ราเมศ ยก 6 ข้อ ซัดกลับ ปริญญา ทำสังคมสับสนปม ม. 112 ชี้ประเทศต้องบังคับใช้กฎหมาย

2663

จากที่นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ค Prinya Thaewanarumitkul แม้จะมีผู้ปราศรัยที่ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม หรือถึงกับหยาบคาย แต่รัฐบาลไม่ควรใช้ มาตรา 112

ทั้งนี้ รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นถึงการใช้มาตรา 112 ต่อผู้ชุมนุมม็อบคณะราษฏรที่กระทำความผิด ว่า ในการดำเนินคดี เพราะนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวว่า พระมหากษัตริย์ มีพระราชประสงค์ไม่ทรงให้ใช้มาตรา 112 ดังนั้นการที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะใช้มาตรา 112 อีก จะถูกตีความได้ว่า ท่านทรงเปลี่ยนพระราชประสงค์ และอาจจะทำให้เกิดปัญหาระหว่างประชาชนที่เรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ กับสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น

“นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ และแก้ปัญหา ไม่ใช่ทำให้เกิดปัญหาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มากขึ้นเช่นนี้ และดังนั้น ต้องใช้วิธีแก้ปัญหาแบบอื่น ไม่ใช่การใช้มาตรา 112” นายปริญญา

ต่อมา วันนี้ (27 พ.ย. 2563) นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฏีกา ได้ออกมาโพสต์ข้อความให้ความเห็นถึงกรณีนายปริญญาด้วยว่า นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เรียนจบนิติศาสตร์ เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ และเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดำเนินคดีแก่ผู้พูดจาไม่เหมาะสมหรือหยาบคายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 กลุ่มผู้ชุมนุมทำลายประตูรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสียหายแล้วร่วมกันบุกรุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362 และ 365 แต่คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยมีมติมิให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : อ.ชูชาติอบรมปริญญา จบกม.สอนกม.แต่ไม่ยึดกฏหมาย ทุ้งสังคมจะดำรงอยู่ได้อย่างไร

ขณะที่ทางด้าน นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกฎหมายพรรค กล่าวถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า ความเห็นของนายปริญญา อาจทำให้สังคมสับสนได้ว่า หากการบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 112 แล้วจะเกิดปัญหากับกลุ่มบุคคลที่ต้องการปฏิรูปสถาบัน ดังนั้น ตนจึงมีความจำเป็นต้องมีความเห็นแย้ง เพื่อให้เห็นถึงหลักการ

1. หลักการในเรื่องมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ที่มีใจความสำคัญว่าผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี สถานะกฎหมายมาตรานี้ ยังมีผลใช้บังคับ มีเจตนารมณ์ชัดเจนในเรื่องการป้องกันเพื่อไม่ให้มีผู้ที่มีเจตนา ใส่ความด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ต่อพระมหากษัตริย์ หรือดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย

2. ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นประจักษ์ชัดว่า การกระทำทั้งใช้วาจา โฆษณาวาดเขียน มีลักษณะเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ทั้งสิ้น เมื่อปรากฏความผิด แม้ว่าจะไม่มีใครแจ้งความ เจ้าหน้าที่ที่รู้เห็นการกระทำดังกล่าวไม่มีทางอื่นที่ที่จะต้องดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด

3. หากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ดำเนินการตามหน้าที่ ก็ต้องถือว่ามีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

4. บ้านเมืองจะสงบ ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หากทำผิดกฎหมายแต่คิดว่ากลุ่มที่ทำผิดมีคนจำนวนมาก หากดำเนินการตามกฎหมายคนเหล่านี้จะโกรธ จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายไม่สงบ หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ควรมีกฎหมาย ต้องยกเลิกกฎหมายทุกฉบับให้หมด แล้วก็ให้ทุกคนทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ

5. ตนคิดว่าคงไม่ต้องให้นักกฎหมายบอกว่าผิดไม่ผิด แต่ทุกคนดูออกว่า ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ มีความผิดหรือไม่ ไปไกลมากกว่าการใช้วาจาหยาบคายไม่เหมาะสมแล้ว

6. ที่บอกว่าอาจจะทำให้เกิดปัญหาระหว่างประชาชนที่เรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ กับสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นเมื่อบังคับใช้มาตรา 112 นั้น ผมคิดว่าการบังคับใช้กฎหมายแล้วทำให้เกิดปัญหา ก็ถือว่าผิดหลักการของรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมาย

“ทำไมไม่กลัวว่าปัญหาจะเกิดกับประชาชนที่อยู่ในเรือนจำที่เขาทำความผิดอื่นบ้าง เพราะที่เขาอยู่ในเรือนจำนั้นก็ล้วนเกิดมาจากการบังคับใช้กฎหมายทั้งสิ้น คนในสังคมอย่าไปคิดอะไรแบบฉาบฉวยตามกระแส เพราะไม่มีสิ่งไหนหนีหลักการความถูกต้องไปได้ อาจไม่สะใจใคร แต่นั่นคือสิ่งที่ยั่งยืน และสนันสนุนการบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้หลักนิติรัฐ”นายราเมศ กล่าว