อย.สหรัฐเร่งตรวจสอบ?!? วัคซีนต้านโควิด-19ของไฟเซอร์ ฉีดแล้วกว่า 7 ปท.พบก่อผลข้างเคียงรุนแรงในผู้มีภูมิแพ้

2308

อย.สหรัฐเต้น เร่งตรวจสอบหาสาเหตุการแพ้รุนแรงหลังฉีดวัคซีนต้านโควิดของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค จำนวนกว่า 5 รายที่สหรัฐ 3 ราย และในสหราชอาณาจักร  2 ราย ทำให้องค์กรที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุขทั้งสหรัฐและสหราชอาณาจักร ต้องออกคำเตือนให้ผู้มีประวัติภูมิแพ้ แพ้ยาและอาหารระงับการฉีด ทั่วโลกเผชิญโควิดกลายพันธ์และตั้งคำถามต่อวัคซีนไฟเซอร์-โมเดอร์นาของสหรัฐ ที่ใช้ขณะนี้จะต้านทานโควิดได้จริงหรือไม่ ขณะที่วัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด-แอสตราเซเนก้าที่ไทยลงนามทำสัญญาจองล่วงหน้า ทำการทดสอบพบผลข้างเคียงเล็กน้อย คาดจะผลิตใช้ได้กลางปี 2564 ต้องจับตาผลการฉีดวัคซีนในประเทศต่างๆอีกระยะหนึ่ง ก่อนได้ฉีดวัคซีนคนไทยต้องยืนหยัดสวมหน้ากากอนามัย พกเจลล้างมือ รักษาระยะห่างอย่างเคร่งครัด

เนื่องจากว่าวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนที่ใหม่ นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่มีความมั่นใจถึงผลกะทบในระยะยาวเท่าไรนัก แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แพร่ไปทั่วโลกทำจำนวนคนป่วยและเสียชีวิตพุ่งไม่หยุด ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องอนุมัติการใช้งานวัคซีนเป็นการฉุกเฉิน

สำหรับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด 19 ที่ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์สหรัฐและบริษัทไบโอเอ็นเทคจากเยอรมนี ได้มีการอนุมัติใช้งานแล้วในประเทศอังกฤษ บาห์เรน ซาอุดิอาระเบีย แคนาดา และมีการอนุมัติใช้งานแบบฉุกเฉินในสหรัฐ คูเวต เม็กซิโก ถือว่าเป็นวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ชนิดแรกของโลกที่มีการอนุมัติใช้งานอย่างเป็นทางการ

หลังการอนุมัติใช้งานดังกล่าว ก็ปรากฏข่าวว่า มีผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการรับวัคซีน จนในที่สุดอังกฤษและสหรัฐฯ ต้องมีการประกาศเตือนว่าผู้ที่มีอาการแพ้นั้นไม่ควรที่จะรับวัคซีนต่อไป ทำให้ ณ เวลานี้ ทั่วโลกเกิดการตั้งคำถามว่า วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเทคนั้นมีความปลอดภัยจริงหรือไม่

 

สหรัฐลุยฉีดก่อนพบปัญหาก่อนแต่ยังเดินหน้าต่อ

23 ธ.ค.2563 มีรายงานพบผู้มีอาการแพ้รุนแรงรวมอย่างน้อย 3 รายในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร 2 ราย หลังได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 จาก ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ที่เพิ่งจะได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นวงกว้างได้เป็นกรณีฉุกเฉิน โดยผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรง รายล่าสุดเป็นหัวหน้าพยาบาลทิฟฟานี โดว์เวอร์ ทำงานที่ ซีเอชไอ เมโมเรียล รัฐเทนเนสซี มีอาการสลบกระทันหัน หลังฉีดวัคซีนต้านโควิดไม่นาน ท่ามกลางการให้สัมภาษณ์สื่อทีวีถ่ายทอดสด และบรรดาแพทย์ได้รีบเข้ามาช่วยเธอจนปลอดภัย

ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในรัฐอะแลสกาของสหรัฐฯ ก็มีอาการผิดปกติ มีไข้ อาเจียน ปวดศีรษะ และเบื้องต้นกำลังอยู่ในระหว่างเข้าพักสังเกตอาการที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งภายในรัฐ ซึ่งเขาไม่เคยมีประวัติการแพ้ยามาก่อน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหราชอาณาจักร 2 ราย ก็เคยแสดงอาการแพ้รุนแรงหลังได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 เมื่อต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา อังกฤษได้เริ่มโครงการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของไฟเซอร์ และไบโอเอ็นเทค ครั้งใหญ่ให้แก่ประชาชนเมื่อวันอังคาร (8 ธ.ค.) โดยเริ่มจากกลุ่มผู้สูงอายุ และบุคลากรทางการแพทย์ มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ 2 รายของหน่วยงานสาธารณสุขมีอาการแพ้หลังจากได้รับวัคซีนดังกล่าวทั้งๆที่ไม่มีประวัติแพ้ยา หรือภูมิแพ้แต่อย่างใด

“เจ้าหน้าที่ขอแนะนำให้ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนดังกล่าว หลังจากเกิดกรณีผู้ที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ 2 รายเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน” นายสตีเฟน โพวิส ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติ (NHS) ระบุ   หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง MHRA: Medicines and Healthcare products Regulatory Agency จึงแนะนำให้ประชาชนที่เคยมีประวัติการแพ้ อาหาร ยา รวมถึงวัคซีน เลี่ยงการรับวัคซีนต้านโควิด-19 ในช่วงเวลานี้ แม้อาการแพ้วัคซีนจะเกิดขึ้นไม่ค่อยบ่อยมากก็ตาม 

