แฉเบื้องลึกไบเดนคุยตรงกษัตริย์ซัลมาน?!? ไม่ผ่านมกุฏราชกุมารโมฮัมเหม็ด บินซัลมาน ประกาศปรับสัมพันธ์สหรัฐฯซาอุดิอาระเบีย

2110

รัชทายาทโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดิอาระเบีย ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในประเทศซาอุดิอาระเบียและสนิทสนมกับทรัมป์และลูกเขยออกนอกหน้าตลอดมาเจอดีเข้าแล้ว เมื่อประธานาธิบดีโจไบเดนเถลิงอำนาจ จึงออกหมัดหักหน้าสั่งสอน ขอคุยตรงกับกษัตริย์ซัลมานและนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูแห่งอิสราเอล ประธานาธิบดีไบเดนกำไพ่ตายเรื่องกรณีฆาตกรรมนักหนังสือพิมพ์ชาวซาอุฯ ‘จามาล คาช็อกกี’ เมื่อปี 2018 ใช้บีบซาอุฯต้องอยู่ในฐานะบริวารเอาใจออกห่างจะต้องถูกลงโทษกดดัน  จับตานโยบายต่างประเทศของไบเดนตั้งเป้าสร้างรัฐบาลประชาธิปไตยหุ่นเชิด ด้วยการเชิดชูสิทธิมนุษยชน หนุนอำนาจสหรัฐต้านอิทธิพลจีน

เมื่อวานนี้ วันที่ 16 ก.พ.2564  นางเจน ซากี โฆษกหญิงทำเนียบขาวแถลงถึงการปรับนโยบายครั้งสำคัญของสหรัฐฯ จากเดิมที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ เจ้าชายโมฮัมเหม็ดผ่านทาง เจเร็ด คุชเนอร์ บุตรเขยและที่ปรึกษาคนสนิท

ซากี บอกกับสื่อมวลชนว่า “เราได้บอกชัดเจนไปตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะมีการปรับรูปแบบความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียใหม่”

ในขณะที่ส่งสัญญาณหักหน้ามกุฎราชกุมารซาอุฯ สหรัฐฯก็เริ่มที่จะผ่อนคลายบรรยากาศอึมครึมในส่วนของความสัมพันธ์กับอิสราเอล โดยโฆษกทำเนียบขาวยืนยันว่า ปธน.ไบเดน จะต่อสายตรงเพื่อพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู เร็วๆ นี้

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หรือที่คนมักจะเรียกพระนามโดยย่อว่า MbS นั้น ทรงเป็นรัชทายาทลำดับที่ 1 ของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานวัย 85 พรรษา และตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ทรงรับหน้าที่ดูแลกิจการบ้านเมืองเสมือนผู้ปกครองโดยพฤตินัยของซาอุฯ อยู่แล้ว กระทั่งมาเกิดเหตุฆาตกรรมนักหนังสือพิมพ์ชาวซาอุฯ ‘จามาล คาช็อกกี’ เมื่อปี 2018 ซึ่งทำให้พระเกียรติยศเสื่อมถอยลงมากในสายตานานาชาติ

ทำเนียบขาวในยุคของ ไบเดน พยายามกดดันซาอุฯ ให้แก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน รวมถึงปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีและนักโทษการเมืองอื่นๆ ที่ถูกคุมขัง แตกต่างจากรัฐบาล ทรัมป์ ที่แสวงหาความร่วมมือหลายด้านกับริยาด ผ่านทางเจ้าชายพระองค์นี้ ซึ่งรวมถึงการคลี่คลายความบาดหมางระหว่างกาตาร์กับเพื่อนบ้านริมอ่าวเปอร์เซีย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ไบเดน จะยังเจรจากับเจ้าชายโมฮัมเหม็ดอยู่หรือไม่ โฆษกทำเนียบขาวก็ตอบว่า “สหรัฐฯจะใช้รูปแบบการปฏิสัมพันธ์ ระหว่างบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งเทียบเท่ากัน (counterpart to counterpart engagement)” “ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งเทียบเท่ากับประธานาธิบดีก็คือสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน และดิฉันเชื่อว่าประธานาธิบดีคงจะได้หารือกับพระองค์ในเวลาที่เหมาะสม แต่ยังไม่สามารถให้กรอบเวลาที่ชัดเจนได้”

