ก่อนปีใหม่มีข่าวดีให้รัสเซียและประเทศไทย เมื่อสนข.บลูมเบิร์กยกไทยอันดับ 1 ตลาดเกิดใหม่(Ems:Emerging Market) ปี 2564 ที่น่าลงทุนที่สุด รัสเซียเป็นอันดับสอง เหตุเพราะประเทศไทยทุนสำรองต่างประเทศมหาศาล และกระแสเงินสดดีต่อเนื่อง ขณะที่รัสเซียมูลค่ารูเบิลต่ำทำส่งออกดี ดุลบัญชีเดินสะพัดดีมากตลอดจนนโยบายการคลังแข็งแกร่ง หมายความว่ารากฐานเศรษฐกิจไทยมั่นคงเพียงพอ ที่จะทะยานไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ตัวถ่วงที่เป็นอุปสรรคคือการเมืองร้อน มีม็อบทำลายชาติที่ไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อไร แก้ตรงนี้ได้ไทยฉลุย
ระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ เดิมเรียกว่าตลาดกำลังพัฒนา แบ่งออกตามภูมิภาค 3 โซนด้วยกัน
- ประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ไทย, เกาหลีใต้, จีน, อินเดีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย และปากีสถาน
- ประเทศแถบละตินอเมริกา ได้แก่ อาร์เจนตินา, บราซิล, ชิลี, โคลัมเบีย, เม็กซิโก, เปรู และเวนาซูเอลา
- ประเทศแถบยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลาง ได้แก่ สาธารณรัฐเชก, ฮังการี, โปแลนด์, รัสเซีย, อิสราเอล, จอร์แดน, โมร็อคโค, อียิปต์, แอฟริกาใต้ และตุรกี
การเปรียบเทียบในระดับทั้งโลก โดยประเทศไทยครองแชมป์ความน่าลงทุน เป็นสิ่งที่คนไทยภาคภูมิใจได้ มาดูกันว่าบลูมเบิร์กว่าอย่างไรบ้าง:
การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะดีเกินคาดในปี 2564
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองต่างประเทศอย่างมากมายมหาศาล ณ.วันที่ 11 ธ.ค.2563 จำนวน 8,529,491.63 ล้านบาท(กว่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) อีกทั้งยังมีกระแสเงินหมุนเวียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยขึ้นแท่นตลาดเกิดใหม่เป็นอันดับ1 ในปี 2564
โดยไทยได้รับการคาดการณ์ GDP ปีหน้า จะขยายตัว 3.9% ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP จะเกินดุล 3.1% และดุลงบประมาณต่อ GDP จะขาดดุล 4.9% อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาไม่มีประเทศไหนเกินดุล ขณะที่หนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ 41% และยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐบาล
บลูมเบิร์ก รายงานผลการสำรวจและการวิเคราะห์ข้อมูล ด้านเศรษฐกิจและการเงิน ในช่วงที่ทั่วประสบปัญหาโรคระบาด พบว่าประเทศไทยและประเทศรัสเซีย เป็น 2 ประเทศที่จะเติบโตกลายเป็นตลาดเกิดใหม่ที่น่าลงทุนที่สุดในปี 2564
นักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนไทยพุ่ง
สำนัก Bloomberg ยังระบุอีกด้วยว่า ในยุคที่ทั่วโลกยังคงประสบปัญหาโรคระบาด กลุ่มประเทศกำลังพัฒนากลับสามารถต้านทานวิกฤตเศรษฐกิจ และ เอาชนะการแพร่ระบาดโรคโควิดได้อย่างไม่น่าเชื่อ นั่นหมายถึงประเทศไทยที่ได้ กลายเป็นตลาดที่กำลังจะเกิดใหม่ในปี 2564 ซึ่งจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนชาวต่างชาติ แม้ว่าความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ จะยังคงมีอยู่ก็ตาม
โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ มาจาก 1.นโยบายบริหารการเงินที่มีประสิทธิภาพ 2.นโยบายช่วยเหลือเยียวยาด้านรายรับรายจ่ายของประชาชน และ 3.นโยบายของธนาคารกลางที่พยายามคงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ ในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด
สอดคล้องกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO) ได้เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนพฤศจิกายน 2563 อยู่ในโซนร้อนแรง เพิ่มขึ้นกว่า 163.44% สูงสุดในรอบสองปี
อันดับ 2 ตามมาด้วยรัสเซีย ที่แม้จะมีสัดส่วนหนี้ต่ำมาก แต่อัตราการเติบโตของ GDP นั้นแย่กว่าไทยเล็กน้อยแม้ว่าค่าเงินรูเบิลจะค่อนข้างต่ำ ส่งผลดีต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้ามาโดยตลอด ก็ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของรัสเซียอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก บวกกับการเก็บภาษีและนโยบายการคลังที่แข็งแกร่ง จึงทำให้ประเทศรัสเซียเป็นตลาดที่จะเกิดใหม่อันดับ 2 ในปี 2564 ส่วนอันดับ 3 ร่วมคือเกาหลีใต้และไต้หวัน ส่วนอันดับรองสุดท้ายบราซิล ที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงที่สุด (89%) และอันดับสุดท้ายคือจีน โดยให้เหตุผลว่าเพราะได้รับการคาดหวังที่สูงมากอยู่แล้ว
จับตาปัจจัยเสี่ยงหลังโควิด-19
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เตือนว่า สถานการณ์ทั่วโลกยังคงมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ ประเทศใดที่มีระบบโครงสร้างขั้นพื้นฐานไม่แข็งแรงพอ ประเทศนั้นอาจมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงได้ สำหรับประเทศไทยปัจจัยเสี่ยงด้านโควิด-19 ยังมี เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ทำให้มีการเดินทางมากขึ้น แม้การเปิดประเทศจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีการควบคุมอย่างดีในด้านขนส่งทางอากาศ แต่ทางบกก็ยังมีความเสี่ยงในพื้นที่ติดต่อประเทศเพื่อนบ้านผ่านด่านชายแดน ปัจจุบันมีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากความบกพร่องหละหลวมเจ้าหน้าที่บางส่วน และความประมาทของประชาชนบางกลุ่ม
แต่ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของไทยที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจคือ สถานการณ์การเมืองร้อนแรง การก่อม็อบประท้วงบ้าคลั่งชังชาติที่ยังไม่มีแนวโน้มหยุดลง เพียงเปลี่ยนรูปแบบให้หลากหลายก่อกวนบ้านเมืองไม่จบสิ้น
ความกังวลอีกเรื่องคือการฟื้นตัวหลังโควิด-19 ที่หลายประเทศอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลังในด้านการกระจายวัคซีน และหลายประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หรือที่ก่อนหน้านี้เรียกว่าตลาดกำลังพัฒนา ก็ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงโควิด-19 ระบาดอยู่แล้ว
สำหรับประเทศไทยถ้าควบคุมและบริหารจัดการ การระบาดโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพไม่ให้ขยายวง ประชาชนไทยไม่ประมาท และร่วมแรงร่วมใจกันกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการของรัฐ ทั้งคนละครึ่ง, เที่ยวด้วยกัน เราจะฝ่าฟันไปได้อย่างแน่นอน