“เพื่อไทย” เงียบแปลกๆ เหตุใดไม่โหน!? พิมรี่พาย ใช้ 5 แสน ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ใช้ 100 ล้าน ต่อ 1 หมู่บ้าน

2643

“เพื่อไทย” เงียบแปลกๆ เหตุใดไม่โหน!? พิมรี่พาย ใช้ 5 แสน ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ใช้ 100 ล้าน ต่อ 1 หมู่บ้าน!?

จากกรณีที่ พิมรี่พาย พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ แม่ค้าออนไลน์และยูทูปเบอร์ชื่อดัง ได้เดินทางไปที่ หมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านและเด็กๆ ซึ่ง พิมรี่พาย ก็ได้ทุ่มเงินของตัวเองกว่า 5 แสนบาท ในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และซื้ออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ด้อยโอกาส

โดยวันที่ทำกิจกรรมดังกล่าวนั้น มีครูเจตน์ สทธิคุณ เป็นครูประจำที่สอนอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ และได้เล่าว่าที่หมู่บ้านเด็กประมาณ 40 คน เด็กไม่มีความฝันเพราะมองภาพอะไรไม่ออก ทั้งหมู่บ้านไม่มีใครเรียนจบ ม.ต้นเลยสักคน พวกเขาจินตนาการไม่ออกว่า ถ้าได้เรียนต่อแล้วมันจะเป็นยังไงต่อ

ที่นี่ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีทีวีที่สามารถเผยแพร่ให้เด็ก ๆ ดูได้ และการมาทำกิจกรรมของพิมรี่พายในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดโลกให้เด็ก ๆ ซึ่งก็มีคนออกมาชื่นชมพิมรี่พายเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวดังกล่าวหลังจากที่มีการเชื่อมโยงและนำไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อโจมตีสถาบันแล้ว ยังมีการโจมตีไปถึงรัฐบาลที่ใช้งบประมาณในโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยในโลกโซเชียลเริ่มมีการแชร์ภาพใบสรุปราคากลางแผงโซลาร์เซลล์ในปี 2562 ของพื้นที่อำเภออมก๋อย

โดยเป็นใบสรุปราคากลางที่คำนวณไว้ในวันที่ 2 เมษายน 2562 เพื่อใช้ในโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 โดยราคาสำหรับ ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาดกำลังติดตั้งไม่น้อยกว่า 210 กิโลวัตต์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน มีราคาค่าก่อสร้างอยู่ที่ 45,205,109.91 บาท

ซึ่งก็มีสาวกปลดแอก นำมาโจมตีว่า พิมรี่พายใช้งบประมาณเพียง 500,000 กว่าบาท แต่รัฐบาลใช้งบประมาณในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ถึง 45 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นประเด็นที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้

ต่อมาทางด้าน พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้กล่าวถึงกรณีที่มีเอกสารที่เกี่ยวกับโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ของ กอ.รมน.ภาค 3 เผยแพร่ในโลกโซเชียลว่า จากการประสานงานกับ เลขาธิการ กอ.รมน.ภาค 3 ได้แจ้งมาแล้วว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารฉบับจริง และเป็นเอกสารที่ใช้ในการเผยแพร่ ราคากลางของโครงการฯ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน พรบ.การจัดซื้อจัดจ้าง มาตรา 56 วรรค 1 ของภาครัฐ ด้วยวิธีการประมูลราคากลางผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ ของกรมบัญชีกลาง

สำหรับงบประมาณของโครงการจำนวน 45 ล้าน ได้ผ่านการรับรองราคาจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งรายละเอียดของโครงการ พอสรุปได้ดังนี้ เป็นการดำเนินการจำนวน 5 พื้นที่ในอำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ เป็นการดำเนินการโดยมีการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 210 กิโลวัตต์ และเสาไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์ จำนวน 120 ต้น พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่ลิเทียม) จำนวน 998.40 กิโลวัตต์ และได้ดำเนินการจัดทำโครงข่ายไฟฟ้าชุมชน,โดยมีการลากสายไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่หมู่บ้าน จำนวน 5,409 เมตร และติดตั้งเสาไฟฟ้าเป็นต้น ซึ่งไม่ใช้พื้นที่ที่พิมรี่พายไป

