ในหลวง-พระราชินี โปรดเกล้าฯให้จัดสร้างรถชีวนิรภัยเพิ่มอีก 7 คัน ใช้ตรวจเชื้อเชิงรุกรับมือโควิดระบาดระลอกใหม่

2779

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พระราชทานรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย จำนวน 13 คัน ไปเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563 เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้ประโยชน์สำหรับใช้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในการเก็บตัวอย่างโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) แก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ

ได้อย่างรวดเร็ว เช่น โรงเรียน วัด ชุมชนแออัด และกลุ่มอาชีพเสี่ยงทั่วประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 เชิงรุก

ขณะนี้เมื่อโรคโควิด-19 ได้กลับมาแพร่ระบาดขึ้นรอบใหม่ในประเทศไทย และมีแนวโน้มขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดสร้างรถชีวนิรภัยเพิ่มเติมอีก จำนวน 7 คัน รวมเป็น 20 คัน ซึ่งจะช่วยตรวจหาเชื้อเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตประจำวันของประชาชน

ทั้งนี้รถตรวจเชื้อนิรภัยพระราชทานทุกคัน มีความพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำรถ และวัสดุอุปกรณ์สำหรับการเก็บตัวอย่างครบครัน ได้แก่ หลอดเก็บตัวอย่าง VTM, ไม้ swab และ Throat swab, ชุดตรวจ Rapid Ab test, วัสดุกับ ppe ปรอท, กาวน์กันน้ำ, surgical mask, หมวกคลุมผม, face shield, แอลกอฮอล์ และถุงแดง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ทรงห่วงใยในสุขภาพพลานามัยของประชาชน

และพระราชทานความช่วยเหลือทั้งแก่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อ ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งที่พระราชทานเพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563 ความว่า

“…อย่างที่บอกว่าประชาชนมีความสุข ประเทศมีความมั่นคง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัญหาต้องมี อุปสรรคต้องมีเสมอ แต่ถ้าเรามีความมั่นคงมีความอยากให้ประชาชนมีความสุข มีทัศนคติที่ดี ประชาชนก็มีความสุข พวกเราก็มีความสุข เพราะเราก็คือประชาชน…”

จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ต่อปวงพสกนิกรชาวไทย

อย่างไรก็ตามในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่และ และพระราชินี ได้ทรงแสดงความห่วงใยและพระราชทานความช่วยเหลือแทบทุกด้าน โดยมีภารกิจดังนี้

– เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 เฟซบุ๊ก กรมควบคุมโรค รายงานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานนวัตกรรม ห้องตรวจหาเชื้อ พัฒนาโดย เอสซีจี ให้แก่ สถาบันบำราศนราดูร เป็นแห่งที่ 5 จาก 20 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ภายใต้โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน ปกป้องบุคลากรทางการแพทย์จากโรคโควิด-19 พร้อมต่อยอดสู่การป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจอื่นได้

– เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 กรมประชาสัมพันธ์ ได้แจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์ ครบ 77 จังหวัด 123 โรงพยาบาลแล้ว ตามโครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน เพื่อรับมือสถานการณ์โรคโควิด-19

โดย 123 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ ส่วนเครื่องมือทางการแพทย์พระราชทาน ตามโครงการช่วยหายใจเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 อาทิ เครื่องช่วยหายใจ 200 เครื่อง , หน้ากากอนามัย 2,000,000 ชิ้น , Face Shield 50,000 ชิ้น , ชุด PPE 4,000 ชุด , Modular Swab Unit ตรวจเชื้อ 20 ห้อง , รถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉิน 8 คัน , รถตรวจชีวอนามัย 13 คัน ฯลฯ

รวมไปถึงเรื่องการฉีดวัคซีนถือเป็นข่าวที่ประชาชนรอคอย โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ได้เข้ามามีส่วนสำคัญในกระบวนการผลิต ซึ่งบริษัทนี้ถูกจัดตั้งมาจากพระราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงพระราชทานพระราชดำรัสเรื่องสุขภาพของประชาชน ด้วยทรงเห็นว่า ‘คน’ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาประเทศ สร้างความพอมี พอกิน และทรงให้ความสำคัญในการฟื้นฟูปัญหาสุขภาพของประชาชน เพื่อการพัฒนาประโยชน์สุขให้เกิดกับส่วนรวมและประเทศชาติ

ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2552 โดยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถือหุ้น 100% ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 บริษัทหลักคือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และบริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด โดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จะดำเนินการวิจัย พัฒนา และผลิตยา เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ มีการวิจัยพัฒนาและผลิตครบวงจร ตั้งแต่ตัวยาสำคัญและสารออกฤทธิ์ จนถึง ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

พร้อมผลิตวัคซีนโควิด-19 เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย ทำการผลิตต่อ แจกจ่ายหรือบรรจุ ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมเอาไว้ และวันนี้ทุกอย่างถือว่าพร้อมรับหากวัคซีนผลิตได้สำเร็จ นอกจากที่ดูแลและจ่ายประชาชนในประเทศ

ยังมีสัญญากับอาเซียนว่าจะต้องดูแลซึ่งกันและกัน และวัคซีนจะต้องเป็นสินค้าสาธารณะเพื่อให้คนทุกคนนั้นเข้าถึง ส่วนด้านการวิจัย พัฒนายา และวัคซีน หรือการวิจัยอื่น ๆ รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว มีการจัดทำกองทุนและระเบียบใหม่ในการวิจัยและพัฒนา ซึ่งในขณะนี้มีหลายผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพที่มีการผลิตภายในประเทศ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประเทศด้วย พร้อมกับในอนาคต หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าและสามารถฟื้นฟูได้ ประเทศไทยจะต้องพึ่งตัวเองให้ได้ในเรื่องวัคซีน และจะต้องเพียงพอต่อประชาชน