืองย่างกุ้ง เมื่อช่วงเวลา 13:50 น. ตามเวลาท้องถิ่นเมียนมา

แหล่งข่าวระบุว่า ผู้ประท้วงได้ขับขี่มอเตอร์ไซต์มาตรงบริเวณโรงงาน พร้อมกับแท่งเหล็ก, ขวาน และน้ำมันเชื้อเพลิงแก๊สโซลีน ก่อนที่จะวางเพลิงตรงทางเข้า และโกดัง ก่อนหน้านี้ มีกลุ่มผู้ประท้วงบางส่วน นัดชุมนุมตรงบริเวณท่อส่งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับจีน พร้อมขู่ว่าจะเผาท่อส่งก๊าซของจีน  เพราะมองว่ารัฐบาลประเทศจีนสนับสนุนการยึดอำนาจของเมียนมาครั้งนี้ แต่ก็ไม่ได้ทำ แต่กลับมาเผาโรงงานทอผ้าแทน

นับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา สมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองเมียนมา (Assistance Association for Political Prisoners) รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมแล้วทั้งหมดเกิน กว่า 80 ราย และ มีผู้ประท้วงถูกจับกุมทั้งหมดเกือบ 2,100 คนแล้ว

เหตุการณ์เผาโรงงานนี้ทำสถานทูตจีนต้องเร่งขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเมียนมาจัดกำลังคุ้มครองทันที

ในวันที่ 15 มี.ค..2564 สำนักข่าวดิอิระวดี (The Irrawaddy) ของเมียนมาพาดหัวข่าวใหญ่ Chinese-Owned Factories on Fire While Myanmar Military Regime’s Protest Crackdowns Escalate เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2564 ระบุว่า สถานทูตจีนประจำเมียนมา เรียกร้องให้ตำรวจเมียนมาดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพกับบริษัทและบุคลากรของจีนในเมียนมา รวมถึงสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายก่อความรุนแรง นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ชาวเมียนมาแสดงความต้องการให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่หลงเชื่อคำยุยงปลุกปั่นที่บ่อนทำลายความร่วมมือที่เป็นมิตรระหว่างจีนกับเมียนมา

โรงงานสิ่งทอ 2 แห่งคือ Global Fashion และ Tsang Yihซึ่งลงทุนโดยชาวจีนแผ่นดินใหญ่และชาวไต้หวันตามลำดับ ภายในเขตอุตสาหกรรม Hlaing Tharyar ในเมืองย่างกุ้ง ถูกวางเพลิง ท่ามกลางสถานการณ์การประท้วงต่อต้านการรัฐประหารในเมียนมา โดย DICA ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลเมียนมา ระบุว่า Global Fashion จดทะเบียนบริษัทในปี 2561 ผู้ถือหุ้นเป็นชาวจีน 4 คนและเมียนมา 1 คน ขณะที่ Tsang Yih จดทะเบียนในปี 2557 ผู้ถือหุ้นเป็นชาวไต้หวัน 2 คน        

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า สาเหตุการเกิดเพลิงไหม้โรงงานทั้ง 2 แห่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่สำนักข่าว CGTN ของจีน รายงานว่า มีผู้พบเห็นโรงงานถูกเผาโดยคนร้ายประมาณ 20 คนที่ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะ มีขวาน ท่อนเหล็กและน้ำมันเบนซิน เข้าทำร้ายพนักงานรักษาความปลอดภัยก่อนจะจุดไฟเผาบริเวณทางเข้าโรงงานและโกดัง ด้านสถานทูตจีนประจำเมียนมา รายงานว่า วันที่ 14 มี.ค. 2564 มีโรงงานจีนหลายแห่งในเขตอุตสาหกรรม Hlaing Tharyar ถูกปล้นและถูกเผา มีพนักงานชาวจีนหลายคนได้รับบาดเจ็บและบางคนติดอยู่ในที่เกิดเหตุขณะเกิดเพลิงไหม้        

สำหรับสถานการณ์การชุมนุมประท้วงยังคงเคลื่อนไหวต่อเนื่อง และบานปลายมีการปะทะกันในทุกจุดประท้วงใหญ่ๆ

