รฟม.ล้มประมูลรถไฟฟ้าสีส้มไม่รอฟังศาลตัดสิน?!? เดินหน้าประมูลใหม่ ดร.สามารถฟันธงใช้เกณฑ์เดิมดีกว่าเกณฑ์ใหม่

1787

รฟม.แบะท่าจ่อถอนอุทธรณ์รถไฟฟ้าสีส้ม หลังชิงล้มประมูลไปก่อนหน้านี้ โดยไม่ทันที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งชี้ขาดลงมาว่าแก้เกณฑ์ใหม่ถูกต้องหรือผิดอีกทั้งประกาศจะเดินหน้าประมูลต่อ โดยไม่ยืนยันว่าจะใช้เกณฑ์ใหม่หรือเกณฑ์เดิม เรื่องนี้ดร.สามารถโพสต์ชัด “เกณฑ์เดิมดีกว่า เกณฑ์ใหม่” หากรฟม.จะใช้เกณฑ์ใหม่ก็ต้องรอศาลชี้ขาดอยู่ดีว่าทำได้ถูกต้อง หรือทำไม่ได้เพราะอะไร 

เช้าวันนี้ (9 ก.พ.2564)ดร. สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการจราจรแลคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่า ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เกณฑ์เดิม “ดีกว่า” เกณฑ์ใหม่ มีรายละเอียดดังนี้

“ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เกณฑ์เดิม “ดีกว่า” เกณฑ์ใหม่”

คาดว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะใช้เกณฑ์ใหม่ในการประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งใหม่แทนการประมูลเดิมที่ถูก รฟม.ยกเลิกไป ผมมั่นใจว่าเกณฑ์ใหม่สู้เกณฑ์เดิมไม่ได้ เพราะอะไร?

รฟม.อ้างว่าเหตุที่ต้องใช้เกณฑ์ใหม่เพราะการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เนื่องจากจะต้องก่อสร้างอุโมงค์ใต้ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ยังคงเปิดให้บริการ จะต้องตัดเสาเข็มสะพานลอยโดยไม่ปิดการจราจร และที่สำคัญ จะต้องก่อสร้างอุโมงค์ใต้พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ถือว่าเป็นการก่อสร้างที่ซับซ้อน มีความเสี่ยงสูง จะใช้เกณฑ์เดิมไม่ได้

ดร.สามารถชี้แจงเรื่องเกณฑ์เดิมว่าไม่ดีจริงหรือ?

ตามเกณฑ์เดิมเอกชนจะยื่นข้อเสนอ 4 ซอง ดังนี้

ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ คณะกรรมการคัดเลือกจะประเมินข้อเสนอด้านคุณสมบัติว่ามีครบถ้วน ถูกต้องหรือไม่ จะให้ผ่านหรือไม่ผ่าน หากไม่ผ่านก็ไม่ต้องเปิดซองที่ 2 แต่หากผ่านก็ต้องเปิดซองที่ 2 เพื่อพิจารณาต่อไป

ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค มีคะแนนเต็ม 100% แบ่งเป็น 5 หมวด

ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้คะแนนในแต่ละหมวดไม่น้อยกว่า 80% และจะต้องได้คะแนนรวมของทุกหมวดไม่น้อยกว่า 85% หากไม่ผ่านก็ไม่ต้องเปิดซองที่ 3 แต่หากผ่านก็ต้องเปิดซองที่ 3 เพื่อพิจารณาต่อไป

ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านผลตอบแทน  ผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอผลตอบแทนให้แก่ รฟม.มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล แล้วจึงเปิดซองที่ 4 ของผู้ชนะการประมูลต่อไป

ซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อ รฟม.

แต่หลังจากปิดการขายเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน (RFP) แล้ว รฟม.ประกาศเปลี่ยนการใช้เกณฑ์ประเมินเป็นเกณฑ์ใหม่ โดยอ้างว่าเกณฑ์เดิมคัดเลือกผู้ชนะโดยการดูเฉพาะคะแนนผลตอบแทนเท่านั้น หากเอกชนรายใดรายหนึ่งเสนอผลตอบแทนให้ รฟม.ต่ำกว่าอีกรายเพียงเล็กน้อย แต่เอกชนรายนั้นได้คะแนนด้านเทคนิคสูงกว่า จะทำให้ รฟม.เสียโอกาสในการได้เอกชนที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีเส้นทางใต้ดินผ่านศูนย์การค้าขนาดใหญ่ พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีความซับซ้อน ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

กรณีนี้ดร.สามารถฯยืนยันว่าไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกณฑ์เดิมได้ให้ความสำคัญด้านเทคนิคไว้สูงสุดแล้ว เพราะให้คะแนนไว้เต็ม 100% พร้อมทั้งกำหนดคะแนนขั้นต่ำไว้ 85% นั่นหมายความว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้ไม่น้อยกว่า 85% จึงจะสอบผ่าน และจะต้องได้คะแนนในหมวดย่อยอีก 5 หมวด หมวดละไม่น้อยกว่า 80% ผู้ยื่นข้อเสนอที่สอบผ่านถือว่ามีความสามารถด้านเทคนิคสูงมาก สามารถทำการก่อสร้างงานประเภทไหนก็ได้

การกำหนดคะแนนรวมด้านเทคนิคไว้ 85% ถือว่าสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจากหัวลำโพง-ท่าพระ มีเส้นทางผ่านเยาวราชซึ่งเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญ และต้องลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ รฟม.กำหนดคะแนนด้านเทคนิคไว้เพียง 70% เท่านั้น แม้กำหนดคะแนนสอบผ่านด้านเทคนิคไว้เพียง 70% แต่ผู้รับเหมาที่ชนะการประมูลก็สามารถทำการก่อสร้างได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

และด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ดร.สามารถจึงฟันธงว่าเกณฑ์เดิมดีมากอยู่แล้ว รฟม.ไม่ควรยกเลิกแล้วเปลี่ยนไปใช้เกณฑ์ใหม่!