ถุงมือยางโลกบูม!?! หมอบุญ วนาสินทุ่ม 3.5 หมื่นล้าน สนองดีมานด์ 4,000 ล.กล่อง คาดยึดตลาด 12%ปี’64

4647

โอกาสในวิกฤตโควิด-19 ทำดีมานด์ถุงมือยางนิวไฮในรอบ 100 ปี ส่งผลเอกชนได้รับออร์เดอร์ล่วงหน้าถุงมือธรรมชาติ-ไนไตรต์ถึงปี 65 บริษัท ไทยเมดิคอล โกล์ฟ จำกัดในเครือ THG ของนายแพทย์บุญ วนาสิน ควักงบฯ ลงทุน 3.5 หมื่นล้าน ขยายกำลังผลิต 4 โรงงาน รับแรงงานเพิ่ม 2,500 คน ดันส่วนแบ่งตลาด 12% ภายในสิ้นปี 2564 ด้านนักลงทุนข้ามชาติ “ยุโรป-จีน-ตะวันออกกลาง” ปักหมุดลงทุน ซื้อที่ดินใน EEC ตั้งโรงงานยางกันคึกคัก

หมอบุญฯทุ่มทุนรับตลาดถุงมือยางโลก

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) (THG) ผู้บริหารโรงพยาบาลและธุรกิจดูแลสุขภาพ ได้จัดตั้งบริษัท ไทยเมดิคอล โกล์ฟ จำดัด (Thai Medical Glove) เพื่อผลิตและส่งออกถุงมือยางรองรับความต้องการตลาดโลก ซี่งปัจจุบัน 4,000 ล้านกล่องต่อปี แต่กำลังการผลิตในปัจจุบันทั่วโลกมีเพียง 1,800 ล้านกล่อง ทำให้มีช่องว่างทางการตลาดอีกมาก

บริษัทเปิดเผยว่าจะใช้งบประมาณลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาทในการดำเนินการแบ่งเป็น 2 เฟส

-เฟสแรกใช้งบลงทุนกว่า 2 หมื่นล้าน แบ่งเป็นโรงงาน 4 แห่ง 150 ไลน์การผลิต

-เฟสสองใช้งบลงทุน 1.5 หมื่นล้าน(กลางปี 2564) เพิ่มไลน์การผลิตอีก 150 ไลน์

นพ.บุญกล่าวว่า เป้าหมายรายได้สิ้นปี 2564 คาด 1.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทจะรุกทางการตลาดเป้าหมาย 12%  เพื่อทำให้ประเทศไทยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดถุงมือยางโลกเป็น 25-30%

ปัจจุบันคู่แข่งตลาดถุงมือยางโลกมีมาเลเซียเบอร์ 1 ส่วนแบ่งตลาด 65% ประเทศไทย 13% (บริษัทศรีตรัง โกลฟส์(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ครองส่วนแบ่งตลาด 9%)

บริษัทหน้าใหม่โดดร่วมวงผลิตทำราคายางสดใส

ผู้ประกอบการในวงการแพทย์ และวงการยางที่ยังไม่เคยผลิตถุงมือยาง โดดมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางคึกคัก เช่น -บริษัท เอ็น.วาย รับเบอร์ จำกัด อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ของกลุ่มน้ำตาลครบุรี ซึ่งปัจจุบันผลิตน้ำยางข้น เตรียมลงทุนตั้งโรงงานผลิตถุงมือยาง

-บริษัท คิวบี เมดิคอล จำกัด ทายาทธุรกิจแต้ล้งฮั้ว (TLH) ที่มีธุรกิจหลากหลายในภาคตะวันออก ประกาศตั้งโรงงานผลิตถุงมือยาง โดยใช้งบฯลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 73.5 ไร่ ในเขตประกอบการนิคมอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์น จังหวัดชลบุรี สามารถผลิตถุงมือไนไตรล์ได้ประมาณ 1,000 ล้านชิ้นต่อเดือน

-บริษัท เมืองเศรษฐกิจพอเพียง จำกัด และผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ภายใต้แบรนด์ SkyMed (สกายเมด) สร้างการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ได้แก่ หน้ากากอนามัย ถุงมืออนามัย และถุงมือด้านการแพทย์ 

ราคายางนิวไฮอีกแล้ว กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยการส่งออกถุงมือยางเดือนก.ย. ขยายตัวสูงถึง 154.9% ขณะที่การส่งออก 9เดือนปี2563 (ม.ค.-ก.ย.) ขยายตัว 61.4% เป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สงบ และตลาดหลายประเทศยังไม่มั่นใจซื้อถุงมือยางจากจีน ทำให้ไทยคงมีคำสั่งซื้อต่อเนื่องถึงปี 2564 นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ การยางแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนในการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ส่งผลให้จับคู่ธุรกิจได้ถึง69 คู่ อีกทั้ง เศรษฐกิจโลกเริ่มมีการฟื้นตัว

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) 

-การส่งออกสินค้ายางพารา ก.ย. มีปริมาณ 200,173 ตัน ติดลบ 8.2% เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YOY)มูลค่า 250 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 12.2% และส่งออก 9 เดือน ปริมาณ 1,895,328 ตัน มูลค่า 2,368 ล้านดอลลาร์ 

-ราคายางพารา ณ 22 ต.ค. 2563 ว่า ยางแผ่นรมควันชั้น 3 กิโลกรัม (กก.)ละ 64.97 บาท น้ำยางสด กก.ละ 61.00 บาท ส่วนราคาเฉลีย ต.ค. ยางแผ่านรบควันชั้น 3 กรุงเทพ กก.ละ 70.50 บาท สงขลา กก.ละ 70.23 บาท ขณะที่คาดการณ์ราคาเฉลี่ยพ.ย. กรุงเทพ กก.ละ 70.70 บาท สงขลา กก.ละ 70.45 บาท 

