จากกรณีที่ นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ บิดาของเยาวชนวัย 16 ปีที่ต้องคดีมาตรา 112 ได้โพสต์ข้อความถึงลูก โดยมีเนื้อหาบางส่วนระบุว่า
“ความในใจของพ่อเด็ก 16 ผู้เจอคดีม.112
คงต้องกล่าวอย่างจริงใจว่า…บางสิ่งบางอย่างที่ลูกคิด ลูกทำ ผมอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ผมเคารพการตัดสินใจของลูก
ผมไม่รู้ว่าผิดหรือถูกนะครับ แต่ผมสอนลูกให้มีอิสระทางความคิด ให้เขารู้จักการตั้งคำถาม และแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง
พร้อมกับสอนให้เขารับผิดชอบกับผลของการกระทำนั้นๆด้วย ไม่ว่าจะบวกหรือลบ
เรื่องคดีความคงต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ผิดถูกอย่างไรค่อยว่ากันอีกที
แต่ถ้าถามถึงความรู้สึกส่วนตัวของผมเมื่อเห็นลูกวัยแค่นี้ถูกคดีการเมืองรุนแรง แน่นอนครับ ผมคงเหมือนพ่อแม่ทุกคนที่เจ็บปวดไปกับลูก ทั้งรักและห่วงกังวล
ในฐานะของคนเป็นพ่อแม่ สิ่งที่กระทำได้ดีที่สุดในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ คือการจูงมือลูกให้แน่น พร้อมเดินฝ่าความโหดร้ายและอุปสรรคนานับประการไปด้วยกัน
เรา…ผู้เป็นพ่อแม่เมื่อเห็นลูกสะดุดล้มเช่นนี้ คงทำได้เพียงแค่เป็นเบาะรองรับตัว ให้เจ็บน้อยที่สุด
แม้ว่าจะแลกด้วยความเจ็บปวดของตัวเองก็ตาม
นั่นคงเป็นวิถีของพ่อแม่ทุกคนมิใช่หรือ…
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุการณ์อันแสนปวดร้าวเช่นนี้จะหยุดอยู่แค่ครอบครัวของผม
ขอมันอย่าได้เกิดขึ้นกับครอบครัวคนอื่นๆอีกเลย”
ซึ่งจากโพสต์ดังกล่าว ทำให้สังคมบางส่วนออกมาแสดงความเห็นอกเห็นใจ และไม่พอใจที่เยาวชนผู้ละเมิดกฎหมายโดยไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมคนหนึ่ง จะต้องได้รับโทษตามความผิดที่ได้ก่อ โดยการตั้งคำถามไร้ซึ่งความคิดว่า “ใช้ ม. 112 กับเด็กอายุ 16 ได้อย่างไร”
ต่อมา ดร.เสรี วงษ์มณฑา ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันทิศทางไทย นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีรายละเอียดดังนี้
“อายุ 16 จะทำอะไรก็ได้กระนั้นหรือ
ทำผิดกฎหมายก็ห้ามใช้กฎหมายจัดการเอาผิดกระนั้นหรือ
สื่อและผู้ชุมนุมที่มาติดตามข่าวการรับรู้ข้อกล่าวหาทำให้น้องเขาเป็น hero คงเป็นเหตุนี้ที่เด็กหลายคนจึงกล้าทำผิดกฎหมาย
ตลอดเวลาที่อยู่ที่ สน. ยังชู 3 นิ้วตลอดเวลา แสดงว่ายังคงยืนยันในความคิดของตนเอง และยังอยากขึ้นเวทีปราศรัยอีกต่างหาก
ประโยคที่ว่า “ใช้ ม. 112 กับเด็กอายุ 16 ได้อย่างไร” เป็นวาทกรรมที่ไม่มีตรรกะนะคะ อายุเท่าไหร่ ทำผิดกฎหมาย ก็ต้องถูกจัดการด้วยกฎหมายนะคะ”
ล่าสุด นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา โพสต์ข้อความถึงกรณีที่นายมานะได้อ้างว่าให้อิสระภาพทางความคิดกับลูกผ่านเฟซบุ๊กว่า
“ผู้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ หรือพระราชินี
การกระทำความผิดตามมาตรา 112 ย่อมไม่แตกต่างกับการกระทำความผิดฐานการข่มขืนกระทำชำเรา ตามมาตรา 276 หรือมาตรา 277
การขายหรือจำหน่ายยาบ้าซึ่งเป็นยาเสพติดประเภท 1 ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตาม พรบ.ยาเสพติดให้โทษ ก็ไม่ต่างกับการกระทำความผิดตามมาตรา 112
ถ้าการกระทำความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท ฯลฯ พระมหากษัตริย์หรือพระราชินี เป็นเพราะการให้อิสระทางความคิดแก่บุตร
หากบุตรไปข่มขืนกระทำชำเราเพื่อนนักศึกษาหรือจำหน่ายยาเสพติดเป็นเพราะการให้ความอิสระทางความคิดแก่บุตรหรือเป็นเพราะไม่ได้ให้การอบรมสั่งสอนให้บุตรรู้ว่าคนดีต้องไม่กระทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย ?
ความคิดกับการกระทำย่อมต่างกัน
มีเพียงความคิดไม่ว่าคิดอย่างไรก็ไม่ผิดกฎหมาย
แต่การกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายไม่อาจกระทำโดยอิสระได้เพราะผิดกฎหมายและมีโทษ”