เกษตรกรอินเดียเดินหน้าประท้วงรัฐบาลนายกฯนเรนทรา โมดี?!? ต้านฟาร์มบิลล์เอื้อนายทุนยักษ์ในประเทศ-ตปท.

1884

การประท้วงที่อินเดียมีแนวโน้มยืดเยื้อ บานปลาย กลุ่มเกษตกรและแรงงานหลายหมื่นคน ชุมนุมประท้วงรัฐบาลนายโมดีเป็นเวลา 10 วันอย่างไม่กลัวตายเพราะโควิด-19  คัดค้านกม.ปฏิรูปการเกษตร (ฟาร์มบิลล์) เจรจาแล้ว 5 รอบยังไม่ได้ข้อสรุป  ขณะที่อินเดียติดเชื้อโควิดสูงอันดับ 2 ของโลก 9.67 ล้านราย เสียชีวิต 1.6 แสนราย มีกลุ่มชาวอินเดียที่โตรอนโตและลอนดอน เคลื่อนไหวสนับสนุนการคว่ำกฎหมายใหม่ฉบับนี้ มีอะไรเกี่ยวข้องกับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) จากอุตฯเกษตรยักษ์อเมริกัน เช่น มอนซานโต, วอลมาร์ท ฯลฯหรือไม่  ไทยจับตาดูการตัดสินใจของภาครัฐอินเดีย  กระทบประชาชนรากหญ้าจริง หรือแค่ถูกยุยงปลุกปั่น ไม่แน่ว่าเราอาจต้องเผชิญกับปัญหาใกล้เคียงเพราะ สิ่งที่มหาอำนาจตะวันตกต้องการไม่น้อย คือแหล่งพืชพันธุ์ธัญญาหารและยาที่อุดมสมบูรณ์ ท่ามกลางการระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่รู้วันสิ้นสุด

ทางแพร่งของอินเดียมหาอำนาจใหม่-ตะวันตกหรือตะวันออก?

โลกไม่เหมือนเดิมแล้ว เมื่อโควิด-19 ยาตราทัพมาถึง ความยากลำบากทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ประชาชนอินเดียยุคนี้ มีแนวโน้มพร้อมรับแนวคิดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยจากตะวันตกง่ายขึ้น และในปัจจุบันนี้ อินเดียได้คว่ำบาตรบริษัทเทคโนโลยีสื่อสารสายจีนทั้งหมด และเปิดรับเทคโนโลยีสื่อสารจากสหรัฐเต็มที่ จับตาการรับมือปัญหาภายในประเทศ ท่ามกลางจุดยืนต่างประเทศต้านจีน ในนามพันธมิตรกลุ่มควอดของอินเดีย

ศักยภาพด้านเศรษฐกิจของอินเดียที่เพิ่มมากขึ้นภายหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจ เน้นพัฒนาอุตสาหกรรม ใน ค.ศ. 1991 ทำให้นานาประเทศเริ่มให้ความสนใจอินเดียในฐานะ ประเทศที่มีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ (An Emerging Power) ในศตวรรษที่ 21

แต่ล่าสุดนี้ อินเดียติดเชื้อโควิด-19 เป็นอันดับ 2 ของโลก (7 ธ.ค.2563)คือ 9,676,801 ราย เสียชีวิต 160,590 ราย

กฎหมายเอื้อนายทุนหรือเกษตรกร?

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ระบุว่ากฎหมายฉบับใหม่เป็น “กฎหมายฉบับประวัติศาสตร์” ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวนา เพิ่มศักยภาพในการผลิต และทำให้ชาวนาเป็นอิสระจากพ่อค้าคนกลาง ผู้สนับสนุนกฎหมายฉบับดังกล่าวยังเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน และทำให้ภาคการเกษตรของอินเดียทันสมัยขึ้น

ชาวนาอินเดียกลับกังวลว่า การไม่มีภาครัฐควบคุมกลไกตลาดอาจทำให้พวกเขาไม่มีอำนาจต่อรองกับบริษัทใหญ่ ทำให้พวกเขาอาจต้องขายผลิตผลแก่บริษัทใหญ่ด้วยราคาที่ต่ำลง และทำให้รายได้ของชาวนาในชนบทลดน้อยลงไปอีก สวนทางกับความต้องการให้ราคาผลิตผลสูงขึ้น

ทั้งนี้ ประชากรอินเดียเกือบครึ่งดำรงชีวิตอยู่กับภาคการเกษตร อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรกลับมีมูลค่าเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีอินเดีย อีกทั้งชาวนาส่วนใหญ่มีที่ดินขนาดเล็ก มีรายได้ต่ำและมักมีหนี้

เดวินเดอร์ ชาร์มา นักวิเคราะห์นโยบายอาหารและการเกษตร ระบุว่า การชุมนุมขนาดใหญ่แสดงให้เห็นว่า ชาวนาไม่เห็นด้วยกับแผนของรัฐบาลและ ทางการไม่ปรึกษากับชาวนาก่อนผ่านกฎหมายฉบับนี้ ทำให้ชาวนาเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นผลเสียต่อพวกเขา แม้ว่าวงการอุตสาหกรรมและภาคการตลาดจะมีท่าทีเปิดรับกฎหมายฉบับนี้ก็ตาม

