หลังจากเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 กลุ่มเยาวชนและนักศึกษาในเมียนมา ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการทำอารยขัดขืน ประท้วงรัฐประหาร ส่วนทีมแพทย์หลายคน ที่ทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ ได้กล่าวว่า พวกเขาจะหยุดงานตั้งแต่วันพุธนี้ เพื่อเรียกร้องให้กองทัพปล่อยตัวนาง ออง ซานซูจี ส่วนเจ้าหน้าที่การแพทย์บางคนประท้วงเงียบด้วยการติดโบว์เป็นสัญลักษณ์
โดยดร.ทู้ อ่อง วิสัญญีแพทย์ ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลโมนยวา ในเขตซะไกง์ เมียนมา ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว บีบีซี ระบุว่า เขาขอลาออก เพราะไม่สามารถทำงานภายใต้เผด็จการทหาร ซึ่งไม่สนใจประเทศและประชาชนได้ นี่เป็นการตอบโต้ ที่ดีที่สุดที่เขาแสดงออกมาได้
ขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเมียนมายังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยการรัฐประหารของกองทัพที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนบางกลุ่มออกมาประท้วง และทำให้พนักงานโรงพยาบาล 70 แห่งในเมียนมา ประกาศพร้อมใจกันหยุดงานเพื่อประท้วงและต่อต้านการรัฐประหาร จนต้องตั้งคำถามว่า การเคลื่อนไหวด้วยสันติวิธีแต่สร้างผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเกิดวิกฤตสาธารณสุขแบบนี้ จะกลายเป็นการยิ่งซ้ำเติมปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเมียนมาหรือไม่
โดยกลุ่ม “Myanmar Civil Disobedience Movement” ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ว่า พนักงานของโรงพยาบาลและหน่วยงานด้านการแพทย์ 70 แห่งใน 30 เมืองทั่วเมียนมา พากันนัดหยุดงานเพื่อประท้วงกองทัพที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล การที่กองทัพได้ก่อรัฐประหารในครั้งนี้ ส่งผลให้ประชาชนชาวเมียนมาเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้นในช่วงที่โรคโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด “เราขอปฏิเสธที่จะกระทำตามคำสั่งใด ๆ จากกองทัพที่ก่อการรัฐประหาร ซึ่งเรามองว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชน
ล่าสุด นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ นายแพทย์ที่ร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของม็อบสามนิ้วในช่วงที่ผ่านมา ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “ต้านรัฐประหารในเมียนมา ขอร่วมเป็นอีกพลังใจ
ปรากฏการณ์สำคัญอันหนึ่งคือ การลุกขึ้นมาแสดงออกต้านการรัฐประหารของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ออกมาชูสามนิ้วและชูสัญลักษณ์ริบบิ้นแดงของพรรค NLD ซึ่งชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย
แม้ปรากฏการณ์นี้เพิ่งจะเริ่มต้น แต่สะท้อนความกล้าหาญยิ่งของบุคลากรทางการแพทย์ และย่อมส่งผลอย่างมากในเชิงสัญญะ และพลังใจให้กับประชาชนชาวเมียนมาให้กล้าที่จะลุกขึ้นมาแสดงออกในการไม่เอารัฐประหาร
ไม่เพียงแค่การแสดงออก แต่หมายรวมถึงการนัดหยุดงาน แต่เชื่อเถอะครับว่า การนัดหยุดงานของบุคลากรทางการแพทย์นั้น ไม่ได้กระทบตัวผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้าถึงการรักษาอย่างแน่นอน ผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยคลอด ผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลย่อมได้รับการดูแล นี่คือจรรยาบรรณ ส่วนผู้ป่วยที่รอได้ ก็เลื่อนการนัดหมายออกไป เพื่อกดดันรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจอย่างไม่ชอบธรรม
ผมขอเป็นอีกหนึ่งพลังใจให้กับพี่น้องชาวเมียนมาและบุคลากรทางการแพทย์เมียนมาร์ที่กล้าหาญแสดงออกเป็นปกป้องประชาธิปไตยและความถูกต้องครับ”
ทั้งนี้จากคำกล่าวของนพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด ยิ่งบอกว่า การนัดหยุดงานของบุคลากรทางการแพทย์นั้น ไม่ได้กระทบตัวผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้าถึงการรักษาอย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะมีทีมแพทย์ประจำอยู่ในโรงพยาบาลก็จริง แต่ขณะนี้สถานการณ์โควิดในพม่า ก็ไม่สามารถวางใจได้ อีกทั้งออกจากมาเชียร์ ว่าหมอหยุดงานไม่ได้กระทบอะไร กลับยิ่งซ้ำเติมหายนะให้กับประเทศเมียนมาต้องรับกรรมอย่างมาก
