อัษฎางค์ ชื่นชม พล.ท.สรภฎ เบิกเนตรการกระทำผิดของคณะราษฎร์ 2475 ว่ายังมีสำนึก ขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดา

2766

จากกรณีที่พลโทสรภฎ นิรันดร อดีตรองเจ้ากรมยุทธการทหารบก แถลงข่าวสำนึกผิดแทนบิดา พันตรีเสวก นิรันดร หรือ ขุนนิรันดรชัย หนึ่งในคณะราษฎร 2475 เนื่องจากกระทำการมิบังควรต่อทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาเป็นของตนเองโดยมิชอบ แต่ก็ไม่ได้บอกรายละเอียด เนื่องจากบางเรื่องเป็นเรื่องที่ส่งผลไปในทางลบ

โดย พล.ท.สรภฎ กล่าวว่า ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในนามคณะราษฎร 2475 บิดาถูกแต่งตั้งให้เป็นนายกองก่อตั้งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเป็นคณะกรรมการตรวจสอบพระคลังข้างที่ กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปี 2475 – 2491 ซึ่งส.ส.อุบลราชธานี สมัยนั้น อภิปรายถึงความไม่โปร่งใสของคณะกรรมการตรวจสอบพระคลังข้างที่ บิดาจึงจับ ส.ส. ท่านนั้นโยนน้ำหน้าตึกรัฐสภา ต่อมาบิดาได้ร่วมกับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ก่อตั้งธนาคารนครหลวง กระทั่งบิดาได้เป็นประธานธนาคารนครหลวง ในเวลาต่อมา

ก่อนเสียชีวิต พันตรีเสวก นิรันดร ได้สำนึกในความผิด เรื่องแรกคือ ท่านเป็นข้าราชการทหาร แต่ได้เสียน้ำพิพัฒน์สัตยาต่อพระมหากษัตริย์ อีกประการ คือ ท่านเป็นกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งท่านได้ทำเรื่องที่มิบังควร ท่านสั่งเสียไว้ว่า อยากจะขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ไม่มีโอกาส เสียชีวิตไปก่อน ด้วยโรคความดันโลหิตสูง และเป็นอัมพาต

จากนั้นตนก็ได้นำเรื่องนี้ปรึกษากับพี่ชาย คือ นายธรรมนูญ นิรันดร ซึ่ง นายธรรมนูญ บอกว่า เป็นโอกาสดี เพราะนามสกุล นิรันดร ก็เป็นนามสกุลพระราชทาน แต่ก็ไม่มีโอกาสอีก เพราะนายธรรมนูญ เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2563

ตนซึ่งเป็นหนึ่งในลูกของ ขุนนิรันดรชัย ที่ยังมีชีวิตอยู่ และเป็นข้าราชการของกองทัพบก ตนก็ต้องทำตามความประสงค์ของบิดาที่ได้สั่งเสียไว้ก่อนเสียชีวิต ซึ่งก่อนที่เสียชีวิต บิดาเป็นอัมพาต และเชื่อว่าเป็นเพราะเสียน้ำพิพัฒน์สัตยาต่อพระมหากษัตริย์

จากนั้นพลโทสรภฎ นิรันดร ได้ทำพิธีขอพระราชทานอภัยโทษแทน พันตรีเสวก นิรันดร คณะราษฎร 2475 ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ทั้งนี้เพื่อที่วิญญาณของ ขุนนิรันดรชัย จะได้ไปสู่สุคติ และนำความเป็นสิริมงคลต่อครอบครัว ตระกูลนิรันดร

ประการสุดท้าย พลโทสรภฎ ระบุว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ อยู่คู่กับประเทศไทยมาช้านาน อยากให้เยาวชน ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ให้ถ่องแท้ เพราะทุกคนเป็นอนาคตของประเทศ ซึ่งวันนี้ตนก็ได้ทำหน้าที่แทนบิดา ซึ่งเชื่อว่าจากนี้ ดวงวิญญาณของบิดา จะได้ไปสู่สุคติ

เมื่อถามว่า อนาคตจะมีการคืนทรัพย์สินกลับไปหรือไม่ พลโทสรภฎ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ขัดข้อง เพราะแม้แต่ชีวิตก็สละให้ได้ แต่ต้องถามความเห็นของหลาน ๆ และของที่คืนกลับไปต้องบริสุทธิ์ผ่องใส


