ก่อนหมดอำนาจในฐานะผู้นำสหรัฐฯของปธน.ทรัมป์ เกิดการลอบสังหารผู้นำบิดานักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านช็อคโลก ครั้งนี้อิหร่านฟันธงว่าฝีมืออิสราเอล-มอสสาด เกี่ยวข้องกับการสังหารจากหลักฐานในที่เกิดเหตุ อิสราเอลแถไม่รู้ไม่เห็นแต่เตรียมกำลังพร้อมรบ ขณะปอมเปโอ รมว.ต่างประเทศมือขวาของทรัมป์เดินสายล็อบบี้ซาอุดิอาระเบียหยั่งเสียง สังเกตท่าทีชื่นมื่นของเขากับเนทันยาฮูแล้ว เสียวสันหลังปฏิบัติการยั่วยุอิหร่านของอิสราเอลจะส่งผลตามเป้าหมาย
ขณะทีสีจิ้นผิงและวลาดิเมียร์ ปูตินยังนิ่ง ความเป็นไปได้ของสงคราม ที่เดิมเป็นลักษณะจรยุทธ์-สงครามตัวแทน ครั้งนี้อ่อนไหวมีความเป็นไปได้ที่จะยกระดับขั้นสงครามเชิงพื้นที่ เพราะมีปัจจัยหนุนฝ่ายต้องการก่อสงคราม คืออิสราเอลและสหรัฐมากกว่าทุกครั้งที่ยั่วยุ ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังเหตุการณ์ในอดีตเช่น คาร์บอมป์ปีพ.ศ. 2555 จะหวนคืน ท่ามกลางการระบาดโควิด-19 ที่ยังอาละวาดในทุกแห่ง และการเมืองร้อนในประเทศของทุกฝ่าย
อิหร่านประกาศแค้นนี้ต้องชำระ
สนข.รอยเตอร์ รายงานอ้างคำกล่าวระดับสูงของอิหร่าน เมื่อ 30 พ.ย.63 ว่าฝ่ายตรงข้ามของอิหร่านและอิสราเอลอาจเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารนายโมฮ์เซน ฟาคริชซาเดห์ (Mohsen Fakhrizadeh) ผอ.สถาบันวิจัยและนวัตกรรมของ กห.อิหร่าน ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ในการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน เมื่อ 27 พ.ย.63 โดยสถานีโทรทัศน์ของอิหร่านรายงานว่าอาวุธที่ใช้ก่อเหตุครั้งนี้ผลิตในอิสราเอล
ขณะที่นาย Ali Shamkhani เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของอิหร่านกล่าวว่าการลอบสังหารครั้งนี้มีความซับซ้อนมากและใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สั่งการ รวมทั้งมีเบาะแสที่มั่นใจว่า “กลุ่ม Monafeghin” ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านสาธารณรัฐอิสลาม National Council of Resistance of Iran (NCRI) ที่ตั้งอยู่ในกรุงปารีส เกี่ยวข้องและอยู่เบื้องหลัง รวมถึงหน่วยข่าวกรองอิสราเอล (Mossad) ด้วย นอกจากนี้สัญลักษณ์และรายละเอียดของอาวุธที่ใช้ก่อเหตุดังกล่าวเป็นของกองทัพอิสราเอล อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการแสดงปฏิกิริยาใด ๆ จากอิสราเอล ด้านนาย Eli Cohen รมว.ข่าวกรองของอิสราเอล กล่าวว่าไม่ทราบเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุครั้งนี้
สื่อมวลชนอิหร่านพร้อมใจกันยุให้ถล่มบุคคลากรอิสราเอลตอบโต้ แต่ทางการอิหร่านชี้ว่าจะตอบแทนอย่างสาสมในเวลาที่เหมาะสม
ทรัมป์บ้าไปแล้วจริงๆ-นี่แหละอเมริกันของแท้ต้องซี้กับอิสราเอล