เบื้องต้นยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าผู้ที่มีอาการแพ้ทั้ง 3 รายเกิดอาการแพ้จากการได้รับวัคซีนหรือเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น โดย Pfizer ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดของการเกิดอาการแพ้ทั้งหมด แต่ได้ประสานงานกับทีมเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแล้ว เพื่อสังเกตและตรวจสอบอาการแพ้ของผู้ที่มีรายงานความผิดปกตินี้ 

ทางด้าน ดร.วิลเลียม กรูเบอร์ รองประธานอาวุโส ทีมพัฒนาและทดสอบวัคซีนต้านโควิด-19 จาก Pfizer ระบุว่า ในการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ราว 44,000 รายที่ผ่านมา เรายังไม่เคยพบอาการแพ้รุนแรงที่เกิดขึ้นจากการได้รับวัคซีนแต่อย่างใด 

ขณะที่ ดร.พอล ออฟฟิต ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวัคซีนสำหรับเด็กในโรงพยาบาลฟิลาเดลเฟีย แสดงความกังวลว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจทำให้เชื่อว่า พลเมืองอเมริกันจำนวนมากที่มีอาการแพ้ไม่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 จาก Pfizer ได้ในช่วงเวลานี้ ซึ่งมีจำนวนเป็นสิบๆ ล้านคน

 ด้านองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) แนะให้ทาง Pfizer สรุปรายงานอาการแพ้รุนแรงที่เกิดขึ้นโดยเร็ว ตามระบบ Vaccine Adverse Event Reporting System ที่ได้ตกลงไว้ หากเกิดความผิดปกติใดๆ ขึ้นที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการได้รับวัคซีน รวมถึงจะทำงานร่วมกันกับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) อย่างใกล้ชิด เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้

วัคซีนของม.ออกฟอร์ดฯพบมีผลข้างเคียง 1 ราย

สำนักข่าว AFP ของประเทศฝรั่งเศส ได้ประมวลผลข้างเคียงของวัคซีนบริษัทไฟเซอร์ รวมไปถึงวัคซีนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เพื่อนำเสนอต่อสาธารณ มีรายละเอียดต่อไปดังนี้

โดยวารสารทางการแพทย์ชื่อว่า New England Journal of Medicine ได้มีการบรรยายเอาไว้ว่าวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์นั้นเป็นวัคซีน mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ โดยจะใช้การสังเคราะห์โมเลกุลที่เรียกว่า messenger RNA เพื่อเจาะเข้าไปในเซลล์ของมนุษย์ และออกคำสั่งให้มีการผลิตสารภูมิคุ้มกันโรค

ที่ผ่านมามีการทดลองการรักษาในระยะ 3 กับกลุ่มอาสาสมัครจำนวนกว่า 40,000 คน จนกระทั่งได้ข้อสรุปว่าวัคซีนนั้นมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ได้รับวัคซีนนั้นจะมีอาการเจ็บที่บริเวณฉีดวัคซีน และหลายรายมีอาการอ่อนแรง ปวดหัว และปวดกล้ามเนื้อ แต่บางรายก็มีอาการต่อมน้ำเหลืองบวมโต ซึ่งอาการผลข้างเคียงของวัคซีนนั้นจะมีมากขึ้น และรุนแรงขึ้นในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อย

ขณะที่วัคซีนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนั้นเป็นวัคซีนที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าโดยใช้ไวรัสซึ่งตายแล้วเป็นตัวกระตุ้นเซล และใช้อะดีโนไวรัสของลิงชิมแปนซีเป็นพาหะของวัคซีนในร่างกาย

ซึ่งผลการทดลองวัคซีนเบื้องต้นนั้น วารสารทางการแพทย์ Lancet เคยเผยแพร่ไปแล้วว่าในการทดลองวัคซีนกับกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 23,000 ราย พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยเช่นกัน

ที่ผ่านมานั้นผลกระทบอันรุนแรงที่มาจากการฉีดนั้นเป็นเรื่องที่หาได้ยากเป็นอย่างยิ่ง  โดยวารสาร Lancet ได้เคยระบุว่ามีผู้ทดลองวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเพียงแค่ 1 รายเท่านั้นที่มีผลกระทบขั้นรุนแรงซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน คนไข้รายดังกล่าวนั้นมีอาการเจ็บป่วยจากภาวะไขสันหลังอักเสบ ซึ่งเป็นอาการทางประสาทที่หายาก แต่จากอาการดังกล่าวนั้นทำให้เกิดการหยุดการทดลองวัคซีนเป็นการชั่วคราวเมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

ขณะที่วัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเทคนั้นพบว่ามีผลข้างเคียงเช่นกัน โดยมีอาการของโรค Bell’s palsy หรือโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ซึ่งอาสาสมัครนั้นจะมีอาการอัมพาตที่ใบหน้าเป็นการชั่วคราว อย่างไรก็ตาม พบว่ามีแค่อาสาสมัคร 4 ราย จากกลุ่มทดลองในระยะ 3 จำนวน 18,000 รายเท่านั้นที่ป่วยด้วยอาการดังกล่าว ทั้งนี้ ความถี่ของผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ในกลุ่มทดลองนั้นถือว่ามีความถี่เทียบเท่ากับอัตราส่วนของผู้ป่วยโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกในกลุ่มประชากรปกติ ดังนั้นจึงไม่อาจจะได้ข้อสรุปชัดเจนว่าอาสาสมัครซึ่งมีอาการใบหน้าครึ่งซีกนั้นมาจากการฉีดไวรัสหรือไม่

วันที่ 27 พ.ย.2563 รัฐบาลไทยลงนามในสัญญาจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าจากบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) บริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน จำนวน 26 ล้านโดส โดยมีบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธยรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนดังกล่าวที่รัฐบาลคาดว่าคนไทยจะมีวัคซีนโควิด-19 ใช้ในปี 2564