จากที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จัดรายการเฟซบุ๊กไลฟ์พิเศษ ในหัวข้อ “ประเทศไทย 2021: ข้อเสนอจัดการโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจ” โดยได้พูดถึงการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไว้บางช่วงที่ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงว่ามีมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้โดยประธานคณะก้าวหน้า อ้างว่า สถานการณ์ในขณะนี้มีความน่ากังวลเป็นอย่างมาก ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ล่าสุดมากถึง 745 คน ตนขอให้กำลังใจครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด และขอให้กำลังใจผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังทำหน้าที่เพื่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศต่อสู้กับไวรัส
“วิกฤติดังกล่าวทำให้ตนต้องมาพูดถึงข้อเสนอในการจัดการ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปทางไหนและจะใช้ชีวิตอย่างไรในปี 2564 นี้ ซึ่งในทางหลักการแล้ว การออกมาตรการต่างๆ ของภาครัฐจำเป็นจะต้องยึดหลักการที่สำคัญสองหลักการ นั่นคือ1.ความได้สัดส่วน และ 2. การตั้งอยู่บนความเป็นธรรมและความเสมอภาค
ความได้สัดส่วน หมายความว่ามาตรการที่ออกมาจะต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่รุนแรงจนเกินเหตุ หรือไม่อ่อนจนเกินเหตุ เช่น ถ้าขอให้ประชาชนหยุดงานเพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนและให้ค่าชดเชยเพียงวันละ 100 บาท สิ่งนี้ไม่ได้สัดส่วน เพราะการเสียเวลาและโอกาสทางเศรษฐกิจต่อวันค่าสูงกว่านั้น ส่วนเรื่องของความเสมอภาคเท่าเทียม หมายถึงการไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ให้คุณหรือไม่ให้โทษกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ ยกตัวอย่าง ถ้าบริเวณเดียวกันมีสถานที่สองแห่ง ที่หนึ่งถูกสั่งปิด แต่อีกที่หนึ่งมีลักษณะการใช้พื้นที่แบบเดียวกันแต่ไม่ถูกสั่งปิด นี่คือความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรม” นายธนาธร กล่าว
นอกจากนี้นายธนาธร ยังกล่าวถึงการออกมาตรการที่ทำให้เห็นถึงความไม่เสมอภาค เช่น ห้างสรรพสินค้าหลายห้างที่ยังได้รับอนุญาตให้เปิดบริการ แต่สถานศึกษาหลายแห่งถูกสั่งให้ปิดการเรียนการสอน ทั้งๆ ที่สถานที่ต่างๆ เหล่านี้อยู่ในบริเวณเดียวกัน การปิดโรงเรียน 28 จังหวัดทำให้เกิดผลกระทบกับนักเรียน 4.4 ล้านคน โดยกลุ่มคนที่เปราะบางได้รับผลกระทบ คือกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่จะทำให้โอกาสได้รับการศึกษาในช่วงการเรียนออนไลน์ รวมทั้งกรณีในจังหวัดนครนายก ที่โรงเรียนและสถานศึกษาอื่นๆถูกสั่งให้ปิด แต่โรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าไม่ถูกสั่งปิด
อย่างไรก็ตามนายธนาธร ยังระบุก้าวต่อไปของประเทศไทยในปี 2564 มีโจทย์หลักๆ 5 ข้อ คือชุดปัญหาที่เกิดก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 3 ปัญหา นั่นคือ 1.ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในชีวิต 2. ปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ 3. ปัญหาเรื่องประชาธิปไตย ปัญหาทั้งสามเรื่องนี้ไม่ได้หายไป แต่ถูกทำให้รุนแรงมากขึ้นจากการเข้ามาของโควิด ส่วนชุดปัญหาอีกชุดหนึ่ง ประกอบไปด้วยสองส่วน คือ 1. การจัดการวัคซีนที่เป็นธรรม และ 2. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ฉับพลัน
“ปัญหาวัคซีน ตอนนี้ที่เป็นข่าวอยู่คือทางรัฐบาลได้ร่วมมือกับ Siam Bioscience และบริษัท AstraZeneca ในการจัดหาวัคซีนสำหรับคนไทยจำนวน 26 ล้าน dose 1 คนใช้ 2 dose เพียงพอสำหรับคน 13 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
บุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดอยู่ ควรเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่จะต้องได้รับวัคซีน กลุ่มที่สองคือกลุ่มทีมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตจากไวรัสมากที่สุด และกลุ่มที่สาม คือกลุ่มคนที่เปราะบางที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ เช่น คนที่ต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะและสังคม” ประธานคณะก้าวหน้า ระบุผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์
และสุดท้ายนายธนาธร ได้กล่าวถึงการออกแบบบริการภาครัฐทั้งหมดให้อยู่บนโลกออนไลน์ และออกแบบมาตรการที่จะจูงใจให้ประชาชนหันไปใช้บริการทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดภาระในการเดินทางไปสถานที่ราชการ การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ในระยะยาว เพราะตั้งแต่ ปี 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยพึ่งพิงกับอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอิ่มตัวแล้วและไม่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่ได้อีก ไม่สามารถเพิ่มการจ้างงานได้อีก และมีแนวโน้มที่การจ้างงานจะลดลงด้วยซ้ำ
“ที่สำคัญต้องเลิกพึ่งพิงเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศได้แล้ว จากประสบการณ์ของหลายๆ ชาติ เป็นที่พิสูจน์แล้วว่าประเทศจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปได้ ต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ดังนั้น ถ้าเอาความต้องการที่จะแก้ปัญหาสังคมภายในประเทศมาสร้างเป็นอุตสาหกรรมใหม่ได้ ก็จะสามารถเพิ่มการจ้างงานในระบบได้ และสุดท้าย คือการเตรียมตัวเยาวชนให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะและเรื่องค่านิยม ต้องเริ่มบ่มเพาะตั้งแต่วันนี้ ค่านิยมที่เปิดรับความหลากหลาย ไม่เลือกปฏิบัติ และค่านิยมที่รักและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพ” นายธนาธร กล่าว
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 31ธ.ค.63 นายธนาธร ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อ จบปีแห่งมรสุมและปีแห่งเสียงเรียกร้องของยุคสมัย ก้าวสู่ปีใหม่แห่งความหวัง โดยมีบางช่วงที่สำคัญว่า จากความสิ้นหวังสู่ความหวัง จากวิกฤตแปรเปลี่ยนเป็นพลัง ด้วย ความกล้าหาญของประชาชน
ความไม่พอใจต่อความอยุติธรรมในสังคม รวมกับความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐบาลที่สั่งสมมานานหลายปี ระเบิดออกมาในรูปของการชุมนุมประท้วงและการแสดงออกหลากหลายรูปแบบ ความตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชนคนหนุ่มสาว ไม่อาจถูกหยุดยั้งด้วยอำนาจรัฐที่ไร้ความชอบธรรม เพื่อรักษาอำนาจ โดยอ้างมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 มาปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนได้
เสียงของประชาชนคนไทยที่กล้าหาญเหล่านี้ กลายเป็นเสียงเรียกร้องแห่งยุคสมัยที่ต้องการอนาคตที่เท่าเทียม เป็นธรรม โดยที่ผู้ชุมนุมคณะราษฎรได้เปิดเพดานเสรีภาพแห่งการแสดงออกทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ด้วยข้อเรียกร้องที่เรียบง่ายแต่แหลมคมอย่างยิ่ง การมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รัฐธรรมนูญฉบับฉันทามติใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์