สำนักข่าวต่างประเทศ ได้รายงานว่าในเขต Hlaing Tharyar มีผู้ประท้วงเสียชีวิต 3 ราย ตำรวจและทหารได้รับบาดเจ็บ 5 นาย ผู้ชุมนุมจำนวนมากก็ยังคงออกมาเคลื่อนไหวรายวัน แม้สถานการณ์จะดูเลวร้ายลงไปทุกขณะ คลิปต่างๆถูกเผยแพร่ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงมีการยิงผู้ประท้วงหรือยิงใส่อาคารบ้านเรือนในละแวกการประท้วง ไปจนถึงคลิปตำรวจขอปืนจากทหารมายิง 

นายมาห์น วิน เกียง ทัน แกนนำของกลุ่มนักการเมืองพรรค NLD ของซูจีประกาศตั้งตัวเป็นรัฐบาลคู่ขนาน ชื่อกลุ่มปีดองซูลูตตอ หรือ“คณะกรรมาธิการตัวแทนรัฐสภาพม่า” (Committee Reptrsenting Pyidaungsu Hluttaw : CRPH) ได้เผยแพร่แถลงการณ์ผ่านคลิปวิดีโอ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ประกาศปลุกระดมว่าถึงเวลาที่พลเมืองจะเผชิญกับบททดสอบในการขัดขืนในห้วงเวลาอันมืดมน การปฏิวัติครั้งนี้เป็นโอกาสที่พี่น้องทุกชาติพันธุ์จะได้แสดงพลังร่วมกัน เพื่อสร้างประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ แม้ว่าในอดีตเราจะมีความขัดแย้งกัน แต่นี่คือเวลาแห่งโอกาสที่เราจะจับมือกัน และนำจุดจบมาสู่เผด็จการอย่างถาวร

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานด้วยว่า แม้กลุ่มปีดองซูลูตตอเคยออกแถลงการณ์หลายครั้ง แต่การชุมนุมในเมียนมาตลอดที่ผ่านมาเป็นแบบไร้แกนนำ ขณะที่กองทัพเมียนมาประกาศให้การจัดตั้งกลุ่มรัฐบาลคู่ขนาน ถือว่าเป็นความผิดทรยศต่อชาติ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 22 ปี     

วันเดียวกัน นายจอ โม ตุน เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ ผู้ถูกกองทัพสั่งปลดเมื่อปลายเดือน ก.พ. ได้กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ว่า ขอบคุณคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ที่ร่วมเป็นเอกฉันท์ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วง และเข้าใจว่าแต่ละประเทศมีท่าทีต่างกันออกไป ซึ่งจุดนี้อยากให้มีการจัดตั้งแนวร่วมของกลุ่มประเทศที่มีจุดยืนต่อต้านกองทัพเมียนมา เพื่อที่จะได้ช่วยกันตัดท่อน้ำเลี้ยงของรัฐบาลทหาร

การประกาศแตกหักครั้งนี้ได้รับแรงหนุนจากชาติตะวันตกอย่างเปิดเผย ทั้งมีการประกาศชื่อประธานาธิบดีรักษาการและ เรียกร้องให้ประชาชนเมียนมาต่อสู้เพื่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศเป็น สหพันธรัฐประชาธิปไตย อย่างนี้จะหลีกเลี่ยงสงครามนองเลือดคงจะยาก

สำนักข่าวบีบซีรายงานเมื่อ 14 มี.ค.64 ว่า นายอูมานวินไข่ตาน รักษาการประธานาธิบดีและสมาชิกคณะกรรมาธิการผู้แทนรัฐสภา (Committee for Representing Pyidaungsu Hluttaw–CRPH) ซึ่งสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ก่อตั้งเพื่อเตรียมปูทางสู่รัฐบาลพลัดถิ่น แถลงผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อ 13 มี.ค.64 เรียกร้องให้ประชาชนเมียนมาทุกชาติพันธุ์อดทนและร่วมกันต่อสู้กับกองทัพเมียนมาเพื่อปฏิวัติประเทศสู่การจัดตั้งสหพันธรัฐประชาธิปไตย (Federal Democracy) ทั้งนี้ CRPH อยู่ระหว่างการร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนจากการกวาดล้างของกองทัพ

เหตุการณ์ตึงเครียดขั้นสูงเช่นนี้ ทำให้ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครองของไทยเตรียมการรับมืออย่างเต็มที่ โดยเร่ง เตรียมความพร้อมสถานที่รองรับผู้อพยพชาวเมียนมาใน 5 จังหวัดได้แก่ จ.ตาก, จ.เชียงราย, จ.ประจวบคีรีขันธ์, จ.ราชบุรี, จ.ชุมพร และจ.ระนอง