โดยก่อนหน้านี้ มีการนำเอกสารราชการแบบสรุปราคากลางงานก่อสร้างอาคาร โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ทุรกันดาร ในอ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยชี้ปมว่ามีการใช้งบประมาณ กว่า 45ล้านบาทเพื่อดำเนินการไปแล้ว แต่ไม่ปรากฎว่ามีแผงโซล่าเซลล์ และระบบกักเก็บพลังงาน ในพื้นที่หมู่บ้านที่ “พิมรี่พาย”ได้บริจาคเงินเพื่อทำโครงการช่วยเหลือเยาวชนในพื้นที่เพราะไม่มีไฟฟ้าใช้แต่อย่างใด โดยเอกสารของ กอ.รมน.ภาค 3 ได้แจกแจงว่าเป็นคนละหมู่บ้านกับโครงการใช้งบประมาณดังกล่าว

อย่างไรก็ตามมูลค่าของโครงการดังกล่าวเมื่อเทียบกับกรณี “พิมรี่พาย” ใช้เงินกว่า 5 แสนบาท เพื่อทำโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ติดตั้งทีวีที่หมู่บ้านแม่เกิบโดยเฉลี่ยกิโลวัตต์ละ 57,692 บาท ส่วนของ กอ.รมน.เฉลี่ยกิโลวัตต์ละ 215,262 บาท แล้วมีความแตกต่างกันมาก ที่สำคัญเมื่อดูรายละเอียดตามเอกสาร BOQ ก็จะพบว่าหลายรายการมีราคาแพงกว่าปกติ เช่น แบตเตอรี่ลิเทียมขนาด 200 กิโลวัตต์-ชั่วโมงมีราคาถึงชุดละ 5,000,000 บาท แต่ถ้าเป็นขนาด 120 กิโลวัตต์-ชั่วโมงมีราคาถึง 3,000,000 บาทต่อชุด

เครื่องควบคุมประจุแบตเตอรี่และเครื่องแปลงกระแสขนาด 30 กิโลวัตต์ราคาถึง 600,000 บาทต่อชุด แค่ค่าประตูสำเร็จรูปยังราคาถึง 15,000 บาทต่อบานเลย ฯลฯ ทั้งนี้แม้ในรายละเอียดโครงการของ กอ.รมน.จะมีการลากสายไฟฟ้าและติดตั้งเสาไฟฟ้าด้วยก็ตาม ก็น่าที่จะเป็นราคาที่สูงเกินไปมาก นอกจากนั้นยังเป็นที่สงสัยว่าบริษัทที่เสนอราคาต่ำที่สุดจำนวน 44,707,745 บาท เหตุใดจึงไม่เป็นผู้ชนะการประมูล จึงสงสัยว่าเป็นการประมูลที่โปร่งใส เป็นไปตามระเบียบหรือไม่ด้วย

ซึ่งจากการสืบค้นได้ทราบว่า บริษัทที่ได้งานวางระบบโซลาร์เซลล์ ก็คือ บริษัท บี.เอ็น.โซล่าร์ เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งมีประธาน กรรมการบริษัท 3 คนด้วยกัน คือ 1.นายสุชัจจ์ ศรีแก้ว 2.นางสาวนิโลบล ตีระนันทน์ และ 3.นางนพมาศ ศรีแก้ว ทั้งนี้เมื่อเปิดชื่อกรรมการบริหาร หลายๆคนกลับให้ความสนใจไปที่นามสกุล “ศรีแก้ว” เพราะไปตรงกับ นายแพทย์ “ชลน่าน ศรีแก้ว” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่ก็ยังไม่ทราบว่ามีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใดหรือไม่!?

ทั้งนี้หากว่าได้มีการสืบย้อนกลับไปเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2556 สมัยรัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้มีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน ที่มีเป้าหมาย 1 ชุมชน 1 เมกะวัตต์ 800 หมู่บ้านรวม 800 เมกะวัตต์ โดยใช้วงเงินในการสนับสนุนอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาท ก็จะตกอยู่ที่หมู่บ้านละ 100 ล้านบาท แต่โครงการดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ต่อเนื่องในปี 57 ทางด้านของ สมาคมอุตฯ เซลล์แสงอาทิตย์เตรียมยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ในฐานะประธาน กพช. และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ให้ยกเลิกโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน เนื่องจากเห็นว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขชุมชนไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง