จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ ได้มีประชาชนทยอยเข้าร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงการละเมิดกฎหมายต่างๆของเหล่าแกนนำ
เป็นเวลากว่าหลายเดือนตั้งแต่กลางปี 2563 ที่ม็อบต่อต้านรัฐบาลได้ก่อตัวขึ้น ภายใต้ข้ออ้างการเรียกร้องประชาธิปไตย โดยมีการชุมนุมอย่างต่อเนื่องโดยไม่สนใจผลกระทบที่มีต่อประชาชนในแต่ละท้องที่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด ม็อบไม่เคยให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการดำเนินตามมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาด ได้มีการละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายข้ออื่นๆ
จากม็อบปลดแอกสู่ม็อบคณะราษฎร ได้มีการเพิ่มระดับความรุนแรงของการชุมนุม โดยเหล่าแกนนำได้เปิดโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง จนสร้างความเจ็บปวดให้กับประชาชนคนไทยที่มีความรักภักดีในสถาบัน จนทำให้เกิดความขัดแย้งมากมายในสังคม
ต่อมาได้มีประชาชนบางส่วนที่ไม่สามารถอดทนกับการกระทำเข้าข่ายทำลายชาติของเหล่าแกนนำและอีแอบผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังได้อีกต่อไป ได้มีการเเข้าร้องทุกข์แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคดี โดย คดีความส่วนใหญ่ที่ถูกร้องทุกข์คือคือ
ม.14 (3) พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2560 บัญญัติไว้ว่า นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เมื่ออ่านตัวบทกฎหมายพบว่า ความผิดในมาตรานี้จะต้องผูกโยงเข้ากับความผิดในประมวลกฎหมายอาญาเรื่องความมั่นคงหรือการก่อการร้าย
ม.112 ตามประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
ม.116 ตามประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต
(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
โดยเหล่าแกนนำที่ได้คอยจุดกระแสเผยแพร่ข้อมูลมุ่งร้ายป้ายสีหวังทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันพระมหากษัตริย์อันมีผลพวงไปถึงความมั่นคงของประเทศ ไม่เคยเกรงกลัวต่อกฎหมาย เป็นเหตุให้ประชาชนคนไทยเดือดเนื้อร้อนใจเป็นอย่างมาก ทำได้เพียงแต่เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่เพียงเท่านั้น ซึ่งหลายข้อกล่าวหานั้นถือเป็นคดีความที่มีความผิดร้ายแรง แต่เหล่าเจ้าหน้ากลับทำเพียงส่งหมายเรียกต่อผู้กระทำความผิด และให้เข้าไปรับทราบข้อกล่าว หลังจากนั้นก็ปล่อยตัวคนเหล่านั้นกลับบ้านอย่างง่ายดายและกระทำความผิดอื่นๆซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนคดีความติดตัวยาวเป็นหางว่าว
ดังเช่นกรณีของความผิดในกฎหมาย ม.112 ซึ่งถือเป็นความผิดร้ายแรง เหล่าแกนนำก็สะสมกันไปหลายคดี เช่น
1. นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน 9 คดี
2. นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง 8 คดี
3. นายอานน์ นำภา 7 คดี
4. นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ 6 คดี
ความไม่เกรงกลัวกฎหมายของเหล่าแกนนำนั้นมีให้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง ดังเช่นใน วันที่ 8 ม.ค. 64 นายอานนท์ นำภา ไลฟ์ร้องเพลงคลายเครียดหน้า ส.น.ลุมพินี หลังเข้าพบอัยการ คดีชุมนุมที่ราชประสงค์
หรือในวันที่ 11 ม.ค. 64 เวลา 10.00 น. นายณัฐชนน ไพโรจน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จะเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 ที่สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จากกรณีการจัดทำหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์”
ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังระบุอีกว่า นายณัฐชนนจะถูกดำเนินคดีทางการเมืองคดีนี้นับเป็นคดีที่ 5 ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ถูกควบคุมตัวร่วมกับ “เพนกวิน พริษฐ์” และ “รุ้ง ปนัสยา” ในคดีการชุมนุม ธรรมศาสตร์จะไม่ทน มาแล้ว โดยนายณัฐชนนถูกคุมขังที่เรือนจำธัญบุรีเป็นเวลา 6 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
โดยเพจเฟซบุ๊ก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้โพสต์ข้อความพร้อมคลิปความคืบหน้าว่า
อาจารย์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ให้กำลังใจ 4 ผู้ต้องหา ม.112 เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.คลองหลวง และ สน.บุปผาราม
ทั้งนี้แล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า ที่เหล่าแกนนำกลับออกมาเดินชูคออารมณ์ดีแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว และเดินหน้าทำความผิดอย่างต่อเนื่่อง เป็นเพราะพวกเขาไม่เกรงกลัวกฎหมาย หรือ เป็นเพราะเหล่าเจ้าหน้าที่ได้ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายจนไม่มีใครเกรงกลัวกันแน่!?