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2563 สนข.วีโอเอ และซีเอ็นบีซีรายงาน ว่าชาวอินเดียในแคนาดาและลอนดอนชุมนุมประท้วงรสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรในอินเดีย ทั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุมชาวอินเดียจำนวนหลายร้อยคนในแคนาดารวมตัวบริเวณหน้าสถานกงสุลอินเดียประจำโตรอนโต และสอท.อินเดียประจำลอนดอน เพื่อแสดงการสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรในอินเดียที่ต้องการให้รัฐบาลอินเดียยุติการผลักดันกฎหมายปฏิรูปด้านการเกษตร โดยไม่มีรายงานการก่อเหตุรุนแรงหรือการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับ จนท. แต่การรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้ใช้ยานพาหนะเพื่อใช้ในการชุมนุมส่งผลกระทบต่อการจราจร

วันที่ 6 ธ.ค.2563 สนข.ซินหัว รายงานว่า การเจรจารอบล่าสุดระหว่างเกษตรกรผู้เข้าร่วมประท้วงและรัฐบาลกลางของอินเดียสิ้นสุดลงโดยยังไม่ได้ข้อยุติในวันเสาร์ (5 ธ.ค.) โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะดำเนินการเจรจารอบต่อไปในวันที่ 9 ธ.ค. นี้

การเจรจารอบที่ 5 ระหว่างเกษตรกรและรัฐบาลอินเดียจัดขึ้นในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศ ท่ามกลางการประท้วงของกลุ่มเกษตรกรเกี่ยวกับกฎหมายการเกษตรฉบับใหม่ ซึ่งกินเวลานาน 10 วัน โดยมีตัวแทนเกษตรกร 40 คนจากรัฐปัญจาบ หรยาณา อุตตรประเทศ มัธยประเทศ และโอดิชา เข้าร่วมการเจรจาเกือบ 5 ชั่วโมงกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลถอดถอนกฎหมายการเกษตรใหม่ 3 ฉบับที่บังคับใช้เมื่อไม่นานมานี้ โดยอ้างว่ากฎหมายเหล่านี้ทำลายผลประโยชน์ของพวกเขา

ด้านนเรนทรา ซิงห์ โทมาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และไพยุช โกยาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาหารและกิจการผู้บริโภค เป็นตัวแทนฝั่งรัฐบาลกลางอินเดียเข้าร่วมการเจรจากับเกษตรกรในรอบนี้ โดยก่อนเริ่มการเจรจา ทั้งสองได้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงกับนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย และคณะรัฐมนตรีอาวุโสอื่นๆ รวมถึงราจนาธ ซิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาของเกษตรกร

สื่อท้องถิ่นรายงานว่าฝ่ายรัฐบาลได้เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายการเกษตรฉบับใหม่ระหว่างการเจรจาเมื่อวันเสาร์ (5 ธ.ค.) แต่ได้รับการปฏิเสธโดยกลุ่มเกษตรกรที่เรียกร้องให้ถอดถอนกฎหมายฉบับใหม่ทั้งหมดก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์ (4 ธ.ค.) กลุ่มเกษตรกรขู่ว่าจะออกมาชุมนุมประท้วงทั่วประเทศในวันที่ 8 ธ.ค. นี้ หากรัฐบาลไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องอย่างไรก็ดี ในช่วงท้ายของการเจรจาเมื่อวันเสาร์ (5 ธ.ค.) ตัวแทนของเกษตรกรระบุว่าพวกเขายังคงยืนหยัดที่จะชุมนุมประท้วงทั่วประเทศในวันอังคาร (8 ธ.ค.) เพื่อเป็นเครื่องหมายของการเดินหน้าประท้วงอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ เกษตรกรชาวอินเดียหลายพันคนได้ออกมาปักหลักชุมนุมที่พรมแดนระหว่างรัฐที่ตั้งอยู่โดยรอบกรุงนิวเดลี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเดลีพยายามเข้ามาควบคุมสถานการณ์ดังกล่าว

กฎหมายฉบับใหม่ด้านการปฏิรูปการเกษตร บังคับใช้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งอนุญาตให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้ทุกแห่ง ไม่จำกัดเฉพาะตลาดค้าส่งของรัฐบาลที่กำหนดราคารับประกันขั้นต่ำไว้ โดยกลุ่มผู้ประท้วง เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรรายย่อยเสียเปรียบเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่และไม่ได้รับการสนับสนุนราคาผลผลิตการเกษตรจากรัฐบาล ด้านนายกรัฐมนตรีนเรนทราโมดี ของอินเดีย ยืนยันว่า กฎหมายการเกษตรฉบับใหม่  จะช่วยปฏิรูปการเกษตรของประเทศและช่วยสร้างโอกาสให้กับเกษตกร