การประชุมประจำปีของกลุ่มประเทศ “G-77” หรือกลุ่มประเทศที่สืบต่อนโยบาย “ผู้ไม่ฝักฝ่ายใด” (Non-Aliment) เมื่อครั้งอดีต ที่ปัจจุบันได้ขยายจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 134 ประเทศ ณ ที่ประชุมสหประชาชาติในแถลงการณ์ของบรรดากลุ่มประเทศสมาชิก โดยมีจีน ซึ่งแม้ไม่ได้เป็นสมาชิกให้การรับรอง ได้ระบุเอาไว้ชัดเจนถึงความ “ไม่เห็นด้วย” ต่อการครอบครองยึดครองพื้นที่ประมาณ 1,200 ตารางกิโลเมตร ในอาณาบริเวณที่ราบสูงโกลันของซีเรีย โดยกองกำลังทหารอิสราเอลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 และพยายามหันมาเรียกร้องอีกครั้ง ให้อิสราเอลถอนตัวออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว แม้ว่ารัฐบาลอเมริกันของทรัมป์ฯ เพิ่งจะประกาศรับรองให้อาณาบริเวณดังกล่าว ตกเป็นของอิสราเอลไปเมื่อช่วงปี ค.ศ. 2019 โดยได้เปลี่ยนชื่อเสียง เรียงนาม ให้กลายเป็น “ที่ราบสูงทรัมป์”
ความสำเร็จของทรัมป์ในการทำให้ “สมาชิกสันนิบาติชาติอาหรับ” หลายประเทศเปลี่ยนใจหันมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตโดยปกติ อันเนื่องมาจากความริเริ่ม ทรัมป์และลูกเขยชาวยิวที่สามารถนำประเทศบาห์เรน สหพันธรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และประเทศที่อยากถอดตัวเองออกจากบัญชีรายชื่อ “ประเทศก่อการร้าย”อย่างซูดาน ให้หันมาฟื้นสัมพันธภาพกับอิสราเอลได้ เหล่านี้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของทรัมป์ต่ออิสราเอล และอาจหมายถึงเงื่อนไขโดดเดี่ยวอิหร่านเพื่อการเปิดฉาก “สงครามกับอิหร่าน” ไม่ว่าทางใด ทางหนึ่งมีความเป็นไปได้สูง
สำหรับทรัมป์ เพื่อสยบอิหร่านหรือทุบก่อนโดนสอย (หนี้เลือดสังหารผู้นำอิหร่านมีบัญชีหางว่าว) สำหรับเนทันยาฮู เพื่อสร้างบรรยากาศชาตินิยม และทำตามสัญญาครั้งเลือกตั้งเป้าหมายรักษาบัลลังก์ผู้นำอิสราเอลอีกครั้ง แม้รัฐมนตรีกลาโหมรายใหม่ของสหรัฐที่แต่งตั้งโดยทรัมป์ นายคริสโตเฟอร์ มิลเลอร์ เป็นพวกต่อต้านสงคราม แต่ถ้าเพียงแค่สหรัฐยอมไฟเขียวให้กับอิสราเอลเท่านั้นเอง ความกระเหี้ยนกระหือรือในแบบ“ชิงโจมตีก่อน” หรือ Preemptive War, Preemptive Strike ที่เนทันยาฮู เคยประกาศต่ออิหร่านเอาไว้นั้น ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
บรรดาเซียนการเมืองเชื่อว่าอิหร่านอาจจะรบแบบ Unconventional warfare หรือสงครามนอกระบบ โดยเฉพาะการใช้ตัวแทนรบกับสหรัฐ (Proxy war) ด้วยการบ่อนทำลายผลประโยชน์ของสหรัฐเป็นจุดๆ ไป อย่างที่เรียกว่า สงครามจรยุทธ์ เพราะมีแสนยานุภาพด้อยกว่าสหรัฐแต่มี “บริวาร” ที่เป็นเครือข่ายติดอาวุธที่ทำงานครอบคลุมไปทั่วโลก เท่าเทียมกับสหรัฐ-อิสราเอล-สมุนบริวาร
อดีตเคยมี-ระวังสงครามตัวแทนที่จะใช้แผ่นดินไทยเป็นสมรภูมิ?
ฝ่ายความมั่นคงของไทย ต้องไม่ประมาท ต้องเน้นการเฝ้าระวังกลุ่มบุคคลต้องสงสัยในการเดินทางเข้า-ออกประเทศ จนกว่าสถานการณ์โดยรวมจะคลี่คลาย ยิ่งเราคิดจะเปิดประเทศ และคุณภาพเจ้าหน้าที่ของไทยก็ลูกผีลูกคน จึงได้เกิดกรณีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ข้ามไปข้ามมาตามแนวชายแดน โดยไม่ได้กักตัว มีแนวโน้มสปรีดเดอร์โควิด-19 อีกแล้ว ทำให้ความเป็นไปได้ของแนวรบสงครามจรยุทธ์-สงครามตัวแทน ก็ไม่อาจมองข้าม เพราะคู่ขัดแย้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลในแผ่นดินไทยนี้
เตือนไว้เพราะไทยกำลังเผชิญสงครามแนวคิดที่นำเข้าโดยมหาอำนาจสหรัฐและบริวารเข้มข้นดุเดือด สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ยังอ่อนไหวสุ่มเสี่ยง อย่าให้ต้องเจอสงครามย่อยของคนอื่นในบ้านเราอีกเลยไม่ใช่ให้ระวังแค่อิหร่าน แต่ทั้งสหรัฐและอิสราเอลก็ไม่อาจมองข้ามได้เสมอกัน