นอกจากนี้รายงานเพิ่มเติมว่า ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตในพม่า รวมถึง เทเลคอม เอ็มพีที ได้บล็อกการเข้าถึงเฟซบุ๊ก ในประเทศตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ และจะยาวไปจนถึง 7 กุมภาพันธ์
ส่วนผู้ใช้เฟซบุ๊กในพม่าบางส่วน เปิดเผยว่า ไม่สามารถเข้าถึงเฟซบุ๊กได้ จากหลายช่องทาง “เน็ตบล็อกส์” กลุ่มผู้ติดตามเครือข่ายสัญญาณ ยืนยันว่า เทเลคอม เอ็มพีที รายงานชี้แจงว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 23 ล้านราย ถูกเฟซบุ๊กบล็อกการเข้าถึง รวมไปถึงเมสเซนเจอร์ โปรแกรมแชตของทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และวอทส์แอพพ์ ซึ่งมีเฟซบุ๊กเป็นเจ้าของ
แม้ว่าโฆษกเฟซบุ๊กจะได้ออกมาเรียกร้องให้ทางการพม่า หยุดปิดกั้นการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ชาวพม่า สามารถเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ และสื่อสารกับครอบครัว และเพื่อน ได้ในสถานการณ์เช่นนี้
ส่วนเพจเฟซบุ๊ก LOOK Myanmar มองพม่า ยังได้โพสต์ข้อความอีกด้วยว่า “หลังจากที่ทางเพจเสนอ กระแสข่าวลือว่า พม่าจะเริ่ม block Facebook ไม่ให้คนในประเทศ เข้าถึง ล่าสุด หลาย ๆ เครือข่ายเริ่มใช้ไม่ได้แล้ว อ้างอิงจากรายงานข่าวในคลิป ทางการพม่าประกาศว่า จะ block Facebook ไปจนถึงหลังวันที่ 6 กุมภาพันธ์
ทางเพจยังยืนยัน จะเป็นตัวกลางในการแชร์ข้อมูล ข่าวสาร ที่คิดว่าเป็นประโยชน์กับพวกเรา ที่เข้ามาทำงาน ลงทุน พักอาศัย และกำลังติดค้างในพม่าตอนนี้ หากมีข่าวด่วนในเรื่องใด โดยเฉพาะ ข้อมูล Relief flight หรือ COVID-19 แจ้งไว้หลังไมค์ได้ตลอดครับ”
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ “พล.อ.มิน อ่อง หล่าย” ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและหัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมา เป็นประธานการประชุมครม. ครั้งแรก ที่กรุงเนปิดอว์ พร้อมตั้งโต๊ะแถลงเปิดใจครั้งแรกถึงความจำเป็นต้องก่อรัฐประหาร โดยสถานีโทรทัศน์ MR TV ของทางการเมียนมา ได้เผยแพร่ภาพพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) และ หัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมา แถลงการณ์ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก โดยเขาระบุถึงความจำเป็นต้องก่อรัฐประหารซึ่งเป็นสิ่งที่ “ไม่อาจหลีกเลี่ยง”ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ประเทศชาติสามารถก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง
และได้ย้ำว่าการทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงมิได้ เพราะกองทัพเมียนมาได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งไปยังรัฐบาลหลายครั้งแล้ว แต่ก็ถูกเพิกเฉย ยิ่งไปกว่านั้น นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ (ซึ่งขณะนี้ถูกควบคุมตัวโดยกองทัพ) ยังยืนยันว่า ปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งอยู่เหนือขอบเขตอำนาจของรัฐบาล ตลอดจนรัฐสภา
หากแต่เป็นอำนาจของคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง ทำให้กองทัพเมียนมา หรือที่ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “ตัดมะดอ “ ( Tatmadaw แปลว่า ผู้ปกป้องประเทศชาติและประชาชนเมียนมา) จำเป็นต้องทำการรัฐประหาร เพื่อเข้าควบคุมการบริหารประเทศ
ทั้งนี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่า ประเทศเมียนมาจะดำเนินนโยบายไปในทิศทางที่ถูกต้อง ก่อนจะจัดการเลือกตั้ง และได้รัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศ ซึ่งตามแผนการที่คณะรัฐประหารกำหนดเอาไว้นั้น รัฐบาลทหารจะปกครองประเทศเป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะจัดการเลือกตั้ง ส่วนนโยบายเร่งด่วนในขณะนี้ คือการรักษาความมั่นคง และความสงบของประเทศ ตลอดจนเร่งแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย