จากกรณีวันที่ 6 ม.ค. 64 กลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมา เดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ในกรุงวอชิงตัน และผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งได้บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาสหรัฐ
ส่งผลให้ต้องมีการอพยพผู้คนออกจากอาคารรัฐสภา และยังทำให้สภาคองเกรสต้องระงับการประกาศรับรองชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของนายโจ ไบเดน เป็นการชั่วคราว ซึ่งต่อมาได้มีการจลาจลเกิดขึ้น จนเป็นเหตุให้มีหญิงสาวหนึ่งในผู้ประท้วงถูกยิงเสียชีวิต 1 ราย
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้อารักขาบุคคลสำคัญของสภาคองเกรส โดยได้พาตัวรองปธน.ไมค์ เพนซ์ ซึ่งเป็นประธานในการประกาศผลการนับคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง ออกไปจากห้องประชุมวุฒิสภา นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ทำการล็อกดาวน์อาคารรัฐสภา และขอให้สมาชิกสภาคองเกรสทุกคนรีบเข้าไปอยู่ในเซฟเฮาส์ของอาคาร ทางด้าน ปธน.ทรัมป์ได้ออกมาเคลื่อนไหวทันทีที่ภาพข่าวการบุกอาคารรัฐสภาถูกเผยแพร่ออกไป โดยกล่าวว่า “พวกคุณต้องกลับบ้าน กลับบ้านเถิด เรารักคุณ คุณเป็นคนพิเศษ” แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ทรัมป์ยังเน้นย้ำเรื่องมีการโกงการเลือกตั้ง และยังไม่ยอมประกาศความพ่ายแพ้ รายงานระบุว่า ขณะนี้ทหารจากหน่วยกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ (National Guard) กว่า 1 พันนายได้เคลื่อนกำลังพลไปยังกรุงวอชิงตันแล้ว เพื่อสมทบกับกองกำลังของกรุงวอชิงตันในการรับมือกับเหตุการณ์จลาจลในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ลองย้อนดูที่ที่ไปของ หน่วยกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ (National Guard) กันว่า แท้จริงแล้วมีบทบาทอย่างไรกับสถานการณ์ต่างๆในสหรัฐอเมริกา
โดยตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริการะบุชัดเจนว่า ห้ามทุกเหล่าทัพของกองทัพสหรัฐเคลื่อนไหวด้านความมั่นคงภายในประเทศ แต่ในยามคับขันประธานาธิบดี ก็มีอำนาจตาม กฎหมายปราบการจลาจล ซึ่งบัญญัติขึ้นในสมัยสงครามกลางเมือง สามารถสั่งให้ทหารในทุกเหล่าทัพ หรือใน กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ (บ้างก็เรียก “กองกำลังพิทักษ์ชาติ” หรือ National Guard) ให้มาปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความสงบภายในประเทศแบบเดียวกับตำรวจได้ ไม่ว่าจะเป็นการจับกุม ตรวจค้น หรือควบคุมการชุมนุมทางการเมือง
กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ ไม่ใช่ทหารอาชีพ พวกเขาเป็นกองกำลังหน่วยพิเศษในระบบกำลังสำรองของกองทัพสหรัฐฯ ที่ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าการมลรัฐ และ สำนักงานกองกำลังพิทักษ์ชาติ หรือ National Guard Bureau ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนกลางของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แยกออกมาเป็น 2 เหล่าคือ กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิของกองทัพบกและกองทัพอากาศ แม้จะได้รับการฝึกฝนแบบเดียวกับทหารที่ขึ้นทะเบียนประจำการเต็มเวลากับกองทัพอย่างเป็นทางการ และมีระบบอาวุธเหมือนกองทัพ แต่พวกเขา “ไม่ใช่ทหารอาชีพ” แม้ว่าบางรายจะสมัครใจไปรบในอัฟกานิสถานและอิรักมาแล้วก็ตาม กำลังพลของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ สามารถประจำการเต็มเวลาหรือประจำการชั่วคราวได้ ปัจจุบันมีกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิประจำการใน 50 มลรัฐและเขตปกครองพิเศษของสหรัฐฯ กว่า 4.6 แสนนาย การเรียกใช้กำลังพลนี้ ผู้ว่าการมลรัฐจะเป็นผู้ออกคำสั่งผ่านผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิในมลรัฐนั้น ๆ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่
