แพทย์ศิริราชเผย “โควิด” ในพม่าเป็นสายพันธุ์จี แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์จากอู่ฮั่น ใช้เวลาเพียง 3 เดือนยอดติดเชื้อทะลุ 1 แสน

2645

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล แถลงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และการผลิตวัคซีนป้องกันว่า

จากการถอดบทเรียนการระบาดของเมียนมาที่พบการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจากครั้งแรกที่เจอผู้ป่วยโควิดในเมียนมา วันที่ 23 มี.ค. มาถึง 6 ธ.ค.2563 จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 200 เท่า และแพร่กระจายไปพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว เพราะการตามสอบสวนโรคประชาชนที่เดินทางจากพื้นที่ระบาดทำได้น้อยกว่า 50% อีกทั้งสายพันธุ์ที่แพร่ในเมียนมาตอนนี้เป็นสายพันธุ์ G614 ตัวเดียวกับที่พบแพร่ระบาดในประเทศแถบตะวันตกและทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเชื้อสามารถเพิ่มจำนวนได้เร็วกว่า 20% ทำให้แพร่ได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิมที่มาจากอู่ฮั่น D614

การที่มีคนไทยลักลอบกลับจากประเทศเมียนมาเข้ามาประเทศไทย และปกปิดข้อมูลจึงเป็นอันตรายกับตัวเอง คนในครอบครัว สังคม บุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแล ซึ่งสถานการณ์ไทยวันนี้ทำให้เห็นว่า จุดอ่อนแม้แต่จุดเดียว อาจส่งผลมหาศาลต่อประเทศและส่งผลกระทบเชิงลบให้กับสังคม จึงขอความร่วมมือคนไทยยกการ์ดขึ้นสูง ใช้วัคซีนที่เรามี คือ การปฏิบัติตามคำแนะนำ สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด ให้ความร่วมมือลงทะเบียนเข้า-ออกเมื่อใช้สถานที่ ช่วยกันแนะนำคนรู้จักให้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง เพื่อให้ป้องกันโควิดได้ทันทีโดยไม่ต้องรอวัคซีนที่ยังต้องใช้เวลาอีกนานไม่ต่ำกว่าครึ่งปีกว่าจะได้ใช้

ขณะนี้ มี 3 ปัจจัยที่น่าห่วงขณะนี้ คือ 1.อากาศเย็นที่ทำให้คนอยู่ในอาคารซึ่งเป็นพื้นที่ปิดและไม่สวมหน้ากากมากขึ้น

2.ชายแดนที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น ทั้งเมียนมา มาเลเซีย โดยเฉพาะคนที่ลักลอบเข้ามาเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการระบาดได้ และ 3.การชุมนุมต่าง ๆ แต่อยากให้เข้าใจและย้ำเตือน เพราะไม่มีใครชนะหากเกิดการระบาดขึ้น จึงอยากขอให้หลีกเลี่ยง ในส่วนของโรงพยาบาลขณะนี้ทุกแห่งได้เตรียมการรับมือแล้ว แต่ก็หวังจะไม่เกิดการระบาดรุนแรง ส่วนความคืบหน้าการผลิตวัคซีน ล่าสุดบริษัทต่าง ๆ ที่ผลิตใน 2 ลอตแรกถูกจองหมดแล้ว สำหรับประเทศไทยที่มีข้อตกลงกับแอสตร้าเซเนกา

หากไทยได้รับข้อมูลองค์ความรู้มาเมื่อไหร่ ก็จะต้องผ่านกระบวนการผลิตอีก 4 เดือน และต้องผ่านการตรวจสอบจาก อย.อีก 3 รอบ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน คาดว่าจะได้ฉีดครั้งแรกหลังเดือน พ.ค. 2564

ขณะที่ทางด้านรศ. นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ให้ความเห็นถึงประเด็นนี้ไว้ว่า สถานการณ์ในเมียนมาร์ เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 1,308 คน ตายเพิ่มอีก 19 คน ตอนนี้ยอดรวม 101,739 คน ตายไป 2,151 คน อัตราตายตอนนี้ 2.1%

ธรรมชาติของโรคระบาดนั้น ระยะแรกคือการมีคนติดเชื้อจากนอกพื้นที่เข้ามาในพื้นที่ จากนั้นระยะที่ 2 คือการที่คนที่ติดเชื้อจากนอกพื้นที่นั้นมาแพร่เชื้อในคนในพื้นที่ ต่อมาที่เรากังวลกันมากคือ ระยะที่ 3 แปลว่าคนในพื้นที่แพร่ให้แก่คนในพื้นที่ด้วยกันเอง

ปกติแล้วโรคจะระบาดขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อคนติดเชื้อสามารถแพร่ไปให้คนอื่นได้มากกว่า 1 คนขึ้นไป ระหว่างช่วงเวลาที่เค้าเป็นโรคและอยู่ในระยะที่แพร่เชื้อได้
COVID-19 นั้นมันน่ากลัว เพราะ

หนึ่ง ตัวเชื้อไวรัสมันกลายพันธุ์จากเชื้อดั้งเดิมของจีนมาเป็นสายพันธุ์ G ซึ่งจะมีการแบ่งตัวเร็วขึ้นในร่างกายคนที่ติดเชื้อ และทำให้ปริมาณไวรัสมากขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิม แถมทำให้ในน้ำลาย น้ำมูก มีไวรัสจำนวนมาก ง่ายต่อการแพร่ให้คนอื่น ทั้งผ่านการพูดคุย ไอ จาม ฯลฯ

สอง เวลาติดเชื้อไวรัสนี้มา กว่าจะเกิดอาการให้เห็นก็มักใช้เวลาถึง 5 วันโดยเฉลี่ย (บางคนอาจใช้เวลาต่างกันไปตั้งแต่ 2-14 วัน) ที่โหดก็คือ คนที่ติดเชื้อสามารถแพร่ให้คนอื่นได้ ตั้งแต่ช่วงก่อนที่จะเกิดอาการ 2.3 วัน เรียกได้ว่าเป็นเพชรฆาตแบบเงียบๆ…คนแพร่ก็แพร่ให้คนอื่นโดยไม่รู้ตัว และคนรับเชื้อก็รับมาโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน

สาม ตอนนี้มีอาวุธป้องกันคือ วัคซีนหลายชนิดที่กำลังทยอยออกมา ดังที่เราได้ทราบกันแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มี และคาดว่ากว่าจะได้ก็กลางปีหน้าเป็นอย่างเร็ว

สี่ อาวุธที่ใช้รักษาคือยานั้น ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า นอกจากยาสเตียรอยด์ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยหนักแล้ว ยาที่จัดการกับไวรัสตรงๆ มีเพียง Remdesivir ที่ขึ้นทะเบียนโดย US FDA อยู่ตัวเดียว ราคาแพง และไทยก็มีปริมาณจำกัดมาก ยาอื่นๆ ที่มีการเคลมว่าตุนไว้จำนวนมาก เช่น Favipiravir นั้นยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าจะมีประสิทธิภาพในการรักษา ในขณะที่ Hydroxychloroquine ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล

หากติดตามมาตลอดจะพบว่า เมียนมาร์มียอดติดเชื้อแค่ 919 คน ณ 1 กันยายน แต่พอระบาดแล้ว ใช้เวลาเพียงสามเดือนก็เพิ่มขึ้นถึงกว่า 100 เท่า
นี่คือความน่ากลัวของไวรัสโรค COVID-19 ที่องค์การอนามัยโลกถือว่าเป็นโรคระบาดที่โหดสุดในรอบ 102 ปี


ขอบคุณเฟซบุ๊ก : Thira Woratanarat