ไทยติดโควิดพุ่ง 756 ราย จากคัดกรองเชิงรุก ศบค.เอาจริง สั่งฟันโทษผิด ก๊วนปาร์ตี้ “ดีเจมะตูม” โรงแรมก็โดนด้วย

2626

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ประจำวันที่ 28 ม.ค. 2564 ระบุว่า ในวันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 756 ราย

เป็นการติดเชื้อในประเทศ 746 ราย แบ่งเป็นตรวจพบในระบบเฝ้าระวังและบริการ 22 ราย และผู้ติดเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 724 ราย กลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค (Quarantine) 10 ราย

“จากการเฝ้าระวัง กราฟยังคงเชิดหัวสูงขึ้น ยังย้ำเสมอว่า ต้องฝ้าระวังกระชันชิด วางใจไม่ได้ โดยเฉพาะการคัดกรองในชุมชนยังเพิ่มสูงขึ้น ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากระบบบริการ ยังขึ้นๆ ลงๆ เป็นตัวเลขรวมทั้งประเทศ แต่อยากให้ติดตามตัวเลขในรายจังหวัด เพราะมีจังหวัดที่ผู้ป่วยเป็นศูนย์หลายพื้นที่แล้ว”

ทั้งนี้พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังเปิดเผยถึงกรณี คลัสเตอร์การติดเชื้อจากงานวันเกิดดีเจมะตูม รายงานการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับดีเจมะตูม ติดเชื้อทั้งสิ้น นับถึงวันที่ 27 ม.ค.64 ทั้งสิ้น 24 ราย นี่คือตัวเลขทางการ แต่ยังไม่เป็นทางการจะมีเพิ่มอีก 2 ราย แต่ยังไม่นับรวมผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูงอีก 113 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำอีก 53 ราย ซึ่งจะทยอยรายงานต่อเนื่องในสัปดาห์นี้


ในวันนี้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีความกังวลว่า ในส่วนที่สัมผัสเสี่ยงสูง-ต่ำ มีการสอบสวนโรคเจอว่าไปยังสถานที่หลายแห่ง ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร 27 ม.ค. รายงานติดเชื้อแล้ว 24 ราย แต่ที่กังวลคือ แต่ละคนให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกันทั้งที่ไปในสถานที่ใกล้เคียงกัน ทำให้การควบคุมโรคสังสน หรือบางคนปกปิดข้อมูล ทางกรมควบคุมโรครายงานว่า กรณีแบบนี้อาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดออกไป หรือล่าช้าไม่ทันการ

“วันนี้กรมควบคุมโรคจึงทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม.แล้ว โดยกรมควบคุมโรคเห็นว่า พฤติกรรมเหล่านี้เข้าข่ายฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติการ พรบ.โรคติดต่อ 2558 รวมถึงกฎหมายอื่นๆ 1.มีความผิดฐานขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวก แก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 55 แห่ง พรบ.โรคติดต่อ 2558 มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท รวมทั้งอาจแจ้งมีความผิดข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนได้รับความเสียหาย”

ไม่ใช่เฉพาะผู้เกี่ยวข้อง สถานที่ที่ใช้จัดเลี้ยงสังสรรค์ อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค และไม่จัดให้มีมาตรการที่ราชการกำหนด และบุคคลที่เข้าไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ ก็อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนการห้ามทำกิจกรรม หรือมั่วสุมในสถานที่แออัด ตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ย่อมเป็นความผิด ซึ่งอาจต้องโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ โดยกทม. ถือเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามคำสั่ง ศบค. ตั้งแต่ วันที่ 3 ม.ค. เพราะฉะนั้นต้องติดตาม จะมีรายงานความผิดตามกฎหมายอย่างไร

“ขณะนี้เกิดปรากฏการณ์ที่สังคมลงโทษ แต่อยากให้ติดตามข่าว โดยไม่ใช้อารมณ์และนำไปสู่การป้องกันในโอกาสหน้า ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา การลงโทษผู้ติดเชื้อไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่ควรเรียนรู้เพื่อปรับปรุงต่อไป ขอให้เป็นหน้าหน้าที่ของกฎหมาย อย่างกรณีใกล้เคียง ที่ไอคอนสยาม ผู้ติดเชื้อรายงาน 16 ม.ค. ได้พบการติดเชื้อในสถานที่หนึ่ง ในร้านอาหาร ที่มีการรวมตัวสังสรรค์ โดยมีผู้ติดเชื้อแล้ว 7 ราย ซึ่งไอคอนสยามที่เดียว มีผู้เสี่ยงสูงแล้ว 200 ราย และมีผู้ติดเชื้อแล้ว 7 ราย”

นอกจากนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ยังกล่าวในรายการโหนกระแสตอนหนึ่งด้วยว่า “ต้องไปดูว่า งานปาร์ตี้ดังกล่าวโรงแรมเปิดให้รับประทานหลัง 3 ทุ่มและจำหน่ายแอลกอฮอล์หรือไม่ ถ้าผิดจะผิดตรงนี้ ทั้งเจ้าของปาร์ตี้ ผู้ร่วมงานและโรงแรม ซึ่งจะสั่งการเจ้าหน้าที่ต่อไป” ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น


ขณะที่ทางด้านนพ.โอภาส กล่าวว่า กรณีนี้กรมควบคุมโรคได้พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.กรณีที่บุคคลให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน หรือมีการปฏิเสธหรือปกปิดข้อมูล ซึ่งควรต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามมาตรา 55 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท รวมถึงอาจมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


และกรณีสถานที่ซึ่งใช้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค และไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด รวมถึงกรณีบุคคลที่ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนการห้ามทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัด

ซึ่งเป็นมาตรการตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินพ.ศ.2548 เนื่องจาก กทม.ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ที่ 1/2564 ลงวันที่ 3 ม.ค.2564

“พื้นที่ควบคุมสูงสุดจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวด เพื่อป้องกันและควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาด COVID-19 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 18 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548”