ดร.ซุปเป็นอีกคนหนึ่งที่หลายฝ่ายคาดหวังว่า อาจได้รับทาบทามเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทนนายปรีดี ดาวฉายที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ แต่เจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่ได้รับการทาบทามแต่อย่างใด ทั้งนี้มองว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆดีขึ้น ปัญหามีไว้แก้ไข รัฐบาลก็ทำหลายอย่างที่ดี แนะว่าต้องใช้จ่ายเงินให้ตรงเป้าหมาย เป็นห่วงแรงงานนอกระบบ คนพิการ คนชราย้ำให้รัฐฯดูแลอย่างทั่วถึง ถ้ามองสถานการณ์โลกแล้วเอเซียดีกว่าทุกภูมิภาคทั้งการรับมือโควิด การพยายามฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและถ้าเทียบในอาเซียน ไทยเราดีกว่าเพื่อน
วันที่ 10 ก.ย. ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ (ดร.ซุป) อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังก์ถัด (UNCTAD) อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ในฐานะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ เปิดเผยมุมมองสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย
เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆฟื้น-กระตุ้นจากโครงการรัฐ-การสร้างงาน
นายศุภชัย กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องรีบตั้งรมว.คลัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า เป็นเรื่องของรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกผู้ที่เหมาะสมในที่สุด ด้านเศรษฐกิจในประเทศ มองว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียที่บริหารจัดการได้ดีและถึงแม้จะมีการกลับมาระบาดอีกรอบ เชื่อว่าจะสามารถควบคุมได้ อีกทั้งยังได้รับความไว้วางใจ จนมีการขยายตัวด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนและด้านการบริโภค ทั้งนี้เพราะประชาชนให้ความสำคัญกับการป้องกันตัวเอง และทุกฝ่ายให้การสนับสนุน
นายศุภชัยระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 3/63 และไตรมาส 4/63 น่าจะหดตัวน้อยลง และตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสูงกว่าที่ผ่านมา ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าไปด้วยดี แต่จำเป็นต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง และคาดว่าในต้นปีหน้าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ไม่เลวร้ายเท่าที่คาดการณ์ไว้ โดยสิ่งสำคัญคือการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการใหญ่และการจ้างงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ และต้องใช้งบประมาณให้ตรงเป้าหมายและคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็ใช้จ่ายงบประมาณอย่างระมัดระวังมากที่สุดแล้ว
“ปัญหาคือเงินที่ออกมาต้องใช้ให้ตรงเป้าหมายที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลใช้อย่างระมัดระวัง แม้ถูกโจมตีบ้าง เพราะมีคนอยากให้ใช้เงินให้หมด เชื่อว่าต้นปีหน้าจะดีขึ้นแน่นอน เวลาที่เหลือจนถึงสิ้นปี สิ่งที่คาดคะเนว่าจะเลวร้าย คิดว่าไม่เลวร้ายแต่อย่างใด”นายศุภชัย กล่าว
นายศุภชัยย้ำว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจมากยังไม่เกิดขึ้น เพราะทั่วโลกยังลำบาก แต่ต้องช่วยหล่อเลี้ยงไม่ให้เกิดการสูญเสียมากไปกว่านี้ สำหรับที่มีความเป็นห่วงคือแรงงานนอกระบบ 10 ล้านกว่าคน รวมทั้งคนชรา คนพิการที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้จะเป็นปัญหาหนักที่สุด รัฐบาลจะต้องดูแลให้ดีและทั่วถึง
เมื่อถามถึงการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. ของกลุ่มประชาชนปลดแอกว่าจะฉุดความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจหรือไม่ นายศุภชัย กล่าวว่า “เมื่อดูทั่วโลกไม่เห็นประเทศไหนที่จะไม่มีการชุมนุมประท้วง หรืออาจจะมีการประท้วงปิดประเทศมากไปหรือน้อยไปหรือประท้วงนโยบายด้านเศรษฐกิจ แม้ยุโรปหรืออเมริกาก็มีปัญหาทั้งสิ้น ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่รวมถึงเรื่องสังคมด้วย
ดังนั้นเราต้องระมัดระวังเรื่องการประท้วง แต่ถือเป็นธรรมชาติในสถานการณ์แบบนี้ที่ทุกคนรู้สึกเดือดร้อน และอยากแสดงออก ดีที่สุดคือให้แสดงออก แต่ต้องสร้างสรรค์ เวลานี้ไม่มีที่ไหนดีในโลก แต่ถ้าจะให้ดีขึ้น พวกเราต้องช่วยกัน จะให้แก้ไขอะไรและอย่างไรก็ออกมาพูดได้เพื่อนำเสนอรัฐบาลให้แก้ไข จึงเรียกว่าสร้างสรรค์ และการชุมนุมมองว่าเป็นพื้นที่ที่ให้ทุกคนระบาย เพราะพวกเราก็ถูกกดดันทุกคน”
ด้านสถานการณ์ของโลก-ผลกระทบจากโควิด-19
นายศุภชัย กล่าวว่า เปรียบเทียบกับสถานการณ์ทั่วโลก ในเอเชียสถานการณ์ดีกว่าที่อื่นมาก แม้จะมีการกลับมาระบาดอีกครั้ง แต่ก็เป็นการระบาดเพียงแค่บางจุด ซึ่งสามารถเข้าไปควบคุมดูแลได้ เช่น เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นก็ทำได้ดี ส่วนการลงทุนและการบริโภคในเอเชียถือว่าดีกว่าที่อื่น โดยเฉพาะการเชื่อมต่อข้อมูลในการเปิดประเทศว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใดเพื่อให้เศรษฐกิจเดินไปได้
ดังนั้นต้องร่วมมือกันให้ดี หากต่อไปมีวัคซีนแล้วจะต้องไม่ขายในราคาแพง และไม่มีใครเป็นเจ้าของ หรือยกให้องค์การอนามัยโลก และให้กระจายต่อไป เพราะตอนนี้บริษัทยาใหญ่ๆและประเทศใหญ่ไปจองวัคซีนเหล่านี้ค่อนข้างมาก แต่ที่น่าเป็นห่วงคืออเมริกา และยุโรป
“ในอาเซียนผมว่าเราดีกว่าที่อื่น เพราะทุกคนให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วน แตกต่างจากที่อื่นที่มีการขัดขืนตลอดเวลา ดังนั้นต้องค่อยๆเปิดประเทศไปเรื่อยๆ แต่เราต้องอดทน ส่วนเศรษฐกิจที่กระตุ้นไม่ได้ เพราะโลกยังวิกฤตอยู่ ส่งผลให้การกระตุ้นเศรษฐกิจไปไม่ได้เต็มที่ แต่ต้องหล่อเลี้ยงไม่ให้เกิดการทรุดลงทางเศรษฐกิจทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ให้เขาไปได้ก่อน โดยหล่อเลี้ยงให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อคนทำงานได้ก็จะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นตามธรรมชาติ”