การส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 รัฐบาลผลักดันอุตสาหกรรมในกลุ่ม BCG และการแพทย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย หนุนบริษัทไทยจดทะเบียนตลาดหุ้นไทย เพื่อเท่าทันกระแสโลกฮิตอินเทรนด์ธุรกิจอุตสาหกรรมกลุ่ม BCG การแพทย์เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นต้น นอกจากนี้ปี 64 ยังหนุนให้ไทยลงทุนในไทยเพิ่ม ขณะที่บีโอไอเปิดเผยการลงทุนโดยธุรกิจในไทยปี 63 ลงทุน 48% ของการขอรับการส่งเสริม ส่วนการลงทุนโดยตรงจากตปท.ยังเป็นไปด้วยดี ญี่ปุ่นเป็นอันดับ 1 ตามด้วยจีน และสหรัฐ หากธุรกิจของไทยเติบโตไปพร้อมกับตลาดหุ้นไทยก็จะช่วยผลักดันเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของไทยให้เจริญรุ่งเรืองได้อย่างยั่งยืน
เมื่อเร็วๆนี้ นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในปี 2564 นี้แนวโน้มการออกจำหน่ายหุ้น IPO (หุ้นสามัญที่ออกและเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก) คาดว่าจะยังคงคึกคักแต่จำนวนหุ้นรวมถึงมูลค่าระดมทุนอาจจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่เป็นปีที่การระดมทุนหุ้น IPO มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยข้อมูลอัพเดต ณ เดือน พ.ย. 2563 พบว่าตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าระดมทุน IPO สูงที่สุดในอาเซียนที่ 4,595 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.38 แสนล้านบาท
และไม่แปลกใจที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจะเอ่ยปากเชียร์ให้นักธุรกิจและบริษัทไทยให้มาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย และลงทุนในพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนของไทย ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยกำลังเนื้อหอม ต่างชาติรุมตอม แห่กันมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยอย่างคึกคัก เป็นโอกาสแข่งขันสู่ตลาดสากลที่กำลังสนใจ ธุรกิจใหม่ๆรองรับกระแสนิวนอร์มัลหลังโควิดคลาย เช่น ธุรกิจอุตสาหกรรมในกลุ่ม BCG:(Bio-Circular-Green Economy)เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งรัฐบาลเน้นเป็นนโยบายการลงทุนปี 2564 มีมาตรการหนุนช่วยมากมาย ทั้งด้านภาษี การจัดสรรที่ดิน และ ด้านเงินส่งเสริมลงทุน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งยังจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าเงื่อนไขยังจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีกร้อยละ 100 ของเงินทุน ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 230,740 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 48 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น โดย 5 อันดับแรก ได้แก่
1) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าลงทุน 50,300 ล้านบาท
2) การเกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่าลงทุน 41,140 ล้านบาท
3) ยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่าลงทุน 37,780 ล้านบาท
4) ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มูลค่าลงทุน 36,020 ล้านบาท และ
5) เทคโนโลยีชีวภาพ มูลค่าลงทุน 30,060 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ที่มีคำขอรับการส่งเสริมในอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีจำนวน 83 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 177 ขณะที่มูลค่าลงทุนรวม 22,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 165
ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม จำนวน 907 โครงการ มูลค่าลงทุน 213,162 ล้านบาท โดยประเทศญี่ปุ่นยื่นขอรับการส่งเสริมมากที่สุด จำนวน 211 โครงการ มูลค่าลงทุน 75,946 ล้านบาท ตามด้วยประเทศจีน มูลค่าลงทุน 31,465 ล้านบาท และสหรัฐฯ มูลค่าลงทุน 24,555 ล้านบาท
ขณะที่คำขอรับการส่งเสริมในพื้นที่ EEC มีจำนวน 453 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 208,720 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในกลุ่มสาธารณูปโภค บริการพื้นฐานและการขนส่ง เป็นต้น
ส่วนคำขอรับการส่งเสริมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) มีจำนวน 17 โครงการ มูลค่าลงทุน 12,340 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 423 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยมีศักยภาพ เช่น การผลิตถุงมือทางการแพทย์ และการผลิตอาหาร เป็นต้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเผยถึงทิศทางการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 ว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบแนวทาง เน้นขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในกลุ่ม BCG การแพทย์ อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ดิจิทัล เพื่อการปรับโครงสร้างของภาคการผลิตและบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้น ทั้งยังยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศและส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตและบริการหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายด้วย
UNเผยการลงทุนตรงของต่างชาติทั่วโลกลด 50%!?! จีนโตสวนทาง 9 เดือนแตะ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