ส่วนราคาน้ำยางข้น 60%  ต.ค. ที่กรุงเทพ กก.ละ 47.10 บาท สงขลา กก.ละ 46.85 บาท และคาดการณ์ราคาเฉลี่ย ก.ย. กรุงเทพ กก.ละ 47.30 บาท สงขลา กก.ละ 47.05 บาท 

ทั่วโลกต้องการถุงมือยาง-รง.เร่งขยายกำลังการผลิต

-กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยการส่งออกถุงมือยางเดือนก.ย. ขยายตัวสูงถึง 154.9% ขณะที่การส่งออก 9เดือนปี2563 (ม.ค.-ก.ย.) ขยายตัว 61.4% เป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สงบ และตลาดหลายประเทศยังไม่มั่นใจซื้อถุงมือยางจากจีน ทำให้ไทยคงมีคำสั่งซื้อต่อเนื่องถึงปี 2564 

นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ การยางแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนในการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ส่งผลให้จับคู่ธุรกิจได้ถึง69 คู่ อีกทั้งเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว

-นายอำนวย ปะติเส ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย (สภยท.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของนักวิเคราะห์ทั่วโลก และองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ข้อมูลตรงกันถึงความต้องการถุงมือยางเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากเดิมอัตราการเติบโตทั่วโลกอยู่ที่ 8% ต่อปี พุ่งขึ้นไปสูงมาก และความต้องการจะไม่ลดลงเหมือนอดีต ที่เมื่อโรคระบาดซาร์ส และไข้หวัดนกจบลง ทำให้ผู้ผลิตถุงมือยางต้องเผชิญภาวะล้นตลาด เนื่องจากพัฒนาการของโรคระบาดโควิดรุนแรงและติดต่อกันง่าย ความสำคัญด้านสุขอนามัยถือเป็นเรื่องจำเป็น

-WHO บอกว่า ประเทศด้อยพัฒนาอัตราการใช้ถุงมือยาง 6 ชิ้นต่อคนต่อปี ขณะที่สหรัฐอเมริกา 150 ชิ้นต่อคนต่อปี ความต้องการใช้ถุงมือยางจึงเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก และสังคมโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย มีความจำเป็นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้โรงงานผลิตถุงมือยางในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งหมด 58 แห่ง หลายแห่งมีแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่ม ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการที่มีโรงงานเดิมอยู่แล้วขยายไลน์การผลิตเพิ่ม และผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่สนใจเข้ามาลงทุน

บริษัทต่างชาติ-บริษัทไทยปักหมุดEEC

ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) เปิดเผยถึงความต้องการน้ำยางสด เพื่อนำไปแปรรูปผลิตถุงมือยางและผลิตภัณฑ์ถุงมือยางยังอยู่ในระดับสูง และต่อเนื่องไปถึงปี 2568 โดยขณะนี้มีโรงงานผลิตถุงมือยางทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 100 แห่ง ได้ประสานงานมายังสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางฯ เพื่อตรวจสอบข้อมูลความต้องการน้ำยางสดในตลาด ซึ่งจะเป็นข้อมูลสะท้อนถึงตลาดถุงมือยางแท้จริง ก่อนจะลงทุนตั้งโรงงานขยายกำลังการผลิตเพื่อให้เป็นการลงทุนที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพ

ขณะที่ปัจจุบันก็มีหลายโรงงานได้ลงทุนสั่งซื้อเครื่องจักรจากประเทศจีน มาเลเซีย และเยอรมนี เพื่อขยายกำลังการผลิตถุงมือยางเพิ่มตั้งแต่ 20-100 เครื่อง ซึ่งเครื่องจักรมีกำลังการผลิตตั้งแต่ 1,200-8,000 ชิ้น/ชั่วโมง และมีเป้าหมายลงทุนเพิ่มเครื่องจักรประมาณ 400-500  เครื่องซึ่งเครื่องจักรของประเทศเยอรมนีและจีน ราคาเฉลี่ยเครื่องละประมาณ 70-80 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน มีนักลงทุนจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จีน และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น คูเวต มาหาซื้อที่ดินในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งในจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เพื่อตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางในประเทศไทย และที่มีรูปธรรมมากที่สุดตอนนี้คือ นักธุรกิจจีน ได้ลงทุนซื้อที่ดินประมาณ 200 ไร่ ที่ จ.ชลบุรี

โดยประเมินความต้องการถุงมือยางของโลก จากข้อมูลของกลุ่มการค้า โดยในปี 2563 ทั่วโลกมีความต้องการประมาณ 3,600 ล้านกล่อง (กล่องละ 100 ชิ้น) และในปี 2564 ประมาณ 4,200 ล้านกล่องราคาถุงมือยางเฉลี่ยประมาณ 150 บาท/กล่อง มูลค่าตลาดโลกสูงถึงประมาณ 630,000 ล้านบาท/ปี

ภาคใต้ไม่น้อยหน้า-สิงหเสนีกรุ๊ปลุยถุงมือยางธรรมชาติ

บริษัท สิงหเสนี กรุ๊ป จำกัด ร่วมทุนกับ บริษัท แอทยีนส์ โกบอล ลิงค์จำกัด ทำสัญญาเช่าที่ดิน 83 ไร่ เป็นเวลา 20 ปี ในพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตถุงมือยาง และศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์มาตรฐานถุงมือยาง มูลค่าลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท พร้อมแผนการจ้างแรงงานในพื้นที่ประมาณ 2,000 คน