บิ๊กตู่ย้ำเม็ดเงินสู้โควิดพร้อม!! เตรียมไว้ 6.11 แสนล้านเติมได้อีก 8 หมื่นล้านถ้ายืดเยื้อ เน้นลดค่าใช้จ่าย จ่ายตรงอย่างมีเงื่อนไข

1716

การดูแลเศรษฐกิจประเทศเข้าสู่ขั้นตอนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่เมื่อการระบาดใหม่ของโรคโควิด-19 ขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้น จนต้องประกาศพื้นที่สีแดงเพิ่มมีแนวโน้มขยายวงไปอีก ทำให้แผนการดูแลเศรษฐกิจต้องปรับมาสู่การเน้นการเยียวยาผลกระทบอีกครั้ง งบฯตั้งหลักที่จะใช้ในวิกฤตครั้งนี้เริ่มที่ 6.11 แสนล้านบาท สำหรับงบฯเยียวยาตรงที่ประชาชนรอคอย รอทีมเศรษฐกิจเสนอภายในกลางเดือนนี้ นายกฯแย้มเน้นลดค่าใช้จ่ายและจ่ายตรงแบบมีเงื่อนไข ถ้ายื้ดเยื้อเพิ่มได้ทันทีอีก 8 หมื่นล้านบาท

เมื่อวานนี้พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงที่มางบประมาณเพื่อการต่อสู้กับการระบาดใหม่โควิด-19ว่าได้เตรียมงบประมาณจำนวน 611,000 ล้านบาทและได้มอบหมายให้ทีมเศรษฐกิจเตรียมแผนเยียวยารูปธรรมสำหรับคนไทย ทุกกลุ่ม กรอบระยะเวลา 2-3 เดือน เช่นอาจเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้วเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นการบริโภค เช่น เรื่องเที่ยวด้วยกัน เรื่องมาตรการคนละครึ่ง ซึ่งก็จะสรุปให้เร็วที่สุดภายในวันที่ 15 ม.ค.นี้ นอกจากนี้หากสถานการณ์ยืดเยื้อสามารถโยกงบฯจากหน่วยราชการเพิ่มได้อีก 80,000 ล้านบาท

กรอบงบประมาณเบื้องต้นเพื่อบริหารจัดการสู้โควิด-19 รอบใหม่

งบฯรวมจำนวน    611,000 ล้านบาท มีที่มา 2 ส่วนได้แก้ 1) งบฯเหลือจากกรอบวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท (2563) อนุมัติใช้ไปแล้ว 525,000 ล้านบาท  คงเหลือ   471,000 ล้านบาท 2) งบกลาง 140,000 ล้านบาท(ประกอบด้วยงบฯกลางปกติ 99,000 ล้านบาทและงบฯกลางจากสู้โควิด 40,000 ล้านบาท)

เงินที่เหลือจากจากวงเงินกู้รับมือโควิด-19 ระบาดรอบแรกแบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่

  1. แผนงานด้านสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาการระบาดโควิด-19 วงเงิน 45,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 2,500 ล้านบาท
  2. แผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ วงเงิน 555,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 386,000 ล้านบาท
  3. แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 139,000 ล้านบาท

แผนงานด้านสาธารณสุขคิ๊กออฟแล้ว

รัฐบาลวางยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณประจำปี 64-65 เน้นเรื่องโควิดมาเป็นอันดับแรกตั้งแต่ปีก่อน โดยเฉพาะจากงบฯปี 2564 ภายใต้แผนแม่บทเฉพาะกิจ “อยู่รอด-พอเพียง-ยั่งยืน”ครม.ได้อนุมัติแผนจัดสรรงบฯสู้โควิด-19 แล้วจากงบฯกลาง กรอบวงเงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท และได้อนุมัติเบื้องต้นไปวันที่ 29 ธ.ค.2563 เกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุขจำนวน 11,300 ล้านบาท ล่าสุดการประชุมครม.วันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา อนุมัติงบฯเพื่อใช้จ่ายของกระทรวงสาธารณสุขและจัดซื้อวัคซีนจำนวน 4,661 ล้านบาท

วันที่ 29 ธ.ค. 2563 ครม.อนุมัติโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุขจำนวน 10 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 11,300 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้

1.กลุ่มเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรค วงเงินงบประมาณรวม 4.33 พันล้านบาท ประกอบด้วย 5 โครงการ หนึ่งในนั้นคือ โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค โควิด-19 ในชุมชน จำนวน 1.05 ล้านคน ระยะเวลา 3 เดือน (มกราคม – มีนาคม 2564) ผู้รับผิดชอบโครงการคือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ วงเงิน 1,570 ล้านบาท

2.กลุ่มรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ วงเงินงบประมาณรวม 6.96 พันล้านบาท ประกอบด้วย 3 โครงการ 

3.กลุ่มสนับสนุนจัดซื้อเครื่องมือ พัฒนาระบบฯ วงเงินงบประมาณรวม 27.2 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 โครงการ คือ

5 ม.ค.64  กระทรวงสาธารณสุขขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้

  1. รับทราบโครงการเตรียมความพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะการระบาดระลอกใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
  2. อนุมัติสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 4,661,116,203 บาท

งบฯที่ได้รับอนุมัติมาก็จะนำไปใช้ในโครงการต่างๆและจัดซื้อวัคซีนให้คนไทยนั่นเอง ซึ่งเรื่องวัคซีนนายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา โฆษกกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยไทม์ไลน์วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่จะนำเข้ามายังประเทศไทย ดังนี้-ปลายเดือน ก.พ. 2564 จำนวน 200,000 โดส -เดือน มี.ค. 2564 จำนวน 800,000 โดส-เดือน เม.ย. 2564 จำนวน 1,000,000 โดส-เดือน พ.ค. 2564 จำนวน 26,000,000 โดส

(ครม.) อนุมัติงบกลางแก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้ในการจัดซื้อวัคซีน 2 ล้านโดส ของ บริษัทซิโนแวค ไบโอเทค และค่าการบริหารจัดการและเก็บรักษาวัคซีน รวม 1.3 พันล้านบาท อีกทั้ง รัฐบาลยังได้สั่งจองวัคซีนแอสตราเซนเนกาที่ผลิตโดย สยามไบโอไซเอนซ์ รวม 61ล้านโดสด้วย

อุ่นใจได้ว่า เงินนะมี แต่คนไทยต้องร่วมแรงร่วมใจทุกฝ่ายจึงจะฝ่าฟันศึกครั้งนี้ให้ผ่านไปได้อีกครั้ง