ต่อมา ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน์ ให้ข้อมูลเพิ่งเติม โดยโพสต์ไว้ใน เฟซบุ๊ก ระบุว่า สรุปว่าเป็นการจัดฉากแสดงบทบาทผู้สำนึกผิดเฉย ๆ ไม่ได้จะคืนทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดนั้นแต่อย่างใด
เรื่องคดีความที่เงียบไปนั้น ก็เพราะตกลงผลประโยชน์กันได้ จึงมีการถอนฟ้อง ทรัพย์สินที่ดินที่ตกทอดเป็นมรดกมาก็ของใครของมัน ขอพระราชทานอภัยฉากนี้แล้วก็น่าจะจบการแสดงไปโดยเรียบร้อย

ส่วนที่ พล.ท.สรภฎ นิรันดร กล่าวว่านามสกุลนิรันดรเป็นนามสกุลพระราชทานนั้น ผิดนะครับ นามสกุลเดิมของขุนนิรันดรชัย คือ นีลัญชัย อันนี้ใช่นามสกุลที่ ร.๖ พระราชทานให้ รองเสวกตรีจิตร์ มหาดเล็ก ซึ่งถ้าผู้นี้ไม่ใช่บิดาก็คงเป็นลุงหรืออาของขุนนิรันดรชัย

ส่วนนามสกุลนิรันดร มาจากการที่คณะรัฐมนตรีของหลวงพิบูลสงครามเห็นชอบให้ผู้มีบรรดาศักดิ์ สามารถนำชื่อบรรดาศักดิ์มาเปลี่ยนเป็นนามสกุลตนได้ ขุนนิรันดรชัยก็เปลี่ยน เอานามสกุลพระราชทานทิ้งไป มาใช้นามสกุลที่จอมพลแปลกอนุญาต

เรื่องนี้ลูกหลานจึงควรกตัญญูให้ถูกคน นอกจากนี้ท่านยังเป็นคนให้โอกาสขุนนิรันดรชัย เข้าไปหาทรัพย์โดยมิชอบของพระคลังข้างที่ด้วย


ล่าสุดนายอัษฎางค์ ยมนาค ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับประเด็นนี้ ด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า “ขุนนิรันดรชัย ไม่ใช่สมาชิกของคณะราษฏร์คนแรกและคนเดียวที่สำนึกผิดกับการยึดพระราชอำนาจด้วยการอ้างประชาธิปไตยเพื่อปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ยังมีสมาชิกคนสำคัญอีกหลายคนที่สำนึกผิดก่อนตาย

แต่คณะราษฏร์ 2563 รวมทั้งธนาธรและพวก กลับมาเชิดชู และประกาศจะสานต่อภาระกิจคณะราษฏร์ 2475
ซึ่งเราสามารถตีความได้หรือไม่ว่า มันคือความต้องการจะยึดพระราชอำนาจเพื่อล้มล้างพระมหากษัตริย์ และยึดทรัพย์สมบัติของสถาบันฯ เอาไปเป็นของตน ด้วยการอ้างประชาธิปไตยบังหน้าเพื่อหลอกใช้ประชาชนเป็นกองกำลังล้มเจ้าของตนเอง ตามที่ประกาศจะสารต่อภาระกิจคณะราษฏร์

หมายเหตุ มีผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ พล.ท.สรภฎ นิรันดร ไปต่าง ๆ นานา แต่สำหรับผม ก็ยังชื่นชมว่าอย่างน้อยท่านได้ เบิกเนตรให้กับคนที่หลงผิดคิดว่า การกระทำของคณะราษฏร์นั้นเพื่อประชาธิปไตย และเป็นการเบิกเนตรในคนต้นคิดและผู้สนับสนุนให้สานต่อภาระกิจคณะราษฏร์ ได้รับรู้ว่า ก่อนตาย สมาชิกของคณะราษฏร์เอง ยังสำนึกว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นเป็น การกระทำที่ผิด”

 

ขอบคุณเฟซบุ๊ก : อัษฎางค์ ยมนาค