ไทยวางตำแหน่ง ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน นรม.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจับมืออาเซียนพัฒนาแน่นแฟ้นและยั่งยืน พร้อมเสนอปฏิญญาว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ฯ

1873

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่จะจัดขึ้นครี้งที่ 36 โดยวีดีโอคอนเฟอร์เร้นซ์ ทั้งนี้สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นประธาน ในวันที่ 26 มิถุนายน 2563 นี้ เป็นการแสดงจุดยืน และบทบาทของประเทศไทยในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านซึ่งล้วนเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เป็นความหวังของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของโลก ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้แสดงวิสัยทัศน์ว่าด้วย “อาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง ก้าวข้ามความท้าทาย และเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน” และเสนอ “ปฏิญญาว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป”

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 มิถุนายน 2563 ว่า ครม.เห็นชอบร่างเอกสารที่จะมีการลงนามหรือรับรองในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 36 โดยมีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นประธานอาเซียน ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน 2563 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ซึ่งมีเอกสาร 2 ฉบับคือ

เนื้อหาวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง: ก้าวข้ามความท้าทายและเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน (ASEAN Leader’s Vision Statement on a Cohesive and Responsive ASEAN: Rising Above Challenges and Sustaining Growth) มีสาระคือ เน้นเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่แน่นแฟ้นและเป็นเอกภาพในทุกมิติ เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เช่น ภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และผลกระทบจากโรคโควิด-19 เป็นต้น

2.ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน (ASEAN Declaration on Human Resources Development for the Changing World of Work) ประกอบด้วยมาตรการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาทิ 1)การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดช่วงวัย 2)การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและโอกาสการจ้างงานของสตรี คนพิการ และผู้สูงอายุ 3)การใช้ประโยชน์จากการอาชีวศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงงานที่มีคุณค่า และ 4)การเพิ่มบทบาทของภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษาในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและการฝึกงาน เป็นต้น“อาเซียนยังคงมีความมุ่งมั่นร่วมกันในการสร้างความสามัคคีและความร่วมมือภายในประเทศสมาชิกอาเซียนและภาคีภายนอก เพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 อีกทั้งแนวคิดที่ว่าด้วย “อาเซียนที่แน่นแฟ้นและการตอบสนอง” จะนำไปสู่ประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อความท้าทายต่างๆ ที่ประเทศอาเซียนต้องเผชิญ” นางสาวรัชดากล่าว

ในการประชุมผู้นำอาเซียนนายกรัฐมนตรีจะกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมฯ เพื่อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนอาเซียนในยุคหลังโควิด-19 โดยจะเสนอแนะ 3 แนวทาง ขับเคลื่อนอาเซียน ได้แก่

1) การส่งเสริมให้อาเซียนกลับมาเชื่อมโยงกันอย่างแท้จริง ด้วยการเร่งดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน 2025

2) สนับสนุนให้อาเซียนสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยเน้นการขับเคลื่อนการบูรณาการทางเศรษฐกิจ รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

3) ส่งเสริมให้อาเซียนสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาว โดยจัดทำแผนฟื้นฟูภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เน้นความยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งครอบคลุมถึงความมั่นคงทางสาธารณสุข อาหาร และความมั่นคงของมนุษย์ และเสนอให้อาเซียนพิจารณาใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการสร้างภูมิคุ้มกันควบคู่กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยในการประชุมครั้งนี้ นอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน นายกรัฐมนตรีจะร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษ เรื่องการส่งเสริมศักยภาพสตรี และการหารือกับผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ สมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly: AIPA) เยาวชนอาเซียน (ASEAN Youth) และสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ASEAN-BAC) อีกด้วย

………………………………………………