สมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทยยันซีพีควบรวมโลตัสฯ ผูกขาดธุรกิจ?!? กระทบรายย่อยและซัพพลายเออร์ ทำลายเศรษฐกิจฐานราก!

4194

สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (OTCC) กำลังประเมินว่าการซื้อกิจการ Tesco ในเอเชียโดยเครือซีพีนั้นจะเป็นการผูกขาดตลาดหรือไม่ ตุลาคมนี้ลุ้นว่ามติบอร์ดตั้งอนุกรรมการศึกษาผลกระทบต่อธุรกิจ ซัพพลายเออร์และผู้ค้าปลีกรายย่อย ผลออกมาเป็นอย่างไร ขณะที่สมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกค้านเต็มที่ หวั่นผูกขาดธุรกิจค้าปลีกไทยมีอิทธิพลเหนือตลาดและผู้บริโภคแต่เพียงรายเดียว ซึ่งทั่วโลกเสรีไม่มีประเทศไหนอนุญาตให้ทำแบบนี้ได้

กระบวนการพิจารณาข้อเสนอคำขอควบรวมกิจการของบริษัทใน เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ซื้อหุ้น บริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้เริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งซีพีจะได้สิทธิในบริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ที่ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้าเทสโก้ โลตัส (Tesco Lotus) ในประเทศไทย

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้ตั้งอนุกรรมการพิจารณารายละเอียดเอกสารการขอยื่นควบรวมกิจการ ซึ่งวางกรอบการทำงานให้คณะอนุกรรมการไปดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อสรุปได้แก่ 

1.ขอบเขตตลาดของซีพีเมื่อรวมกับเทสโก้ โลตัส แล้วเป็นอย่างไร

2.ผู้ถือหุ้นในกิจการที่มีการควบรวมกันแล้ว จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่มีลักษณะเหมือนกันหรือคล้ายกันอย่างไร

3.ผลกระทบกับผู้ผลิตและผู้บริโภคอย่างไร

4.เข้าเงื่อนไขการมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่

“คณะกรรมการฯ จะเร่งพิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว คาดว่าเดือน ต.ค.นี้ จะทราบผล ซึ่งอยู่ในกรอบระยะเวลาการพิจารณา 90 วัน ยืนยันจะพิจารณาอย่างรอบคอบตามอำนาจของคณะกรรมการฯ เพราะเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญต่อตลาดค้าปลีกไทย” นายสกนธ์ กล่าว

นายสกนธ์ กล่าวว่า คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการพิจารณาโครงสร้างตลาด ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพรวมการตลาดก่อนนำมาประกอบการพิจารณา รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาการควบรวมกิจการ โดยมีผู้แทนธุรกิจค้าปลีกและนักวิชาการ ทำหน้าที่พิจารณาข้อมูลที่ซีพียื่นมาเพื่อนำเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาว่าจะอนุมัติให้ควบรวมได้หรือไม่

สำหรับการพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่างๆที่มีการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการฯพิจารณานั้นก็มีประมาณ 30 เรื่อง ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องค้าปลีกเพราะตลาดค้าปลีกของไทยเป็นตลาดใหญ่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนซึ่งส่วนใหญ่เป็นการร้องเกี่ยวกับการเอาเปรียบ การตั้งเงื่อนไขทำธุรกิจโดยไม่เป็นธรรม

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (สขค.) กล่าวว่า กลุ่มซีพีได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมอีกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยการพิจารณาการควบรวมครั้งนี้จะมีมูลค่าสูงที่สุดที่คณะกรรมการฯ เคยพิจารณามาก่อน สำหรับคณะอนุกรรมการพิจารณาการควบรวมเป็นการแต่งตั้งบุคคลภายนอกเพื่อให้ทำงานอย่างมีอิสระในการรวมศึกษาประกอบด้วยผู้แทนจาก คือ 1.สภาอุตสาหรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) 2.สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย3.สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย 4.สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ทั้งนี้ ภายในเดือน ก.ย.นี้ จะมีการสรุปรายงานเบื้องต้นเพื่อเสนอคณะกรรมการแข่งขันการค้า การพิจารณาคำขอควบรวมกิจการจะต้องได้ข้อสรุปภายใน 90 วัน หรือช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้ และถ้าพิจารณาไม่เสร็จจะต่อเวลาได้อีก 15 วัน จะทำให้การพิจารณาคำขอมีข้อสรุปช้าที่สุดภายในเดือน พ.ย.นี้ โดยผลการพิจารณาจะมี 3 แนวทาง คือ

1.อนุญาตให้ควบรวมกิจการตามคำร้อง 2.อนุญาตให้ควบรวมกิจการแบบเงื่อนไข 3.ไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ

นอกจากนี้ แนวทางการพิจารณาจะดูผลกระทบจากการควบรวมกิจการ โดยเฉพาะส่วนแบ่งตลาดของผู้ควบรวมธุรกิจทั้งก่อนและหลังการรวมธุรกิจ เช่น การกระจุกตัวในตลาด การเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่และการขยายการผลิตของคู่แข่งในตลาด (Entry and Expansion) ผลกระทบต่อการแข่งขันจากผู้ประกอบธุรกิจที่รวมธุรกิจ (Non-Coordinated Effect) รวมถึงการพิจารณาอำนาจเหนือตลาดภายหลังการควบรวมกิจการ และผลกระทบต่อผู้ประกอบการในธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีกของซีพีและเทสโก้ โลตัส เช่น ผู้ผลิตสินค้า ซัพพลายเออร์ ผู้ขนส่งสินค้า

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยว่าขณะนี้ คณะอนุกรรมการฯ กำลังเดินสายเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเชิญภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีก โชห่วยและเอสเอ็มอีมารับฟังความเห็นประเด็นผลกระทบจากการควบรวมกิจการรวมถึงความกังวลของผู้ประกอบการขนาดเล็ก ต่อตลาดการค้ากรณีการควบรวม การแข่งขันของผู้ประกอบการในตลาดค้าปลีก และจากนั้นจะรวบรวมความเห็นมาสรุปเสนอกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรให้ควบรวมกิจการ ซึ่งไม่มีประเทศใดที่ให้มีผู้ทำธุรกิจครบวงจรตั้งแต่การผลิตสินค้า การค้าส่ง ร้านสะดวกซื้อและโมเดิร์นเทรด ซึ่งปัจจุบันมีการจัดจำหน่ายสินค้าจากร้านสะดวกซื้อส่งตรงถึงมือผู้บริโภคแล้ว โดยส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งทำให้ภาคการค้าของไทยอยู่ในการควบคุมของผู้ประกอบการรายใหญ่