นอกจากนี้ซากี ยังระบุด้วยว่า ซาอุดีอาระเบียมีความจำเป็นในด้านการป้องกันประเทศสูงมาก และสหรัฐฯ ยังพร้อมที่จะทำงานร่วมกับริยาดในด้านนี้ “แม้จะมีอีกหลายประเด็นที่เราแสดงออกชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยและรู้สึกกังวลก็ตาม”

โฆษกหญิงทำเนียบขาวยืนยันว่า เนทันยาฮู จะเป็นผู้นำคนแรกในตะวันออกกลางที่ได้รับสายจากไบเดน และการพูดคุยจะมีขึ้นเร็วๆ นี้ หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่าการที่ ไบเดน ทำเฉยเมยไม่รีบติดต่อ เนทันยาฮู หลังสาบานตนรับตำแหน่ง เท่ากับหักหน้าอิสราเอลซึ่งเป็นชาติพันธมิตรเบอร์หนึ่งของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง

โฆษกหญิงกล่าวว่า “แน่นอนว่าอิสราเอลคือพันธมิตรของเรา อิสราเอลเป็นประเทศที่เรามีความสัมพันธ์ในด้านความมั่งคงทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญมาก และทีมงานของเราพร้อมจะมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาอย่างเต็มที่ แม้จะยังไม่ใช่ระดับผู้นำรัฐ แต่ก็จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้แน่นอน”

ในสมัยของอดีตปธน.บารัค โอบามา และโจ ไบเดน ขณะดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ เขาได้เคยพบกับเจ้าชาย ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ ซึ่งปัจจุบนนี้คือสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน กษัตริย์แห่งซาอุดิอาระเบีย เนื่องในโอกาสร่วมพิธีพระศพมกุฎราชกุมาร สุลต่าน บิน อับดุลอาซิซ อัล-สะอูด เมื่อปี 2011 จึงไม่ใช่เรื่องยากที่เขาจะสานสัมพันธ์ใหม่กับสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน

มกุฎราชกุมารเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานเป็นผู้อิทธิพลและบทบาทอย่างมากในสมัยที่สหรัฐมีอดีตปธน.ทรัมป์กุมบังเหียนอยู่ เจ้าชายคือพลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลังสถาบันกษัตริย์และวิสัยทัศน์ที่กำหนดอนาคตของซาอุดิอาระเบีย แต่ยุคนี้ปธน.โจ ไบเดนคือตัวแทนยุทธศาสตร์ของพรรคเดโมแครตซึ่งไม่พอใจบทบาทของเจ้าชายฯอย่างมาก

แต่สิ่งที่ประธานาธิบดีไบเดนต้องการอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่จะอยากคุยกับใคร หรือต้องการปรามทางการทูตเท่านั้น  นโยบายต่างประเทศของปธน.ไบเดนได้บ่งบอกจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ภายใต้การเคลื่อนไหวทางการทูตที่นุ่มนวลปต่เต็มไปด้วยจุดยืนที่แข็งกร้าว ว่าต้องเลือกข้างโลเลไม่ได้ ถ้าไม่เลือกสหรัฐถือเป็นศัตรูสะท้อนจาก แก่นสำคัญของสุนทรพจน์เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีไบเดน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาคือการรักษาสิทธิมนุษยชนและการรวบรวมพันธมิตรร่วมต่อสู้ศัตรู ผลักดันจุดมุ่งหมายสูงสุดการเป็นผู้นำเดี่ยวครอบโลกของสหรัฐ

“การปกป้องเสรีภาพคือโอกาสในการเป็นแชมป์ การสนับสนุนสิทธิมนุษยชนสากลเคารพหลักนิติธรรมและปฏิบัติต่อทุกคนอย่างมีศักดิ์ศรี คือรากฐานของนโยบายต่างประเทศของเรา นับเป็นพลังระดับโลกของเรา และคือแหล่งที่มาของความแข็งแกร่งที่ไม่สิ้นสุดของเรา” ปธน.ไบเดนได้กล่าวในการแถลงข่าวประกาศนโยบายต่างประเทศ

