“รุ้ง ปนัสยา” ตามรอย “ธนาธร” ขุดข้อมูลเท็จ ถล่มสยามไบโอฯ บริษัทแจงชัดทุกกระบวนการผลิต ไม่เคยยึดหลักกำไร ยึดชีวิตคนไทยเป็นหลัก

4200

หลังจากที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ตอบกลับไปถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล เรื่องการเปิดสัญญาวัคซีนโควิด-19 โดยระบุว่า ตนเองติดตามการทำงานของรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนไทยด้วยความเป็นห่วง

 

ได้แถลงถึงข้อสงสัยของผมในสัปดาห์ที่แล้ว มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อการแสดงออกของผมหลายคน มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งรวมถึงคุณอนุทินเองด้วย

จึงอยากขอใช้โอกาสนี้ สื่อสารถึงคุณอนุทินและหวังว่าคุณอนุทินจะชี้แจงประเด็นเหล่านี้ให้สังคมหายสงสัย

ข้อแรก ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ จนถึงวันนี้เรามีวัคซีนที่เจรจาเสร็จ มีความชัดเจนในการส่งมอบ ครอบคลุมเพียงแค่ร้อยละ 21.5 ของจำนวนประชากรเท่านั้น ในจำนวนนี้ มาจาก AstraZeneca 26 ล้านโดส (หรือร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร) และ Sinovac 2 ล้านโดส (หรือคิดเป็นร้อยละ 1.5 ของจำนวนประชากร)

การจัดหาวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรเพียงร้อยละ 21.5 ต่ำกว่าและช้ากว่าหลายประเทศในโลก การฉีดวัคซีนเพียงร้อยละ 21.5 ของจำนวนประชากรสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไม่ได้

ข้อสอง นอกจากการจัดหาวัคซีนจะครอบคลุมคนจำนวนน้อยแล้ว การฉีดวัคซีนยังล่าช้ากว่าช่วงเวลาที่ควรจะเป็น

นั่นหมายความว่า หากผมไม่ออกมาตั้งคำถาม รัฐบาลเดินหน้าตามแผนนี้ ประชาชนจะต้องอดทนกับสถานการณ์กึ่งปิดกึ่งเปิดอย่างนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปี และอีกสามปีนี้อาจจะมีความเสี่ยงแพร่ระบาดครั้งที่สามครั้งที่สี่ต่อไปได้ คนที่ต้องแบกรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่หนักที่สุดคือคนหาเช้ากินค่ำ คือแรงงานนอกระบบ คือคนที่ชีวิตมีความเปราะบาง ไม่มีสวัสดิการใด ๆ รองรับ คนเหล่านี้ต้องอยู่กับความกลัวและความไม่แน่นอนในชีวิตไปอีกสามปี


ต่อมาทางด้าน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Panusaya Sithijirawattanakul ระบุว่า “Siam Bioscience ก่อตั้งมา 10 ปี มีแต่ขาดทุน แถมยังไม่มีประสบการณ์ในการผลิตวัคซีน ที่มาเป็นผู้ร่วมผลิตได้เพราะ SCG ไปดีลมาให้ ผลประโยชน์ทับซ้อนนี้จะเพื่อใคร ก็เพื่อคนที่ถือหุ้น 100% บริษัท Siam Bioscience #วัคซีนพระราชทาน”


และเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้ออกมาชี้แจงประเด็นต่าง ๆ โดยนางนวลพรรณ ล่ำซำ ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้ส่งเอกสารข้อมูลชี้แจงสถานะของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยระบุว่า “เป็นบริษัทผู้ผลิตยาชีววัตถุแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2552 ตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย

ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ ผลิต ได้แก่ ยารักษาโรคชีววัตถุ อาทิ ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดงให้ผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเรื้อรัง และยาเพิ่มเม็ดเลือดขาวให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด โดยยาทั้ง 2 ตัวผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูง สามารถบำบัดรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไทยลดการพึ่งพายาจากต่างชาติ ช่วยสร้างความมั่นคงให้ระบบสาธารณสุขของประเทศอย่างยั่งยืน

และด้วยคุณภาพและมาตรฐานระดับโลกของโรงงาน บริษัทฯ จึงได้รับการรับรองมาตรฐานสากล อีกทั้งได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ผลิตยาและชุดตรวจโรคให้แก่องค์กรต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศตั้งแต่ปี 2563 ที่ทั่วโลกรวมถึงไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19

ในเดือนตุลาคม 2563 บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์, บริษัท เอสซีจี, แอสตร้าเซเนก้า และกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงในความร่วมมือเพื่อที่จะให้วัคซีนนี้ได้มีใช้อย่างแพร่หลายในภูมิภาคอาเซียน จากหนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าว ได้นำไปสู่สัญญารับจ้างผลิตระหว่างแอสตร้าเซเนก้า และสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งสัญญานี้แสดงให้เห็นว่าสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีชั้นสูงสามารถดำเนินการผลิตได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานสากล จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของแอสตร้าเซเนก้าส่งผลให้สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าที่มีมากกว่า 20 แห่งทั่วโลก”


ยึดหลักไม่กำไร-ไม่ขาดทุน

“สำหรับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ของแอสตร้าเซเนก้าใช้เทคโนโลยีในการผลิตใกล้เคียงกับการผลิตยาชีววัตถุจากเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งสยามไบโอไซเอนซ์มีประสบการณ์ในการผลิตยาชีววัตถุ ด้วยเทคโนโลยีนี้และมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้วทั้งในประเทศ และส่งออก สยามไบโอไซเอนซ์จึงเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 โดยสยามไบโอไซเอนซ์ได้ดำเนินการผลิตวัคซีนโดยยึดนโยบายไม่กำไร ไม่ขาดทุน หรือ no profit, no loss ในช่วงที่มีการระบาดนี้ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกันกับของแอสตร้าเซเนก้า

ภารกิจผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จำนวนเงินประมาณ 600 ล้านบาท และจากบริษัท เอสซีจี 100 ล้านบาท เพื่อต่อยอดศักยภาพของโรงงานให้มีความพร้อมในการผลิตวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด เมื่อผลิตวัคซีนได้สำเร็จ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์จะสั่งซื้อวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จากแอสตร้าเซเนก้าเป็นมูลค่าเท่ากับจำนวนเงินทุนที่ได้รับเพื่อส่งมอบให้กับรัฐบาลในการดูแลสุขภาพของคนไทยต่อไป

“สยามไบโอไซเอนซ์มีความภาคภูมิใจที่ได้รับเลือกจากแอสตร้าเซเนก้าให้เป็นฐานการผลิตวัคซีน ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่ตรงตามมาตรฐานระดับโลกในขณะนี้ เจ้าหน้าที่ของสยามไบโอไซเอนซ์ทุกคนเร่งทำงานแข่งกับเวลา โดยที่ผ่านมาบริษัทฯได้ตัดสินใจปรับแผนการผลิตยาชีววัตถุเดิม ทุ่มสรรพกำลังในการผลิตวัคซีนที่ได้ตรงตามมาตรฐานของแอสตร้าเซเนก้าในเวลารวดเร็วที่สุด เพื่อที่ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชาติ เศรษฐกิจไทย รวมถึงประชาชนและเศรษฐกิจระดับภูมิภาคจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ดังปณิธานของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ที่มุ่งมั่นที่จะทำให้คนไทยและทั่วโลกมีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า”