ภารกิจส่วนใหญ่ของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ จึงเป็นการรักษาความสงบและช่วยเหลือด้านความมั่นคงภายในรัฐที่ประจำอยู่เป็นหลัก หน้าที่หลักคือ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในมลรัฐตามคำสั่งของผู้ว่าการมลรัฐ เช่น การเข้าควบคุมสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉิน อาทิ การจลาจล การก่อการร้าย และการบรรเทาสาธารณภัยจากภัยพิบัติต่าง ๆ ส่วนหน้าที่ในระดับชาติ ก็คือการปฏิบัติงานตามคำสั่งของรัฐบาลกลาง เช่น การรักษาความสงบเรียบร้อยหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ
ที่ผ่านมา กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ เคยเข้าควบคุมสถานการณ์ความวุ่นวายภายในประเทศมาแล้วหลายครั้ง เช่น ในปี 2513 มีการเข้าควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนาม ที่มหาวิทยาลัยเคนท์สเตท มลรัฐโอไฮโอ ซึ่งครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 4 รายจากการใช้กระสุนจริงเข้าสลายการชุมนุม จากฐานข้อมูลในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิสหรัฐ พบว่า เท่าที่ผ่านมาในรอบกว่า 1 ศตวรรษ เคยมีการใช้อำนาจประธานาธิบดี สั่งการเรียกพลจากกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ เข้าควบคุมเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศสหรัฐประมาณ 12 ครั้ง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสมัยการประท้วงเรียกร้องสิทธิพลเมือง อาจกล่าวได้ว่า กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ คือกองทหารของมลรัฐและเขตปกครองพิเศษของสหรัฐฯ ซึ่งมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและบรรเทาสาธารณะภัยภายในมลรัฐเป็นหลัก ไม่ใช่การทำสงครามกับศัตรูภายนอกประเทศโดยตรง และแม้ว่าจะถูกฝึกหรือให้รับมือกับการจลาจลและประชาชนมาโดยเฉพาะ แต่การที่พวกเขาสามารถใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมหรือใช้อาวุธในการควบคุมสถานการณ์ ก็อาจทำให้เกิดการสูญเสียถึงชีวิตขึ้นได้
บางคนเรียกกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิว่า “ทหารบ้าน” ทำหน้าที่ควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยในมลรัฐที่สังกัดอยู่ ส่วนหนึ่งก็เป็นประชาชนคนธรรมดาที่ไปรับการฝึกแล้วมาทำงานในค่ายเป็นบางเวลาเท่านั้น ต่างกับกำลังพลที่ทำเต็มเวลามักจะเป็นนายทหารประทวนและสัญญาบัตร
นายโรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ เตยแถลงว่าการเคลื่อนไหวของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิในรัฐต่าง ๆ เป็นไปตามอำนาจอันชอบธรรมของผู้ว่าการรัฐและนายกเทศมนตรี เป้าหมายเพื่อปกป้องและรักษาความสงบในเมืองของตัวเอง และปฏิเสธกระแสข่าวว่า ประธานาธิดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการ “รวบอำนาจ” การบัญชาการกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิจากที่ขึ้นตรงกับผู้ว่าการรัฐ ให้มาอยู่ภายใต้คำสั่งจากส่วนกลางเป็นการชั่วคราว โดยนายโอไบรอันกล่าวว่า ทำเนียบขาวสนับสนุนการดำเนินงานของทุกรัฐ “ตามความเหมาะสม” ในการใช้อำนาจสั่งการกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้เคยขู่ว่าจะบังคับใช้กฎหมายปีค.ศ. 1807 หรือเมื่อ 213 ปีที่แล้ว เพื่อที่ประธานาธิบดีจะเป็นผู้สั่งเคลื่อนกำลังพลของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิทั่วประเทศ ในเหตุการณ์ความจลาจลจากการประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้นาย “จอร์จ ฟลอยด์” ชายผิวสีที่เสียชีวิตหลังจากตำรวจผิวขาวใช้หัวเข่ากดคอเขาไว้กับพื้นนานเกือบ 9 นาทีในเมืองมินนิอาโปลิส ได้ลุกลามการเป็นการจลาจลเรียกร้องความเท่าเทียมทางสีผิวไปทั่วประเทศ
ทั้งนี้แม้ว่า กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ หรือ National Guard จะไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจการบังคับบัญชาการของปรัธานาธิบดีทรัมป์โดยตรง แต่การเมืองอันซับซ้อนแล้ะการแย่งชิงอำนาจอย่างป่าเถื่อนของดินแดนประชาธิปไตย ทำให้ไม่สามารถคาดเดาบทบาทของกองกำลังดังกล่าวในสถานการณ์เช่นนี้ได้เลย