จำคุก อดีตข้าราชการ อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ 29 ปี 174 เดือน ทำไมชาวม็อบจับแล้วปล่อย?

5012

วันนี้ (19 ม.ค. 2564) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3065/2562 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้อง นางอัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการกรมสรรพากร เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดจำเลยสรุปความว่า เมื่อระหว่างระหว่างวันที่ 12 พ.ย. 2557 ถึง 24 ม.ค. 2558 จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน ด้วยการใช้นามแฝง anchana siri, un un และ Petch Prakery ส่งข้อความเสียงของผู้ใช้นามแฝงว่า “บรรพต” ผ่านทางยูทูป ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งมีเนื้อหาดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ หลายครั้งหลายหน

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุมจำเลยได้ พร้อมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้กระทำผิดหลายรายการ ยึดเป็นของกลาง ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี จนจำเลยให้การรับสารภาพ

โดยในวันนี้ นางอัญชัญ กล่าวว่า เดินทางมารับฟังคำตัดสินของศาล ซึ่งที่ผ่านมาในชั้นศาลทหาร ตนปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เพราะโทษของศาลทหารหนักและรุนแรงเกินไป จึงขอสู้คดีก่อน แต่เมื่อโอนย้ายคดีมาที่ศาลอาญา ตนก็รับสารภาพเพื่อขอให้ศาลเห็นใจและเมตตา เพราะตนเป็นเพียงแค่คนแชร์ไม่ได้เป็นคนโพสต์ และไม่ได้แสดงความคิดเห็นใด ๆ

“ระหว่างการสอบสวนของดีเอสไอตนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 29 กรรม แต่คนโพสต์โดนแค่กระทงเดียว ที่ผ่านมาตนได้รับโทษจำคุกเกือบ 4 ปีแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. 2558 จนถึงวันที่ 2 พ.ย. 2561 ในตอนนั้นตนเห็นมีการแชร์กันอย่างแพร่หลาย ถึงไม่คิดว่าจะเป็นความผิด เพราะมั่นใจในตัวเองและไม่คิดให้รอบคอบ ทำให้ต้องเสียงานที่ทำมา 40 ปี อดีตตนเคยรับราชการระดับซี 8 ที่กรมสรรพากร และต้องรอรับคำตัดสินนำไปส่งที่กรมฯ เพื่อรอการสอบวินัยตนอีก ก็หวังว่าทางกรมจะเห็นใจและไม่ไล่ตนออก”

อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบกับ กลุ่มม็อบคณะราษฎรที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง พร้อมทั้งพุ่งเป้าโจมตีไปยังสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่ยอมลดละ ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 มาจนถึงปี 2564 ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีแกนนำม็อบเท่านั้น ยังมีมวลชนที่ออกมาร่วมในการชุมนุมครั้งต่าง ๆ รวมถึงผู้ที่ออกมาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นกำลังทรัพย์ หรือแม้กระทั่งผู้ที่เรียกตนเองว่าการ์ด ที่มาอาสารักษาความปลอดภัยในครั้งที่มีการจัดม็อบ ด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจะเห็นว่า แกนนำหลัก ๆ หลายคน ไม่ว่าจะเป็น นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ เมื่อมีการจัดการชุมนุมก็จะปราศรัยไม่พ้นเรื่องจาบจ้วง หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ จนนำมาซึ่งการโดนหมายเรียกในฐานความผิดตามมาตรา 112

แต่ทุกครั้งที่ผ่านมาจะเห็นว่าเมื่อมีการจับแกนนำ หรือ เมื่อแกนนำเหล่านั้นไปรับทราบข้อกล่าวหา ไม่ทันไรเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะทำการปล่อยตัวออกมา พร้อมกับเหตุผลที่ยกข้อกฎหมายบอกว่า เนื่องจากเป็นเยาวชนบ้าง เป็นนักศึกษาบ้าง จึงต้องปล่อยตัวไปตามระเบียบ

ประเด็นนี้เองทำให้เกิดคำถามตามมาจากคนในสังคมว่า ม็อบจาบจ้วงสถาบันขนาดนี้ แต่ทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงได้ไม่จัดการอย่างเด็ดขาดให้เห็นเป็นตัวอย่างบ้าง

ไม่เพียงเท่านั้น รวมไปถึงกลุ่มคนที่ออกมาโพสต์ข้อความจาบจ้วงสถาบันฯ หรือการแชร์ข้อความต่าง ๆ นานา ที่หมิ่นพระเกียรติในหลวง-พระราชินี แต่ว่ากลุ่มคนเหล่านั้นก็ยังไม่ได้รับโทษ แม้ผู้ที่เกี่ยวข้องจะออกมาประกาศปาว ๆ ว่า เรื่องนี้มีการจัดการอย่างเด็ดขาด