ด้วยความเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของสหรัฐฯดังกล่าว ปธน.ไบเดนจึงวางแผนที่จะใช้ประโยชน์จากความช่วยเหลือของพันธมิตรให้มากที่สุด เพื่อควบคุมจีนซึ่งเป็นผู้ท้าชิงอิทธิพลทั่วโลกรายใหญ่ที่สุดในช่วงเวลานี้

ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่า “เราจะเผชิญหน้ากับการละเมิดทางเศรษฐกิจของจีน ตอบโต้การกระทำที่ก้าวร้าวและบีบบังคับ  เพื่อผลักดันการโจมตีของจีนในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญาและการกำกับดูแลทั่วโลก” 

ตามที่เควิน รัดด์ อดีตนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียระบุไว้ในบทความการต่างประเทศเมื่อเร็ว ๆนี้ว่า ประธานาธิบดีไบเดนจะใช้ “การประชุมสุดยอดประชาธิปไตย” ของเขาในปีนี้ เพื่อมุ่งเน้นไปที่ประเด็นการละเมิดชาวมุสลิมอุยกูร์ของจีน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ เพื่อพยายามลดอำนาจที่เพิ่มขึ้นของปักกิ่ง

ซึ่งจีนคาดการณ์ได้ว่าในไม่ช้า สหรัฐอาจพยายามจัดตั้ง รัฐบาลผสมของประเทศต่างๆทั่วโลกในรูปแบบทุนนิยมประชาธิปไตยร่างทรงสหรัฐฯ โดยมีจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจนในการถ่วงดุลจีนโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน หวั่นวิตกว่า ข้อเสนอของประธานาธิบดีโจไบเดนที่จะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำประชาธิปไตยครั้งสำคัญของโลก จะถือเป็นก้าวแรกของเส้นทางนั้น 

การส่งสัญญาณกับซาอุดิอาระเบีย ว่าสหรัฐจะสนับสนุนทางการทูตเท่านั้น และจะไม่ยอมสนับสนุนการทำสงครามในเยเมนอีกต่อไป รวมถึงการระงับการขายระเบิดนำวิถีที่มีความแม่นยำ ซึ่งช่วยเสริมสมรรถนะทางทหารให้แก่ซาอุฯในการปราบปรามเยเมน  ถือเป็นท่าทีแข็งกร้าวอย่างหนึ่งในนโยบายต่างประเทศของไบเดนต่อซาอุดิอาระเบีย  ที่ส่งผลสะเทือนอย่างมาก เพราะซาอุฯไม่สามารถพึ่งตนเองด้านการทหารทั้งคุณภาพกำลังรบและอาวุธยุทโธปกรณ์ การที่ปธน.ไบเดนกล่าวเช่นนี้เหมือนกับการยอมรับว่า สหรัฐคือผู้สนับสนุนสงครามกวาดล้างในเยเมนอย่างเปิดเผย และบีบบังคับให้ซาอุดิอาระเบียต้องซื้ออาวุธจากสหรัฐแต่เพียงผู้เดียวใช่หรือไม่? 

พฤติกรรมของสหรัฐย้อนแย้ง กับคำประกาศสวยหรูด้านสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน ทุกอย่างถ้าสหรัฐทำแม้จะละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ไม่ผิด  สหรัฐขยายการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ก็ไม่ผิด ประเทศอื่นทำถือเป็นความผิด เป็นเช่นนั้นใช่หรือไม่?

แหล่งข่าวของซาอุดีอาระเบียหลายแห่งระบุว่า ความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างสหรัฐฯกับซาอุดีอาระเบีย ทุกอย่างยังคงดำเนินไปด้วยดี แต่คนวงในที่มีฐานะตำแหน่งสูงในซาอุฯ เคยกล่าวไว้เมื่อหลายเดือนก่อนว่า พวกเขาคาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักแน่ถ้าโจ ไบเดนได้เข้าไปอยู่ในทำเนียบขาว แต่คาดว่าการเจรจากันและตกลงกันได้แล้วก็จะค่อยฟื้นตัวในภายหลัง